โคก หนอง นา โมเดล 

กำนันสมัย ตำบลโนนป่าซาง

ประเภทแหล่งเรียนรู้  

    แหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง การเกษตรแบบผสมผสาน


ชื่อแหล่งเรียนรู้ที่อยู่ในชุมชน 

    แหล่งเรียนรู้ โคก หนอง นา โมเดล กำนันสมัย ตำบลโนนป่าซาง


ประวัติความเป็นมาของแหล่งเรียนรู้  

    ก่อนที่จะมาเป็นแหล่งเรียนรู้ โคก หนอง นา โมเดล กำนันสมัย ตำบลโนนป่าซางนั้น เดิมที นายสมัย บุษบก กำนันตำบลโนนป่าซาง เป็นเกษตรกร ที่เป็นที่รู้จักของคนในหมู่บ้าน ในด้านการทำการเกษตรในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปลูก พืชเศรษฐกิจหลากลหายชนิด การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งทำควบคู่กันมาเป็นเวลานาน 


    ซึ่งกำนันสมัยจะเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ เรื่องการทำเศรษฐกิจพอเพียงมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมอบรมโครงการต่างๆ การเดินทางไปศึกษา ดูงานในสถานที่แหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกพื้นที่ ที่มีความน่าสนใจในทิศทางเดียวกัน และนำมาปรับใช้กับพื้นที่ตนเอง ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง จนกระทั่งมีโครงการโคกหนองนาโดเดล ของภาครัฐเข้ามา ซึ่งพื้นที่ของกำนัน ตรงตามเกณฑ์ที่จะสามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้เข้ากับรูปแบบของโคกหนองนาโมเดลได้


    จากนั้น เมื่อได้รับการคัดเลือกโดย สำนักงานพัฒนาชุมชนระดับอำเภอ จึงให้กำนันสมัย สามารถพัฒนาต่อยอดจากพื้นที่เดิม ที่เป็นการทำเกษตรแบบผสมผสานอยู่แล้ว สามารถพัฒนาต่อยอดให้มีความสมบูรณ์ของพื้นที่มากยิ่งขึ้น มีระบบของการจัดการที่ดีขึ้น ผ่านคำแนะนำของทั้งผู้ที่มีความรู้ 


    และจากผู้ที่มาศึกษาดูงาน ที่พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเพิ่มความหลากหลาย และสามารถเปลี่ยนให้มีความสนใจที่น่าสนใจอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง มีการบูรณาการเกิดขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่กับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่นั้น ผู้ที่มีความสนใจที่จะเรียนรู้นอกพื้นที่ ก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พื้นที่นี้ สามารถต่อยอดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปได้

ฝรั่ง รสชาติหวานกรอบ 

ละมุดแสนหวาน

องค์ประกอบของ โคก หนอง นา มีอะไรบ้างนั้น มาทำความเข้าใจกันได้ดังนี้

        โคกหนองนาโมเดล คือ การพัฒนาจัดการพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งเป็นการผสมผสานของเกษตรทฤษฎีใหม่ร่วมกับภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทยที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งต้องบอกว่าชื่อเรียกนี้ เป็นการจัดการสภาพแวดล้อมที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ โดยมนุษย์นำสิ่งที่มีอยู่นั้นมาส่งเสริมทำให้เกิดความสำเร็จในการทำเกษตรกรรมโดยเร็ว และเป็นระบบมากขึ้น ทั้งนี้ แต่ละคำของชื่อเรียกยังหมายถึงแนวทางการทำเกษตรแบบอินทรีย์ และการสร้างชีวิตที่มีความยั่งยืนอย่างที่สุด


โคก หรือ “พื้นที่สูง”

        เป็นดินที่ถูกมนุษย์ขุดขึ้นมาจากการทำหนองน้ำ แล้วนำดินนั้นมาทำเป็นโคก บนโคกจะปลูกป่าโดยทำเป็นป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สามารถปลูกพืช ผัก ผักสวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ หรือเลี้ยงปลา โดยจะทำให้การเป็นอยู่ของเกษตรกรเป็นแบบพอกินพอใช้ หรือตามแนวทางขั้นพื้นฐานแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งปกติแล้วได้มีการจำแนกการปลูกพืชตามแนวความสูงออกเป็น 5  ระดับ ได้แก่

            1. ไม้หัวใต้ดิน อย่าง ขิง ข่า บุก มันมือเสือ กวาวเครือ ฯลฯ

            2. ไม้เรี่ยดิน อย่าง ไม้เลื้อยต่าง ๆ ไม่ว่าจะ รางจืด พริกไทย ฯลฯ

            3. ไม้เตี้ย ซึ่งเป็นไม้พุ่มเตี้ยที่ไม่ได้มีความสูงมากอยู่ใต้ไม้สูง และไม้กลางอย่าง มะเขือ พริก ติ้ว เหรียง ผักหวานบ้าน ฯลฯ

