แหนมหมู

แหนมหมู สุขภาพ

ที่อยู่ปัจจุบัน 25 ม.1 ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี 41110

สถานที่ทำงาน ที่บ้านตนเอง

ชื่อเสียงด้าน แปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร

ผู้รับรองข้อมูล นายเหรียญทอง สุขจินดา

ผู้สำรวจข้อมูล นายดนุพล อุตตมะ ครูศูนย์การเรียนชุมชนบ้านห้วยสามพาด

แหนม หมายถึงอะไร

เมื่อมีใครพูดถึงแหนม เราจะนึกภาพถึงเนื้อที่ถูกห่ออยู่ในถุงพลาสติกหรือถูกห่อด้วยใบตอง โดยมีส่วนของหนังหมู ข้าวสุก และมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย แต่ตอนนี้จะพูดถึงความหมายของแหนม ดังนี้

แหนม หมายถึง ผลิตภัณฑ์เนื้อที่เตรียมได้โดยการนำเนื้อมาบดหรือสับให้ละเอียด ใส่หนังหมูไปผสมกับเกลือ กระเทียมบด และสารประกอบไนเตรทหรือไนไตรท์ แล้วบรรจุห่อด้วยใบตองหรือพลาสติก เก็บไว้ 2-3 วันก็สามารถนำมารับประทานได้

คุณค่าทางโภชนาการ

บริโภคแหนมแล้วได้อะไร หลายท่านอาจคิดกันว่าเมื่อบริโภคแหนมแล้วท่านจะได้อะไรบ้าง

นอกจากรสชาติความอร่อยที่ได้รับจากการบริโภคแหนม

ส่วนประกอบหลักที่ใช้ในการทำแหนมก็คือ เนื้อ เนื้อเป็นแหล่งสำคัญของอาหารโปรตีนที่มี คุณภาพดี เป็นแหล่งของแร่เหล็กและวิตามินบี ซึ่งสารอาหารเหล่านี้มีอยู่พร้อมในเนื้อสัตว์

การแปรรูปเนื้อสัตว์ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการใช้ประโยชน์จากเนื้อหมูและเนื้อวัว ซึ่งอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์ในประเทศไทยส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากคนจีนที่เข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหาเลี้ยงชีพ โดยการทำผลิตภัณฑ์พวกกุนเชียง หมูแผ่น ลูกชิ้น ซึ่งมีการผลิตสูง รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้านของไทยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ พวกแหนม หมูยอ และไส้กรอกเปรี้ยว สำหรับแหนมนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมบริโภคกันเป็นอย่างมาก

มารู้จักวัตถุดิบ วัสดุและอุปกรณ์ในการทำแหนม

แหนมทำมาจากอะไร

ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการเกี่ยวกับการใช้เนื้อ เพื่อนำไปแปรรูปทำผลิตภัณฑ์แหนมควรจะทราบถึงสิ่งต่าง ๆ ที่มีผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์แหนมที่ต้องการ และสิ่งสำคัญอันดับแรกที่จะต้องคำนึงถึงก็คือ คุณภาพของวัตถุดิบที่จะใช้ เพราะว่าคุณภาพของผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายจะดีไปไม่ได้ถ้าวัตถุดิบคุณภาพด้อย ฉะนั้นควรที่จะรู้จักกับวัตถุดิบต่าง ๆ ในการทำแหนม ได้แก่

+ เนื้อสัตว์

เนื้อ หมายถึง เนื้อที่ได้จากสัตว์เพื่อนำมาใช้เป็นอาหาร ซึ่งรวมถึงกล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ หัวใจ และส่วนอื่น ๆ ที่บริโภคได้ เนื้อจากสัตว์ชนิดต่าง ๆ ได้แก่ โค กระบือ สุกร แพะ แกะ เป็นต้น เนื้อสัตว์จะมีส่วนประกอบทางเคมีแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพของสัตว์ก่อนำมาฆ่า สัตว์ต่างชนิดกันหรืออายุต่างกัน โดยทั่วไปกล้ามเนื้อของสัตว์จะมีส่วนประกอบทางเคมี ได้แก่ น้ำ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เอ็นไซม์สี และแร่ธาตุต่าง ๆ เป็นต้น

