ตามรอยส้มป่อย

วัดพระยืน ต.เวียงยอง อ.เมือง จ.ลำพูน

วัดพระยืนนี้ เชื่อว่าเดิมคือวัดอรัญญิการามซึ่งพระนางจามเทวีทรงสร้างขึ้นใน พ.ศ. ๑๒๐๙ ต่อมาใน พ.ศ. ๑๖๐๖ พระเจ้าอาทิตยราชทรงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปสำริดประทับยืนและนำมาประดิษฐานไว้ด้านหลังวิหารพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพุทธาราม ในพ.ศ.๑๙๑๓ ครั้งพญากือนาครองเมืองเชียงใหม่ได้นิมนต์พระสุมนเถระจากสุโขทัยมรเผยแพร่พุทธศาสนาในล้านนาและทรงโปรดให้พำนักอยู่ที่วัดพระยืนเป็นเวลา ๒ ปี ระหว่างนั้นได้ทรงสร้างมณฑปครอบพระพุทธรูปองค์เดิมไว้พร้อมสร้างพระพุทธรูปประทับยืนประดิษฐานในซุ้มจระนำเพิ่มอีก ๓ ทิศ ซึ่งหมายถึงพระอดีตพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ และพระโคตรมะ ต่อมาถูกทิ้งร่างไปเพราะสงครามระหว่างไทย พม่า จนกระทั้ง พ.ศ. ๒๔๔๓ เจ้าอินทยงยศโชติจึงสร้างขึ้นเจดีย์ศิลปะแบบพุกามขึ้นครอบพระพุทธรูปทั้ง ๔ องค์ ซึ่งปรักหักพังไว้ภายใน โดยพระมงคลญาณมนี เจ้าคณะจังหวัดลำพูนและเป็นเจ้าอาวาสวัดพระยืนในขณะนั้นระบุว่าเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่นั้นมีขนาดเท่ากับเจดีย์องค์เดิม แต่ฐานของพระพุทธรูปประจำทิศทั้ง ๔ ที่สร้างขึ้นใหม่มีความสูงเท่ากับสะดือของพระพุทธรูปองค์เดิมเท่านั้น

การขุดแต่งวัดพระยืนใน พ.ศ. ๒๕๔๘ พบโบราณสถานก่อสร้างทับซ้อน ๒ สมัย ที่สำคัญคือแนวกำแพงแก้วและฐานกุฏิสมัยหริภุญไชย วิหารและฐานเจดีย์ศิลปะสุโขทัยฐานหอไตรสมัยล้านนาพร้อมทางเดินปูอิฐซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นถนนพระราชดำเนินของพญากือนาตามหลักฐานศิลาจารึกวัดพระยืนซึ่งจารึกขึ้นใน พ.ศ. ๑๙๑๓ ปัจจุบัน ยังเก็บรักษาไว้ที่วัดนี้ นอกจากนั้นยังพบพระพุทธรูป พระพิมพ์ ประติมากรรมดินเผาศิลปะหริภุญไชย จำนวนรวมกว่า ๕๐๐ ชิ้น


หลักศิลาจารึกวัดพระยืน ( ลพ.๓๘ )

ม.จ.ทรงวุฒิภาพ ดิศกุล (พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) เป็นผู้ค้นพบหลักศิลาจารึกวัดพระยืนคนแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ โดยพบที่บริเวณเชิงฐานพระธาตุเจดีย์วัดพระยืนฝั่งทางทิศเหนือ ต่อมากรมศิลปากรได้ทำการย้ายจากสถานที่เดิม ที่ตากแดดตากฝนมาตั้งไว้ ณ สถานที่ตั้งปัจจุบันพร้อมทั้งสร้างศาลากระจกครอบไว้ป้องกันความเสียหายจากภัยธรรมชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๘

หลังจากที่ค้นพบแล้ว ม.จ.ทรงวุฒิภาพ ได้ส่งสำเนาจารึกไปถวายพระบิดา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๕๗ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกหอสมุดสำหรับพระนคร) เมื่อได้รับหนังสือแล้วก็ได้ส่งนักภาษาโบราณ คือ นายฉ่ำ ทองคำวรรณ กับ นายประสาร บุญประคอง เดือนทางมาสำรวจศิลาจารึกวัดพระยืน พบว่า

