สืบสานภูมิปัญญา ผ้าทอยกดอกลำพูน 

นายนพรัตน์ โสภา หรือครูน้อง คนบ้านแม่สารบ้านตอง ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน เจ้าของร้านโสภาผ้าไหมยกดอก วิทยากรบรรยายเกี่ยวกับผ้าทอลำพูนรวมทั้งเป็นครูสอนการทอผ้ายกลำพูนที่สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน

ครูน้องเล่าว่าตนเห็นกี่ทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้านตั้งแต่เด็ก ทำให้เกิดการซึมซับและได้ใช้เวลาหลังเลิกเรียนช่วยคุณย่าทอผ้าตั้งแต่เด็ก    ครูน้องเล่าย้อนไปอีกว่า คนยองอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองลำพูนกว่า ร้อยละ 70 ได้นำวัฒนธรรมและวิธีการทอผ้าจากเมืองยองมาใช้ โดยคนยองได้อพยพและตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านยู้ บ้านแม่สารบ้านตอง บ้านป่าแดด บ้านเวียงยอง โดยผู้ชายจะปั้นปูนสำหรับประดับวิหาร ผู้หญิงจะทอผ้าสำหรับนุ่งใส่ โดยลวดลายหนึ่งที่ปั้นคือลายดอกพิกุล ซึ่งมีการนำมาใช้ในลายทอผ้าด้วย


ภาพนายนพรัตน์ โสภา เจ้าของร้านโสภาผ้าไหมยกดอก

ภาพถ่ายโดย นางสาวชนัตถธร สาธรรม 

ผ้าไหมยกดอกลำพูน ภูมิปัญญาการทอผ้าที่มีความพิเศษ

ผ้าไหมยกดอกลำพูน เป็นผ้าไหมที่ทอยกลวดลายให้สูงกว่าฝืนฝ้า โดยการเลือกยกบางเส้นข่มบางเส้นเพื่อให้เกิดลวดลาย โดยใช้ตะกอลอย และใช้เส้นไหมตีเกลียวเป็นทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง รวมทั้งมีเส้นไหมเพิ่มพิเศษในการทอยกให้เกิดลวดลาย ตามกรรมวิธีที่ประณีตที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดสืบกันมา (ประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา, 2556)  คำว่า ยกดอก นั้นบ่งบอกถึงเทคนิคที่ใช้ทอผ้าและบ่งบอกถึงลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำพูนที่เป็นลวดลายดอกไม้ เช่น ลายดอกพิกุล ดังนั้นจึงเรียกว่า "ผ้าไหมยกดอก" หรือ "ผ้าไหมยกดอก ลำพูน" (กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ม.ป.ป.)

 

ผ้าไหมยกดอกลำพูน ภูมิปัญญาการทอผ้าที่ได้รับการยกระดับ

       ในปี 2550 ผ้าไหมยกดอกลำพูน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Thai Geographical Indication) ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าสินค้านั้นมาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง โดยคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว GI จึงเปรียบเสมือนแบรนด์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า (กรมทรัพย์สินทางปัญญา, 2559)


ประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ผ้าไหมยกดอกลำพูน

(กรมทรัพย์สินทางปัญญา, 2559)


ภาพสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศภาพสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) บนผ้าไหมยกดอกลำพูน

ภาพถ่ายโดย นางสาวชนัตถธร สาธรรม

ภาพสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศภาพสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) บนผ้าไหมยกดอกลำพูน

ภาพถ่ายโดย นางสาวชนัตถธร สาธรรม

        ผ้าไหมยกดอกลำพูน ยังเป็นที่ยอมรับได้รับเลือกให้ถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเป็นฉลองพระองค์สำหรับทรงในการเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชกรณียกิจทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ความงามของผ้าไหมยกดอกลำพูนยังปรากฎแก่สายตาทั่วโลก โดยถูกนำไปใช้ตัดเย็บเครื่องแต่งกายของนักร้องลิซ่า    แบล็กพิงค์ (Lisa Blackpink) หรือ ลลิษา มโนบาล หนึ่งในสมาชิก BLACKPINK วงเกิร์ลกรุ๊ปแห่งเกาหลีใต้ ในเพลง LALISA ซึ่งเครื่องแต่งกายดังกล่าว เป็นผลงานการออกแบบของนักออกแบบชาวไทย หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ ASAVA (อาซาว่า) (วลัญช์ สุภากร, 2564)

     นับได้ว่าผ้าไหมยกดอกลำพูน เป็นภูมิปัญญาที่มีความเป็นมายาวนาน และมีความประณีตสวยงามจนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ




ข้อมูลเนื้อหา :  

นายนพรัตน์ โสภา เจ้าของร้านโสภาผ้าไหมยกดอก

กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (ม.ป.ป.). ผ้าไหมยกดอกลำพูน. ค้นจาก https://qsds.go.th/silkcotton/k_20.php?fbclid=IwAR02qKNjXF3sRTz_ixSRkSMPycXzWBckF8DzYb4i3IHuoOH5JTWGnqrXfN0

กรมทรัพย์สินทางปัญญา. (2559). ประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ผ้าไหมยกดอกลำพูน. ค้นจาก http://www.ipthailand.go.th/th/gi-011/item/20-%E0%B8%AA%E0%B8%8A-50100020-สช-50100020-ผ้าไหมยกดอกลำพูน-2.html

 

กรมทรัพย์สินทางปัญญา. (2559). สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์. ค้นจาก http://www.ipthailand.go.th/th/gi-001.html

วลัญช์ สุภากร. (2564). ปรีชาเกียรติ บุณยเกียรติ มรดกผ้าทอ 1,400 ปี สู่ชุดผ้าไหม Lisa Blackpink. ค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/963660?fbclid=IwAR1f7Hmiag5m-vnNXCpYFsDPxrJ88kVC3MJwDFT5A0yymnVsbUkNSp3KkVg

 

เรียบเรียงข้อมูล/เนื้อหา : นายณัฐกันต์ เป็งธรรม ครู กศน.ตำบล/  นางสาวชนัตถธร สาธรรม บรรณารักษ์ปฏิบัติการ

 

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ : นายณัฐกันต์ เป็งธรรม และนางสาวชนัตถธร สาธรรม