แอ๊บข้าวใบลาน

แอ๊บข้าว หรือ กล่องข้าวใบลาน เป็นศิลปวัฒนธรรมล้านนา

ภูมิปัญญาท้องถิ่น นายสองเมือง ชุ่มสา อายุ 72 ปี ที่อยู่ปัจจุบัน 95 ม.2 ต.ดอนไฟ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง

การสืบทอดภูมิปัญญาจากผู้เฒ่า ผู้แก่ในสมัยก่อนและได้เรียนรู้การสานกล่องข้าวมาอย่างต่อเนื่อง และได้นำความรู้ที่มีอยู่ถ่ายทอดแก่คนรุ่นหลังเพื่อเป็นการสืบทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น

แอ๊บข้าว ในภาษาภาคเหนือ หมายถึง

ภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียว สมัยโบราณมีใช้กันทั่วไปในเขตล้านนา ทำด้วยวัสดุหลายชนิด เช่น สานด้วยใบลาน และสานด้วยใบตาล มีหลายขนาด ขนาดใหญ่มีถึง 70-80 ซม. เรียกกล่องข้าวหลวง

วิธีทำ

เลือกใบลานที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป นำมาผึ่งลมไว้ใต้ถุนบ้านให้แห้ง แล้วฉีกหรือแหกเอาก้านตรงกลางออก ความกว้างเลือกตามขนาดของกล่องข้าวที่จะสาน นำใบลานที่ได้มาเรียงซ้อนกันเป็นคู่ๆ แล้วสานลายทานเป็น 2 ชั้น เริ่มจากก้นแล้วสานเฉียงขึ้นไปจนถึงปากแล้วพับใบตาลที่เหลือเก็บชายไว้ที่ ตัวของกล่อง ส่วนฝาปิดก็สานอย่างเดียวกันแต่ให้กว้างกว่าตัวเพื่อจะได้สวมลงไปได้

การใช้งาน

กล่องข้าวเป็นภาชนะสำหรับเก็บข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้ว ข้าวเหนียวที่เก็บในกล่องข้าวจะไม่แฉะและเก็บได้นานตลอดวัน ถ้าเป็นกล่องข้าวที่มีขนาดใหญ่กว้างประมาณ 70-80 ซม. ใช้ใส่ข้าวเหนียวเมื่อมีงานใหญ่ในชุมชน ถ้าเป็นกล่องข้าวขนาดกลาง ความกว้างประมาณ 30 ซม. ใช้ใส่ข้าวเหนียวในครัวเรือน ถ้าเป็นขนาดเล็กความกว้าง ตั้งแต่ 20 ซม. ขึ้นไป ใช้สำหรับใส่ข้าวเหนียวพกพาเวลาเดินทางหรือออกนอกบ้าน เช่น ออกไปไถนา ไปค้าขาย เป็นต้น

บันทึกข้อมูล โดยนางสายไหม กรรเชียง ครู กศน.ตำบลดอนไฟ