ละแวกะดาม

คำว่า “ละแวกะดาม” เป็นภาษาเขมรสุรินทร์ ซึ่งหมายถึง แกงคั่วปู หรือ หลนปูนา นั่นเอง

ซึ่งเป็นอาหารที่สุดยอดความอร่อย กินกับข้าวสวยร้อนๆจะอร่อยมาก แต่นับวันจะหากินได้ยากมากแล้ว และเชื่อว่าเด็กๆรุ่นหลังหลังบางคนอาจไม่รู้จักด้วยซ้ำไป หากย้อนกลับไปเมื่อสัก 15-20 ปีที่แล้ว สมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็กๆ ต้องพูดได้เลยว่า ละแวกะดาม หรือแกงคั่วปู นี้ เป็นอาหารเลิศรส ที่หากินได้เฉพาะหน้าแล้งระหว่างฤดูเกี่ยวข้าวจนถึงเดือนเมษายนเท่านั้น นั่นก็เพราะว่าปูนาในหน้าแล้งจะมีมันค่อนข้างมาก จำได้ว่าสมัยก่อนพอถึงฤดูเกี่ยวข้าว ผู้เขียนจะต้องตามพ่อแม่ไปเกี่ยวข้าว และนอนเฝ้าลานที่นา ตกตอนเย็นๆจะออกหาขุดปูนา มาทำกับข้าว ซึ่งเมนูที่ถือได้ว่าเลิศรส และเชื่อว่าเป็นที่จดจำของคนที่ทันยุคนั้น คงไม่พ้น ละแวกะดาม อย่างแน่นอน

ละแวกะดาม แกงคั่วปู หรือ หลนปูนา นิยมกินเป็นคล้ายๆน้ำพริก โดยสามารถ จิ้มกินกับผักได้หลากหลายชนิด แต่ที่เข้ากันดีที่สุดคงไม่พ้น ผักกะแยง ผักแว่น และสายบัว เพราะเป็นผักที่หาได้ง่ายตามท้องไร่ท้องนา เขียนมาถึงตอนนี้หลายคนคงอยากรู้สูตรในการทำ ละแวกะดาม แล้วใช่ไหมค่ะ

วิธีทำ

  • เริ่มจากหาปูนา ที่เป็นปูนาหน้าแล้ง และเอามาล้างน้ำ เอาดินออก

  • จากนั้น แกะปูเอาขาและก้ามออก เอาแต่ตัวปูโขลกให้ละเอียดแล้วคั้นกับน้ำ สัก ๓ รอบ เอาแต่น้ำ ใส่หม้อตั้งไฟ

  • โขลก พริก หอม กระเทียม กระชาย ข่า ตะไคร้ เกลือ กะปิ เข้าด้วยกันพแแหลก ไม่ต้องละเอียดมาก

  • พอน้ำปูเดือด ให้ใส่พริกแกงที่ได้โขลกเตรียมไว้ และผักต่าง ๆ ตามที่ชอบ หรือถ้าจะทำเป็นน้ำพริกไว้จิ้มกับผัก ก็ไม่ต้องใส่ผัก ก็ได้

  • พอน้ำปูเริ่มเดือดอีกรอบให้ใส่ข้าวคั่วป่นละเอียด และควรคนทันทีไม่ให้จับตัวเป็นก้อน

  • ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะขามเปียกให้ได้รสตามต้องการ และใส่ผักแขยง ยกลงได้

  • หากเพิ่มเนื้อหมู ไก่ ปลาช่อน หรือปลาดุก ลงไปพอประมาณ จะทำให้ลักษณะของแกงมีน้ำขลุกขลิกน่ากินยิ่งขึ้น

"ได้ยินมานานแล้ว ละแวกะดาม !!!

ชวนสงสัยเพราะเป็นคำพื้นเมืองของชาวสุรินทร์

พูดจากันเป็นภาษาท้องถิ่น "ละแวกะดาม"

พอจะแปลได้ว่า แกงคั่วปู

ถามใคร ใครก็บอกว่ารู้

แกงคั่วปู อร่อยจะตาย

อันตัวเรานั้นก็หวังคาดหมาย

ขอขวนขวายได้ลิ้มลอง

เข้าตลาดเดินเมียงมอง

แต่หายังไงก็หาไม่เจอ......"

ในเดือน ๑-๒ ปูนาจะมีมันมาก มันปูจะมีสีเหลืองเข้ม หอมมันรสชาติดี ชาวบ้านมักนิยมนำตัวปูมาโขลกคั้นกับน้ำ และนำน้ำเนื้อปูไปคั่วในหม้อ จะได้น้ำข้น ๆ แล้วนำสมุนไพรตำเครื่องทำพริกแกงใส่ปรุงลงไป ส่วนมันปูที่ติดอยู่กับกระดอง ก็แคะเอาส่วนมัน ใส่เพิ่มสีสรรค์ เพิ่มความหอมมัน และรสชาติ ส่วนผักก็หาผักที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น มะละกอ ถั่วฝักยาว เผือก มัน อีออม ฯลฯ ใส่ลงแกงพอน้ำขลุกขลิก ตักกินกับข้าวหอมมะลิร้อน ๆ อร่อยอย่าบอกใคร