ภูมิปัญญา

ตำบลโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี

ภูมิปัญญา “ทฤษฏีแหล่งเรียนรู้แบบเศรษฐกิจพอเพียง จากมะเหมี่ยวฟาร์ม”

มะเหมี่ยวฟาร์มไส้เดือน ของนางสาวศิริพร สรณะ ขับเคลื่อนกระบวนการทำงานโดยใช้หลักแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักทฤษฎีของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยยึดแนวทาง “อยู่อย่างพอเพียง”

โดยนำพระราชดำริว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...” (๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗) มาปรับใช้กับตนเองและครอบครัว รวมถึงสมาชิกในกลุ่มเครือข่าย โดยสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจพื้นฐานก่อน นั่นคือเริ่มจากตนเองและครอบครัว ทำให้พอมีพอกินก่อนจากนั้นจึงตามด้วยชุมชน โดยใช้แนวทางการพัฒนาที่เน้นการกระจายรายได้ เพื่อสร้างพื้นฐานและความมั่นคง ก่อนเน้นการพัฒนาในระดับสูงขึ้นไป


“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทาง การดำเนินชีวิตแก่ชาวไทยมาโดยตลอดและได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความ เปลี่ยนแปลงต่างๆเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง ความพอเพียง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี


โดยนางสาวศิริพร สรณะ ได้กล่าวว่าตั้งแต่ตนและครอบครัวได้นำหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้นั้น ได้สร้างความมั่นคงให้กับตนเองและครอบครัวอย่างมาก เนื่องจากการรู้จักอยู่อย่างพอเพียง พอประมาณนั้นไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง มีเท่าไหร่ใช้เท่านั้น มีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย อยู่ให้ได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากและปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายในชุมชน รู้จักผลิตใช้เอง แสวงหาความรู้ใหม่ๆโดยไม่พึ่งปัจจัยภายนอก แต่ให้พึ่งปัจจัยจากภายใน สิ่งรอบตัว นำมาประยุกต์ใช้ นอกจากจะประหยัดแล้ว ยังเพิ่มพูนความรู้แก่ตนเอง ครอบครัวและชุมชนอีกด้วย อยู่ได้อย่างมีสุข ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ต้องแสวงหาภายนอก แต่ความสุขนั้นเริ่มได้จากตนเอง


ผู้เรียบเรียง นางสาวอมรรัตน์ บุญเพ็ง ครู กศน.ตำบล

ข้อมูลอ้างอิง นางสาวศิริพร สรณะ เจ้าของแหล่งเรียนรู้

ข้อมูลรูปภาพ facebook มะเหมี่ยวฟาร์มไส้เดือน https://www.facebook.com/Jkosalanan

แหล่งข้อมูลจาก เว็บไซต์ มูลนิธิชัยพัฒนา

https://www.chaipat.or.th/site_content/item/3579-2010-10-08-05-24-39.html