ศิลาจารึกหลักนี้มีความสูง ๙๐ เซนติเมตร หนา ๑๐.๕ เซนติเมตร ทำจากหินชนวนหรือหินดินดาน สีเทา รูปใบเสมามีตัวอักษรทั้งสองด้าน กรมศิลปากรได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนบัญชี “หลักศิลาจารึกหลักที่ ๖๒” เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๐๐ ต่อมากรมศิลปากร ได้เปลี่ยนเลขรหัสทะเบียนใหม่ โดยเรียงตามหลักที่ค้นพบของแต่ละจังหวัด ทำให้หลักศิลาจารึกวัดพระยืนมีเลขทะเบียนใหม่ว่า “ลพ.๓๘”

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ นักวิชาการด้านล้านคดี นำโดย อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ พร้อมด้วย นายอเล็กซานเดอร์ บราวน์ คริสโวลด์ นักโบราณคดีชาวตะวันตกได้ร่วมกันลงพื้นที่ศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมมณฑปเจดีย์วัดพระยืน ควบคู่ไปกับการถอดรหัสจากการอ่านศิลาจารึกโดยนักภาษาโบราณ พบว่า

จารึกวัดพระยืนระบุว่าทำขึ้นในปีจุลศักราช ๗๓๑ ตรงกับปี พ.ศ. ๑๙๑๒ ตรงกับรัชสมัยของพญากือนา กษัตริย์ลำดับที่ ๖ แห่งราชวงศ์มังราย นครเชียงใหม่ ซึ่งร่วมสมัยพระญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย ลักษณะอักษรเป็น แบบอาลักษณ์สุโขทัย (ลายสือไท) ผู้จารคือพระสุมนเถระ ศิลาจารึกมีเนื้อความ ๒ ด้าน รวม ๘๑ บรรทัด ด้านที่ ๑ มี ๔๐ บรรทัด ด้านที่ ๒ มี ๔๑ บรรทัด โดยเนื้อความโดยรวมจารึกทั้ง ๒ ด้าน พอสรุปได้ใจความดังนี้

จารึกด้านที่ ๑ กล่าวถึงการขึ้นมาของ “พระสุมนเถระ” เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๑๒ โดยพระญากือนาทรงให้ราชบุรุษไปอาราธนามาจากกรุงสุโขทัย เพื่อมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในล้านนา โดยทรงจัดขบวนต้อนรับอย่างมโหฬาร โดยอัญเชิญพระสุมนเถระ พำนักที่วัดพระยืน เมื่อพระสุมนเถระมาพำนักแล้วเห็นวัดพระยืนอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงดำริจะทำการปฏิสังขรณ์ใหม่

จารึกด้านที่ ๒ กล่าวถึงการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานในวัดพระยืน รวมทั้งมณฑปเจดีย์ด้วยว่ามีการสร้างพระพุทธรูปยืนเพิ่มขึ้นอีก ๓ องค์ คือฝั่งทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศใต้ ซึ่งเดิมนั้นมีพระยืนเพียงองค์เดียวหันหน้าไปทางฝั่งทิศตะวันออก

ความสำคัญของหลักศิลาจารึกวัดพระยืนคือ เป็นจารึกตัวอักษรธรรมล้านนาที่เขียนด้วยอักษรลายสือไทยแบบสุโขทัย เป็นหลักแรกและหลักเดียวที่ค้นพบในแผ่นดินล้านที่เก่าแก่ที่สุด (พ.ศ. ๑๙๑๒) ซึ่งต่อมาได้พัฒนา เป็นตัวอักษรเฉพาะในแบบของล้านนาที่เรียกว่า “อักษรฝักขาม”

ศิลาจารึกวัดพระยืนจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “เอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทย” จาก คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยความทรงจำแห่งโลก ของคณะกรรมการการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๘