วัดต้นแก้ว

พิพิธภัณฑ์วัดต้นแก้ว หรือพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยอง ประกอบด้วยอาคารที่ใช้จัดแสดง 2 หลัง ๆ แรกเป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ ใช้เก็บของที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูปไม้ พระพุทธรูปเนื้อดินเผา หีบพระธรรม เครื่องเขิน ขันโตก เครื่องจักสาน กล้องยาสูบ ภาพถ่ายเก่า ๆ มีดดาบ และวัตถุสิ่งของที่ใช้ในการทอผ้า ซึ่งเป็นข้าวของเป็นสิ่งที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวยอง ในชุมชนแห่งนี้มาแต่ครั้งอดีต อาคารหลังที่สอง เป็นอาคารไม้หลังเก่าอยู่ทางด้านหลัง จัดแสดงเครื่องพัดยศ และพระเครื่องรุ่นต่างๆ อีกมากมาย และยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสืบชะตาอีกด้วย จุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ การเก็บรวมรวมพระเครื่องสกุลต่างๆ ที่มีชื่อเสียงของลำพูนเอาไว้มากมาย เช่น พระรอด พระคง พระบาง พระลือ พระเลี่ยง พระเปิม พระสิบสอง พระลบ เป็นต้น

นอกจากจะมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแล้ว วัดต้นแก้วยังเป็นทั้งศูนย์เรียนรู้การทอผ้ายกดอก จังหวัดลำพูน เป็นที่ทำการของกลุ่มทอผ้า ผู้สูงอายุ เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน และศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ปัจจุบัน วัดต้นแก้วเป็นพื้นที่ให้คนต่างกลุ่ม ต่างอายุได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้ร่วมกัน โดยวัดได้จัดให้มีโครงการหมู่บ้าน "ยอง" เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ของตน นับเป็นอีกความพยายามหนึ่งที่จะรักษาเอกลักษณ์ของคนยองเอาไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของคนยอง

วัดต้นแก้ว สันนิษฐานว่าย้ายมาจากวัดดอนแก้ว ซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. 1825 เป็นวัดที่สร้างในสมัยพระนางเจ้าจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่ง นครลำพูน เริ่มสร้างเมืองลำพูน เหตุที่ย้ายมาเนื่องจากวัดดอนแก้ว เป็นวัดใหญ่ที่ขาดการดูแลรักษาจึงผุพังไปตามกาลเวลา จึงได้ย้ายมาสร้างวัดต้นแก้วขึ้นใหม่ โดยมีแม่เฟย พร้อมผู้มีศรัทธาช่วนกันก่อสร้างวัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 1830

ภายในบริเวณวัดมีการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยองบนกฎิเก่า ก่อตั้งโดยพระครูไพศาลธีรคุณ เจ้าอาวาสวัดต้นแก้วเมื่อปี พ.ศ.2530 โดยเริ่มต้นเก็บสะสมของโบราณที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันตามวิถีชีวิตของชาวยองในอดีต ภาพโบราณ เมืองลำพูน พระเครื่อง รวมไปถึงผ้าทอโบราณ การทำไร่ ทำนา ได้แก่ คุดีข้าว ล้อเกวียน เมื่อมีสิ่งของมากขึ้นก็จัดแสดงเป็น พิพิธภัณฑ์เล็กๆ ภายในวัด หลังจากนั้นก็เริ่มมีผู้มีจิตศรัทธา นำสิ่งของเก่าๆมาบริจาคมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้จัดทำเป็น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดต้นแก้ว