+ สารให้สี

การทำแหนมในระดับชาวบ้าน มักมีการเติมดินประสิวลงไปด้วยเล็กน้อย เพื่อให้เกิดสีแดงสวย โดยปริมาณที่ใช้เติมนั้นไม่ได้มีการชั่ง ตวง วัด ใช้ประมาณเองตามความชำนาญที่ปฏิบัติมา ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เพราะสารให้สีดังกล่าวจัดเป็นวัตถุเจือปนอาหารพวกไนเตรทและไนไตรท์ ซึ่งมีกฏหมายควบคุมกำหนดปริมาณการใช้ โดยอนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 200 - 500 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ซึ่งต้องคำนวณในรูปโซเดียมไนเตรทและโซเดียมไนไตรท์ตามลำดับ ปัจจุบันการใช้ไนเตรทและไนไตรท์ผสมกับอาหารมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ

1.1 เพื่อช่วยให้อาหารโดยเฉพาะเนื้อสัตว์มีสีแดงคงทน ไม่เสื่อมสลายไปขณะหุงต้ม

1.2 ทำให้อาหารมีรสชาติและกลิ่นเฉพาะ

1.3 ทำให้อาหารเก็บไว้ได้นาน ไนเตรท ไนไตรท์ จะทำหน้าที่เป็นสารกันเสีย ป้องกันการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ โดยเฉพาะพวกที่ทำหน้าให้เกิดการบูดและพวกที่สร้างสารพิษ สารให้สีที่ขอแนะนำให้ใช้คือ ผงเพรก ผงเพรกเป็นสารเคมีพวกสารประกอบไนเตรทไนไตรท์ ใช้ใส่ลงผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดกลิ่นและรสที่ต้องการ ทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นพิษและทำให้เกิดโรค และเพิ่มลงไปเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์มีสีดีขึ้น

+ ส่วนผสมอื่น ๆ ได้แก่

เกลือ

การเติมเกลือประมาณ 2 – 3 % ของน้ำหนักอาหาร จะช่วยทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์อื่น ๆ เจริญได้ และช่วยดึงน้ำและน้ำตาลจากเนื้อ และยังสามารถทำหน้าที่เป็นสารกันบูดได้ วัตถุประสงค์ของการใส่เกลือในแหนมคือ ทำให้เกิดรสเค็ม และทำให้แหนมเก็บไว้ได้นาน ปริมาณเกลือที่ใส่ถ้าน้อยเกินไปจะทำให้แหนมเน่าเสียได้ และถ้าใส่เกลือมากเกินไปแหนที่ได้จะมีรสเปรี้ยวน้อยกว่ารสเค็ม

ข้าว

ข้าวที่ใส่ลงในแหนมเป็นข้าวที่ผ่านการหุงต้มจนสุกแล้ว ใช้ได้ทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว การใส่ข้าวลงไปก็เพื่อเป็นแหล่งคาร์โบดฮเดรตแก่แบคทีเรียที่สร้างกรดแลคติก ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้แหนม มีรสเปรี้ยว

กระเทียม

ตามปกติมักจะบดกระเทียมให้ละเอียดก่อน แล้วจึงใส่ลงในผลิตภัณฑ์ การใส่กระเทียมจะให้ผลทั้งในแง่เพิ่มกลิ่นหอมและรสชาติของแหนม และยังช่วยเป็นสารกันบูดได้ด้วย โดยจะใส่ประมาณ 10 % ของน้ำหนักอาหาร


รีกัลเบส

รีกัลเบสเป็นเกลืออิริธอเบทที่จะช่วยให้สีแดงของผลิตภัณฑ์เนื่อมีสีสันสวยงามและอยู่คงทน สีจะไม่ซีดจางเมื่อวางขายในตู้โชว์ รีกัลเบสอย่างเดียวไม่มีประสิทธิภาพทำงานได้อย่างเต็มที่ ต้องใช้ ร่วมกับผงเพรก

พริกขี้หนู

การทำแหนมอาจจะมีการเติมพริกขี้หนูเป็นเม็ด ๆ พริกขี้หนูที่เติมนั้นนอกจากจะให้รสเผ็ดเมื่อบริโภคแล้ว ยังช่วยเพิ่มสีสันที่สวยงามให้กับแหนมอีกด้วย

ใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรบ้างในการทำแหนม

การทำแหนมบริโภคกันเองภายในครัวเรือนไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ยุ่งยาก แต่ถ้ามีการผลิตเพื่อจำหน่ายในปริมาณมาก ๆ จะมีอุปกรณ์ช่วยทุนแรงในการผลิต ซึ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ

