วัฒนธรรม ประเพณี

                               ประเพณี บุญข้าวประดับดิน


ประเพณี บุญข้าวประดับดิน

ฮีตเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน  ประเพณีเเห่งการเเสดงความกตัญญูของลูกหลานที่มีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ   การทำบุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีหนึ่งในฮีตสิบสอง นิยมทำกันในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนเก้า หรือที่เรียกว่า #บุญเดือนเก้า #บุญข้าวประดับดิน เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ เปรต (ชาวอีสานบางถิ่นเรียก เผต) หรือญาติมิตรที่ตายไปแล้ว ข้าวประดับดิน ได้แก่ ข้าวและอาหารคาวหวาน พร้อมหมากพลู บุหรี่ที่ห่อด้วยใบตอง กล้วย นำไปวางไว้ตามใต้ต้นไม้ แขวนไว้ตามกิ่งไม้ ตามบริเวณกำแพงวัดบ้าง หรือวางยายไว้ตามพื้นดิน เรียกว่า "ย่ายห่อข้าวน้อย" (ย่าย ภาษาอีสานหมายความว่า การวางเป็นระยะๆ) พร้อมกับเชิญวิญญาณของญาติมิตร นำภัตตาหารไปถวายแด่พระภิกษุ สามเณร แล้วอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย โดยหยาดน้ำ (กรวดน้ำ) ไปให้ด้วย

พอถึงวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ช่วงบ่ายๆ เย็นๆ ชาวบ้านจะเตรียมอาหาร มีทั้งคาวหวาน ได้แก่ เนื้อ ปลา เผือก มัน ข้าวต้ม ขนม น้ำอ้อย น้ำตาล ผลไม้ เป็นต้น และหมากพลู ยาสูบ (บุหรี่) เมี่ยงคำ ไว้ไห้พร้อม เพื่อจัดทำเลี้ยงกันเองในครอบครัวส่วนหนึ่ง สำหรับแจกจ่ายให้ญาติพี่น้องส่วนหนึ่ง สำหรับอุทิศให้ญาติที่ล่วงลับส่วนหนึ่ง และทำบุญถวายพระภิกษุสามเณรอีกส่วนหนึ่ง รวมเป็น ๔ ส่วน

สำหรับส่วนที่ ๓ ที่จะอุทิศให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้วนั้น จะห่อน้อยกว่าส่วนอื่นๆ มีวิธีการห่อคือ ใช้ใบตองห่อขนาดเท่าฝ่ามือ ยาวให้สุดซีกของใบตองที่ตัดมา อาหารคาวหวานนั้นจัดใส่ห่ออย่างละเล็กละน้อย อาทิ  ข้าวเหนียวนึ่ง ปั้นเล็กๆ เท่าหัวแม่มือ ๑ ก้อน  เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมู หรือ อาหารคาวที่สามารถหาได้ตามท้องถิ่น  อาหารหวาน เช่น กล้วย น้อยหน่า มะละกอสุก หรือขนมหวานอื่นๆ ตามที่มีหรือหาได้ อาจเป็นก้อนน้ำอ้อย น้ำตาลปึก  หมาก บุหรี่ และเมี่ยง อย่างละคำ  ห่อข้าว อาหาร คาวหวานด้วยใบตอง แล้วใช้ไม้กลัดหัวท้าย และตรงกลาง เราก็จะได้ห่อข้าวน้อยที่มีลักษณะยาวๆ ตามซีกของใบตอง ๑ ห่อ ส่วนอีกหนึ่งห่อ จะเป็นหมากพลู บุหรี่ และเมี่ยงคำ นำมาห่อในลักษณะเดียวกันจะได้ห่อหมากพลู หลังจากนั้นนำทั้งสองมามัดเป็นคู่ และไปรวมกันเป็นพวงอีกที โดยใน ๑ พวง จะใส่ห่อหมากห่อพลูจำนวน ๙ ห่อ แต่บางคนก็ใส่ใบตองที่เย็บเป็นกระทงก็มี หรือหากไม่แยกกัน อาจเอาอาหารทั้งคาวหวาน หมากพลู บุหรี่ ใส่ในห่อหรือกระทงเดียวกันก็ได้

พอเช้าวันรุ่งขึ้น คือวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ตอนเช้ามืด คือ เวลาประมาณ ๔ ถึง ๖ นาฬิกา ชาวบ้านก็นำอาหาร หมากพลู บุหรี่ที่ห่อและมัดเป็นพวงหรือใส่กระทงแล้ว ไปวางไว้ตามพื้นดิน วางแจกไว้ตามบริเวณโบสถ์ ต้นโพธิ์ ศาลา ตามกิ่งไม้หรือต้นไม้ใหญ่ๆ ในบริเวณวัด ชาวบ้านจะทำกันแบบเงียบๆ ไม่มีการตีกลอง ตีฆ้องแต่อย่างใด พร้อมกับจุดเทียนไว้ และบอกกล่าวแก่เปรตให้มารับเอาสิ่งของและผลบุญด้วย


        การสืบสาน การอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรมและประเพณี

       บุญข้าวประดับดิน  ประเพณีเเห่งการเเสดงความกตัญญูของลูกหลานที่มีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ  จะทำขึ้นทุกๆปี  ในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนเก้า  เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ เปรต (ชาวอีสานบางถิ่นเรียก เผต) หรือญาติมิตรที่ตายไปแล้ว ข้าวประดับดิน ได้แก่ ข้าวและอาหารคาวหวาน พร้อมหมากพลู บุหรี่ที่ห่อด้วยใบตอง กล้วย นำไปวางไว้ตามใต้ต้นไม้ แขวนไว้ตามกิ่งไม้ ตามบริเวณกำแพงวัดบ้าง หรือวางยายไว้ตามพื้นดิน เรียกว่า "ย่ายห่อข้าวน้อย" (ย่าย ภาษาอีสานหมายความว่า การวางเป็นระยะๆ) พร้อมกับเชิญวิญญาณของญาติมิตร นำภัตตาหารไปถวายแด่พระภิกษุ สามเณร แล้วอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย โดยหยาดน้ำ (กรวดน้ำ) ไปให้ด้วย


  ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย  นางสาวิตรี  วาที

                                  ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย  นางสาวิตรี  วาที