            4. ไม้กลาง โดยจะเป็นต้นไม้ที่ไม่ได้สูงมาก ส่วนใหญ่เป็นไม้ผลที่สามารถเก็บกินได้ อย่าง มังคุด มะม่วง กระท้อน ขนุน สะตอ ไผ่ ฯลฯ

            5. ไม้สูง จะเป็นไม้เรือนยอดสูงที่มีอายุยืนนาน อย่าง ยางนา ตะเคียน เต็ง รัง ฯลฯ

บ่อเลี้ยงปลา

เล้าไก่ไข่

        เมื่อถามถึงวิธีการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง อันที่จริงก็ไม่ได้ยุ่งยาก โดยเริ่มต้นจากการนำไม้ที่โตไวอย่าง แค มะรุม ไม้ผล สะเดา กล้วย อ้อย รวมถึงพืชผักที่มีอายุสั้นมาปลูก เพื่อเป็นแหล่งสร้างอาหารให้กับคนในครอบครัว

        หลังจากนั้น 1 – 2 ปี ก็เริ่มปลูกไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย เมื่อเติบโตจนมีร่มเงาให้พื้นที่ ก็ค่อยไปเริ่มปลูกบรรดาพืชสมุนไทย และในส่วนของพื้นที่ทำนาควรมีขนาดที่เหมาะสม สามารถปลูกข้าวได้ในปริมาณเพียงพอต่อการกินภายในครัวเรือน ไม่ต้องไปซื้อให้เสียเงิน ต่อด้วยการขุดบ่อน้ำ ร่องน้ำเล็ก เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของชั้นดิน เลี้ยงปลาไว้เป็นอาหาร เมื่อปลูกป่า 3 อย่าง ก็นำมาใช้ทำประโยชน์  4 อย่างได้ คือ ใช้ทำที่อยู่ ใช้เป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ใช้เป็นเครื่องมือหัตถกรรม ใช้เป็น ร่มเงา สร้างความเย็นสบายแก่ตัวบ้าน

หนอง หรือ “หนองน้ำหรือแหล่งน้ำ”

        หนองที่จะพูดถึงนี้ คือ การขุดหนองเอาไว้เพื่อกักเก็บน้ำที่มีความจำเป็นช่วงหน้าแล้ง ช่วงที่มีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม หรือเป็นหลุมที่เอาไว้รับน้ำที่จะมาท่วมขัง (หลุมขนมครก) โดยการขุดปกติแล้วจะเรียกว่าคลองไส้ไก่ หรือคลองที่ใช้ระบายน้ำซึ่งเป็นพื้นที่ตามภูมิปัญญาแบบชาวบ้าน

        การขุดจะมีลักษณะคดเคี้ยวออกไปตามพื้นที่ เพื่อเป็นการกระจายน้ำให้เต็ม ช่วยเพิ่ม ความชุ่มชื้น ลดพลังงานไม่ต้องไปรดน้ำต้นไม้ นอกจากนี้ ยังมีการทำเป็นฝายเอาไว้ทดน้ำ เพื่อให้สามารถเอาไปกักเก็บน้ำไว้ภายในพื้นที่นั้น ๆ ให้ได้มากที่สุด

        เมื่อพื้นที่ที่อยู่โดยรอบไม่ได้มีการกักเก็บน้ำ น้ำก็จะไหลหลากลงมาภายในหนองน้ำ รวมถึงคลองไส้ไก่ ช่วยให้สามารถใช้ฝายกักเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้งได้ ทั้งยังมีการพัฒนาพื้นที่    อย่างการขุดคลอง หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และระบายออกเมื่อน้ำไหลหลาก

นา

        สุดท้ายคือนา ถือเป็นพื้นที่ให้ปลูกข้าวอินทรีย์ตามแบบฉบับพื้นบ้าน ซึ่งจะมีการเริ่มต้นมากจากการพัฒนาฟื้นฟูที่ดิน อย่างการเลือกทำการเกษตรแบบอินทรีย์ยั่งยืน เพื่อคืนสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่เรียกว่าจุลินทรีย์กลับไปยังผืนดิน ช่วยควบคุมปริมาณน้ำที่มีอยู่ภายในนาให้สมบูรณ์ คุมหญ้าโตกำลังดี ปลอดสารเคมี ไม่เป็นอันตรายทั้งคนที่ปลูก รวมถึงคนที่กินด้วย นอกจากนี้ ยังมีการยกคันนา ให้มีความสูงและกว้าง เป็นการเปิดพื้นที่รับน้ำได้ ไม่เป็นภัยเมื่อมีน้ำไหลหลากมาท่วม สามารถปลูกพืชได้ตามคันนา