การทำแหนมมีดังนี้

1. เครื่องบดเนื้อ

2. เครื่องอัดใส้

3. เครื่องชั่งชนิดละเอียดและชนิดหยาบ

4. อุปกรณ์เครื่องครัวต่าง ๆ ได้แก่ มีด เขียง ถาด กะละมัง หม้อ เตา

ทำแหนมกันได้อย่างไร

1. วิธีการทำแหนม

แหนมเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์พื้นบ้านชาวเหนือของไทย มีรสชาติเปรี้ยว เนื่องจากเกิดการหมักของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในเนื้อตามธรรมชาติกับน้ำตาล ข้าวและโปรตีนในส่วนผสมเนื้อ มาศึกษากันเถอะว่าทำแหนมกันได้อย่างไร ควรเลือกภาชนะในการทำแหนมและเก็บรักษาแหนมอย่างไร และที่สำคัญคือ สุขลักษณะในการทำแหนมเป็นอย่างไร

1.1 การเตรียมวัตถุดิบ

สูตรที่ 1

- เนื้อหมู 1 กิโลกรัม

- หนังหมู 30 กรัม

- ข้าว 100 กรัม

- กระเทียม 100 กรัม

- เกลือ 20 กรัม

- เกลือไนเตรท ไนไตรท์ (ผงเพรก) 0.5 กรัม

สูตรที่ 2

- เนื้อหมู 12 กิโลกรัม

- หูหมู 3 กิโลกรัม

- หนังหมู 5 กิโลกรัม

- เกลือ 400 กรัม

- เกลือไนเตรท ไนไตรท์ (ผงเพรก) 40 กรัม

- รีกัลเบส 40 กรัม

- น้ำตาลทราย 40 กรัม

- กระเทียม 800 กรัม

- ข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้า 500 กรัม

- พริกขี้หนูสวน 500 กรัม

1.2 ขั้นตอนการทำแหนม

1.2.1 การเตรียมวัตถุดิบ

เนื้อที่ใช้ควรเป็นเนื้อแดงสดที่ชำแหละใหม่ ๆ เนื้อส่วนต้นขาเป็นส่วนที่ดีที่สุด เนื่องจากมีมันแทรกน้อย และเมื่อนำมานวดกับเครื่องปรุงต่าง ๆ จะได้ส่วนผสมที่เหนียว เนื้อที่ใช้ทำแหนมไม่นิยมล้างน้ำ เนื่องจากเนื้อจะดูดซึมน้ำทำให้มีความชื้นสูง และอาจเน่าเสียง่ายระหว่างการหมัก หากนำไปล้างน้ำควรซับน้ำให้แห้ง นำเนื้อมาตัดเอาส่วนที่เป็นมันและพังพืดออกให้ หมด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำเข้าเครื่องบดเนื้อ หรือใช้มีดสับจนเนื้อละเอียด หนังหมูขูดให้สะอาด ล้างด้วยน้ำ ถอนขนออกให้หมด นำไปต้มสุก นำมาหั่นบาง ๆ กระเทียมแกะเปลือกออกหมด โขลกให้ละเอียด ข้าวเหนียวนึ่งหรือข้าวสวยนำไปโขลกหรือบดให้ ละเอียด

1.2.2 การนวดผสม

นำเนื้อบดแล้วผสมเครื่องปรุง คือ เกลือ ข้างสุก รีกัลเบส โซเดียมไนเตรท ไนไตรท์ น้ำตาลทาย กระเทียมตามสูตร นวดจนเหนียวหรือเป็นก้อนไม่ติดมือ เติมหนังหมูหรือหูหมู และนวดต่อให้ เข้ากัน สำหรับแหนมบางชนิดมีการเติมพริกขี้หนูเพื่อให้มีรสเผ็ด

1.2.3 การบรรจุและหมัก

แหนมเมื่อนวดได้ที่แล้วนำไปปั้นเป็นก้อน ห่อด้วยพลาสติกหรือห่อด้วยใบตองกล้วยสด มัดให้ แน่นด้วยยาง เชือก หรือตอก (ถ้าใช้ใบตองกล้วยสด) เพื่อไล่อากาศภายใน เพราะควรหมักแหนมในสภาพไม่มีอากาศและแขวนหมักไว้ประมาณ 2 –3 วัน ก็รับประทานได้

2. การเก็บรักษา

แหนมเมื่อทิ้งไว้จะเกิดการหมักจนมีรสเปรี้ยวแล้ว จากนั้นควรเก็บไว้ในตู้เย็นหรือในอุณหภูมิ ต่ำ เพื่อไม่ให้ผลิตภัณฑ์มีรสเปรี้ยวเพิ่มขึ้นมากจนเกินไป