การเพาะถั่วงอก

เพาะถั่วงอกกินเอง สด สะอาด ปลอดภัย

ผักชนิดหนึ่งที่ขายดี เป็นที่ต้องการของตลาดมากโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจก็คือ ถั่วงอก ด้วยความที่เป็นพืชที่ราคาไม่สูงมากนัก แต่อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากมาย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีสรรพคุณอันเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมาก แต่การไปซื้อถั่วงอกตามตลาดมากินก็มีความเสี่ยงสูงที่จะได้สารเคมีนานาชนิดเป็นของแถมมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นสารเร่งการงอกของถั่ว สารที่ทำให้ถั่วงอกอวบอ้วน กรอบ สารฟอกขาว หรือโซเดียมไฮโดรซัลไฟล์ ที่ทำให้ถั่วงอกมีสีขาวดูสะอาดถูกตาถูกใจ อีกทั้งยังอาจมีสารคงความสด หรือฟอร์มาลินด้วย เพราะหากปล่อยตามธรรมชาติแล้ว จะพบว่าถั่วงอกจะมีการเปลี่ยนสีค่อนข้างเร็ว

เพื่อความปลอดภัย จึงอยากจะเชิญชวนให้ลองหัดเพาะถั่วงอกกินกันเองดู อดใจรอเพียง 2-3 วันก็ได้กินแล้ว แถมอุปกรณ์และวิธีการก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร บางทีอาจจะเป็นเมนูเจที่ทั้งอิ่มท้อง อิ่มบุญ และอิ่มใจมากที่สุดเมนูหนึ่งเลยก็ได้นะคะ หากเริ่มสนใจแล้ว เราลองมาดูวิธีการทำกันเลยดีกว่าค่ะ


ถั่วงอก เป็นผักสดเคียงอาหารจานหลัก เช่น ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ผัดไท ฯลฯ ทานได้ทั้งดิบ และ สุก มีรสชาติออกหวานนิดๆ กรุบกรอบ ผลิตได้จากเมล็ดถั่วเขียว เพาะให้งอกเป็นต้นอ่อน ซึ่งสามารถเพาะได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเพาะในขวดโหล , เพาะในกล่องพลาสติก,เพาะในขวดน้ำดื่มพลาสติกหรือแม้แต่จะเพาะในไห ก็ทำได้เช่นกัน หากแต่การเพาะโดยธรรมชาติอาจไม่ทำให้ได้ต้นถั่วงอก ขาว-อวบ-กรอบ อย่างที่ตลาดนิยมกันในปัจจุบัน ซึ่งถั่วงอกที่มีลักษณะขาว-อวบ-กรอบแบบผิดธรรมชาตินั้น จริงๆ แล้วแฝงมาด้วยอันตรายจากสารเคมีตกค้าง ที่ใช้กันมากในกระบวนการเพาะถั่วงอกแทบทั้งสิ้น โดยสารตกค้างที่พบในถั่วงอก ขาว-อวบ-สวย ตามท้องตลาดทั่วไป ก็คือ 1.สารฟอกขาว หรือ โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์(Sodium Hydrosulfite) ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไป นิยมใช้ฟอกมุ้ง มีราคาถูก เมื่อนำมาใช้กับถั่วงอก จะทำให้ถั่วงอกขาวจั๊ว จนน่าเจี๊ย แบบดูดีผิดธรรมชาติ ไม่ออกเหลืองน้ำตาลคล้ำเหมือนถั่วงอกที่เพาะทานเอง 2. สารส้ม(Alum) คือ สารประกอบ ไฮเดรตโพแทสเซียมอะลูมีเนียมซัลเฟต ที่ทำให้ถั่วงอกกรอบและสดนาน แต่ถ้าร่างกายได้รับสารส้มมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ซึม และอาจมีผลทำให้ไตเสื่อมได้ 3.สารฟอร์มาลิน(Formalin)หรือสารละลายฟอร์มาลดีไฮด์(Formaldehyde) หรือ น้ำยาดองศพ ได้ถูกกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหัวใสนำมาใช้ในอาหารสดหลายชนิดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเน่าเสียง่าย และ ไม่เว้นแม้แต่ถั่วงอก หากร่างกายได้รับเข้าไปโดยตรง จะทำให้เกิดการปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน อุจจาระร่วง หมดสติและตายในที่สุด และ 4. ฮอร์โมนถั่วอ้วน ผลิตจากสารสังเคราะห์ประเภทไซโตไคนิน(หาซื้อได้ทั่วไป) มีผลทำให้ต้นถั่่วอวบอ้วนผิดปกติ หากร่างกายได้รับเข้าไปมากหรือสะสมเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดโรคมะเร็ง

ก่อนจะไปถึงอุปกรณ์และขั้นตอนการเพาะ มีหลักการพื้นฐานของการเพาะถั่วงอกที่ต้องเข้าใจ 6 ประการด้วยกัน เรียกว่าเมื่อทราบหลักพื้นฐาน 6 ข้อนี้แล้ว จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างไรก็สุดแท้แต่แต่ละคนจะสร้างสรรค์กันได้เลยทีเดียว เจ้าหลักที่ว่านั้นมีดังนี้

  1. เมล็ดถั่ว : โดยทั่วไปจะนิยมใช้ถั่วเขียว จะเลือกใช้แบบผิวมันที่เปลือกสีเขียว หรือแบบผิวดำก็ได้แต่ควรเลือกเมล็ดใหม่ สะอาด เพราะจะงอกดีกว่า สิ่งสำคัญคือต้องนำเมล็ดไปแช่ในน้ำอุ่นก่อนนานประมาณ 6-8 ชั่วโมง เพื่อฆ่าเชื้อโรค และช่วยกระตุ้นให้ถั่วงอกได้ดีขึ้น

  2. ภาชนะ : ควรเป็นภาชนะที่มีสีทึบ หรือมีฝาปิด และควรมีรูระบายน้ำทั้งด้านล่าง และด้านข้างที่สำคัญต้องเป็นภาชนะที่สะอาด

  3. น้ำ : น้ำที่ใช้รดจะต้องเป็นน้ำสะอาด และต้องได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ เพื่อให้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นการช่วยระบายความร้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการงอกด้วย หากรดน้ำมากไปจะทำให้ถั่วเน่า แต่หากรดน้ำน้อยไปถั่วจะรากยาวแตกฝอย

  4. วัสดุเพาะ : หากเป็นไปได้ก็อาจใช้วัสดุเพาะ อย่างฟองน้ำ กระสอบ เพื่อช่วยเก็บความชื้น

  5. ภูมิอากาศ : ควรเพาะในที่แห้ง ระบายอากาศดี ถ้าในฤดูฝน ความชื้นในอากาศสูง

  6. แสงสว่าง : แสงสว่างจะทำให้ถั่วมีสีเขียว ลำต้นผอมยาว ดังนั้นภาชนะควรทึบแสง หรือควรตั้งภาชนะไว้ในที่มืด