ประโยชน์ของโคกหนองนาโมเดล

ประโยชน์ของโคกหนองนาโมเดล คือ ช่วยให้เราประหยัดมากขึ้น เพราะสามารถปลูกพืชต่าง ๆ ไว้ในพื้นที่และสามารถใช้สอยได้ครอบคลุมทุกปัจจัย ช่วยลดความตึงเครียดด้านเศรษฐกิจ ลดความกังวลเรื่องรายรับในช่วงที่ติดขัดต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญยังไม่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม หรือความแห้งแล้งภายในพื้นที่

ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลต่าง ๆ ของโคกหนองนาโมเดล ที่น่าสนใจอย่างมาก ที่จะช่วยให้เกษตรกรทุกคนได้รับประโยชน์อย่างที่สุด ใครยังไม่เคยลองนำไปปฏิบัติ จะนำไปทำดูก็สามารถทำได้เลยทันที รับรองว่าผลลัพธ์มีค่าแบบที่ไม่เคยคิดมาก่อน

การดูแลผลผลิต

โรงเก็บปุ๋ยอินทรีย์

บ่อกุ้ง หอย ปู ปลา

ความสัมพันธ์ของชุมชนกับการส่งเสริมความยั่งยืนของแหล่งเรียนรู้ 

        ในปัจจุบันคนส่วนมาก ในทุกช่วงอายุ เริ่มให้ความสนใจด้านการเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะการทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยจากคนที่เริ่มจากศูนย์ ไม่มีความรู้พื้นฐานใดๆเลยเกี่ยวกับ การทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเป็นอย่างมากในการเรียนรู้ที่จะเริ่มต้นทำ 


        อันดับแรก ที่ควรทำการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจ ต้องทราบถึงความหมายก่อน ตามด้วยขั้นการลงมือทำที่ต้องมีการวางแผน หาข้อมูลทั้งภาคทฤษฎีจากข้อมูลตัวหนังสือ และภาคปฏิบัติจากผู้ที่มีความรู้เฉพาะทาง การลงพื้นที่จริง เพื่อจะได้มองเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น และค่อยนำมาคัดกรอง เพื่อให้ได้ข้อสรุป ที่สามารถนำมาปรับใช้ กับพื้นที่ของเราได้จริงๆ ซึ่งกว่าจะลงตัวก็คงต้องใช้เวลาทดลองไปเรื่อยๆ จนเกิดความชำนาญ และสามารถบูรณาการให้เกิดความหลากลาย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้รู้ ผู้ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ต่อยอดไปเรื่อยๆจนเป็นมืออาชีพ


        ต่อมา ก็จะสามารถเป็นผู้เผยแพร่ให้กับผู้อื่นที่คิดริเริ่ม จากรุ่นสู่รุ่น ไปจนเกิดการถ่ายทอดแบบไม่มีที่สิ้นสุด เพราะการทำการเกษตรเป็นพื้นฐานของปัจจัยสี่ ที่ทุกชีวิตบนโลกนี้ขาดไปไมได้เลย หากมีการปฏิบัติสืบต่อกันไปในลักษณะแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดเป็นความยั่งยืนของแหล่งเรียนรู้ โคก หนอง นา โมเดล ได้โดยปริยาย


        ดังนั้นในด้านความสัมพันธ์ของชุมชนกับการส่งเสริมความยั่งยืนของแหล่งเรียนรู้ โคก หนองนา โมเดล กำนันสมัย ตำบลโนนป่าซาง สามารถมองภาพได้ชัดเจนโดยผ่านการเรียนรู้และการทำความเข้าใจ หากไม่คิดจะเริ่มต้นเรียนรู้ก่อนที่จะลงมือทำ เราก็ไม่สามารถต่อยอดอะไรได้เลย


        ขอเชิญชวนผู้ที่มีความสนใจ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ ผลักดันการทำเกษตรแบบผสมผสาน แหล่งเรียนรู้ โคก หนอง นา โมเดล กำนันสมัย ตำบลโนนป่าซาง เป็นอีกหนึ่งที่เลือก

ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

โคก หนอง นา โมเดล 

กำนันสมัย ตำบลโนนป่าซาง

ยินดีต้อนรับทุกท่านนะครับ....

สถานที่ตั้งของผู้ประกอบอาชีพหรือของชุมชน

สถานที่ตั้ง บ้านสันติภาพ หมู่ 9 ตำบลโนนป่าซาง  

อำเภอผาขาว จังหวัดเลย

พิกัด 17.095927, 102.050953

สามารถดูเส้นทางผ่าน Google Map ที่ลิงค์ข้างล่างนี้   

https://goo.gl/maps/8Bszjky9Wbph2SKC7


ผู้ให้ข้อมูลและผู้เรียบเรียง หรือ ผู้เขียน

ข้อมูลเนื้อหา                 โดย นายสมัย  บุษบก

        เรียบเรียงเนื้อหา           โดย นางสาวนิภาวรรณ  สาลี

        ภาพถ่าย/ภาพประกอบ  โดย นางสาวนิภาวรรณ  สาลี