อาชีพการจักสานหวาย

ประวัติความเป็นมา

บ้านบุทม (เบาะทม) เป็นภาษาเขมร “เบาะ“ แปลว่า ที่ดอนที่เต็มไปด้วยป่า แต่ถูกถากถางทำไร่ และ “ทม“ แปลว่าใหญ่ รวมความว่า ที่รกไปด้วยป่า ถากถางทำไร่ขนาดใหญ่เช่นกัน บ้านบุทม หมู่ที่ 4 ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพจักสานหวายเกือบทุกครัวเรือน โดยทำนาเป็นอาชีพหลักและทำจักสานเป็นอาชีพเสริม ที่สามารถทำได้ตลอดฤดูกาล ซึ่งสานมาแล้วกว่า 60 ปี โดยในปี 2473 นายลีง เลิศล้ำและญาติพี่น้องอีก 2 คน ประกอบด้วยนายเหลี่ยม ภาสวัสดี และนายพัน กล้ายิ่ง ได้เรียนรู้การจักสานหวายมาจากเรือนจำจังหวัดสุรินทร์ เมื่อได้รับอิสรภาพจึงได้ประกอบอาชีพจักสานตะกร้าหวายเลี้ยงครอบครัวตลอดมา

ปี 2527 สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ได้ริเริ่มฟื้นฟูหมู่บ้านพัฒนาอาชีพ ชาวบ้านบุทมจึงได้รับการส่งเสริมจักสานหวายเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน เพื่อเสริมรายได้ให้กับครอบครัว โดยการถ่ายทอดความรู้จาก 3 ครอบครัว ขยายสู่ครอบครัวในชุมชนทุกหลังคาเรือน

ต่อมาจึงจัดตั้งกลุ่มโดยได้รับ การสนับสนุนจากสภาสตรีออสเตรีย เป็นเงินจำนวน 48,889 บาท แต่ต้องล้มเลิกไป เนื่องจากชาวบ้านขาดความรู้ ทางด้านการบริหาร การจัดการเรื่องเงินทุนและการตลาด

ปี 2533 อาจารย์สุเทพ ศรีลานุช อาจารย์โรงเรียนบ้านบุทม ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากลุ่มหัตถกรรมหวายบ้านบุทม ได้เข้าร่วมโครงการวิจัยเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชน สำนักนายกรัฐมนตรี ทำการเก็บข้อมูลด้านอาชีพ การเรียนรู้ของชาวบ้านและได้สรุปผลการวิจัยปี 2535 และได้นัดหมายกลุ่มชาวบ้านมาประชุมที่โรงเรียนบ้านบุทม เพื่อจัดตั้งกลุ่มในปี 2538 สมาชิกเห็นพ้องต้องกันให้จัดตั้งกลุ่มขึ้นมาใหม่ ร่วมกับหัตถกรรมอื่นอีก 3 กลุ่ม จัดตั้งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานหวาย

ปัจจุบัน “กลุ่มหัตถกรรมหวายบ้านบุทม” มีสมาชิกเพิ่มขึ้นไม่เพียงเฉพาะบ้านบุทมเท่านั้น แต่ยังมีเครือข่ายอีก 3 ตำบล ในจังหวัดสุรินทร์ รวม 338 คน โดยสมาชิกส่วนใหญ่ใช้เวลาว่างจากการทำนา ก็นั่งทำหวายอยู่ที่บ้าน ช่วงพักผ่อนดูทีวี หลังจากทำเสร็จแล้วก็จะนำมาฝากขายที่กลุ่มฯกันค่ะ