หมอยาสมุนไพร
นางสาวจรูญ เหง้าชาลี
แกนนำกลุ่มหมอบ้านเหมือดขาว
เกิด 11 มกราคม 2508
ที่ตั้ง บ้านเลขที่ 146 หมู่ที่ 12 บ้านเหมือดขาว ตำบลม่วง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร 35130
โทร. 0887246211
“อบต.ม่วง” สร้างสุขภาวะแนวใหม่ด้วย “สมุนไพรและธรรมะ”
ปัจจุบันสวัสดิการด้านสุขภาพของคนไทยมีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีตอย่างเห็นได้ชัด โดยสามารถเข้ารับการรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยโดยแทบไม่ต้องใช้เงิน แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังมีพฤติกรรมในการซื้อยามารับประทานเอง ไม่นิยมไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค ถึงแม้จะเป็นสิทธิและเสรีภาพด้านการบริโภค แต่ก็เป็นปัจจัยหลักส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชากรไทย และยังสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับประเทศ
หลายรายนิยมเลือกซื้อยาจากร้านขายยาโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ บางครั้งถึงขั้นวินิจฉัยโรคด้วยตนเอง และมีความเข้าใจผิดๆ ว่ายาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะหรือยาแก้อักเสบ เป็นยาครอบจักรวาลที่ใช้รักษาได้ทุกโรคเช่นเดียวกับที่ ชุมชนบ้านเหมือดขาว ตำบลม่วง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ที่สูญเสียเม็ดเงินไปกับการซื้อยากินเองจากร้านขายยา เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้หวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล มูลค่าไม่น้อยกว่า 108,000 บาทต่อปี ในขณะที่ปัญหาด้านสุขภาพกลับรุนแรงขึ้นขึ้น เนื่องมาจากการใช้ยาที่ผิดวิธี
ด้วยเหตุนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลม่วง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร จึงได้จัดทำโครงการ “หมอบ้านเหมือดขาวร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นให้น่าอยู่” เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนได้ดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรพื้นบ้านใกล้ตัวซึ่งมีสรรพคุณทางยา มาประยุกต์ใช้กับวิถีการกินอยู่ประจำวันของครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่นใกล้เคียง โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายศุภษร อินทร์กาย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลม่วง หัวหน้าโครงการฯ อธิบายว่า ชาวบ้านเหมือดขาวเกือบทั้งหมดประกอบอาชีพทำนา เมื่อเจ็บป่วยก็เลือกที่จะซื้อยากินเอง แทนที่จะไปพบแพทย์ เนื่องจากการเดินทางไปโรงพยาบาลทำให้เสียเวลาทำงาน เสียค่าเดินทางและค่าอาหารต่อครั้งมากกว่า 200 บาท ผลกระทบที่ตามมาคือภาวะการใช้ยาแบบฟุ่มเฟือย เสี่ยงต่อการใช้ยาผิดประเภทและผิดวิธี นอกจากจะไม่หายขาด อาจส่งผลให้สุขภาพเสื่อมโทรมและเกิดการอาการเจ็บป่วยเรื้อรังซึ่งยากต่อการรักษา
“เมื่อประชาชนไม่สะดวกที่จะเข้าไปพึ่งพาการรักษาจากหมอในโรงพยาบาลใหญ่ ด้วยข้อจำกัดในเรื่องต่างๆ ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีหน้าที่ต้องสร้างเสริมสุขภาพที่ดีแก่ทุกคน ดังนั้น การสร้างคนในชุมชนให้เป็นหมอที่มีความรู้เรื่องการใช้ผักและสมุนไพรในท้องถิ่นมาปรุงเป็นยา เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพึ่งพาตนเองที่ถูกต้องแทนการซื้อยากินเอง ช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลน้อยลง อีกทั้งยังช่วยให้แพทย์และพยาบาลมีเวลาดูแลรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการวิเคราะห์โรคเชิงลึกและการรักษาที่ใกล้ชิดกว่า” นายศุภษรกล่าว
เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้อง อบต.ม่วง จึงได้ชักชวนให้กลุ่มเป้าหมายหลักซึ่งเป็นผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคผิวหนังอักเสบ เข้าค่ายฝึกอบรมในกิจกรรม งานแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธ ณ สวนป่านาบุญ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร โดยเป็นการถ่ายทอดความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ด้วยการบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงด้วยสมุนไพรใกล้ตัว ควบคู่ไปกับการบำบัดรักษาจิตใจตามแนววิถีพุทธ
นางสาวจรูญ เหง้าชาลี แกนนำกลุ่มหมอบ้านเหมือดขาว กล่าวว่า สมาชิกในชุมชนหลายรายมีปัญหาสุขภาพซึ่งเป็นกระทบจากพฤติกรรมการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร โรคส่วนใหญ่ที่พบในพื้นที่จึงเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ รวมถึงโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง จากการเข้าฝึกอบรมในกิจกรรมงานแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธ จึงรู้ว่าโรคเรื้อรังเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ขาดความพอดี หากต้องการห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บเหล่านั้น จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอยู่ให้สมดุลเป็นอันดับแรก
“วัฒนธรรมการกินถิ่นอีสานหนีไม่พ้นข้าวเหนียว ส้มตำ และน้ำพริก ในข้าวเหนียวมีแป้งและน้ำตาลสูงส่วนกับข้าวและเครื่องเคียงล้วนเป็นอาหารรสจัด ทั้งหมดนี้คือปัจจัยกระตุ้นให้อาการของโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานกำเริบ การปรับวิธีการกินอาหารจึงเป็นกฎข้อแรกของการมีสุขภาพดีที่สมาชิกต้องปฏิบัติตามตามอย่างเคร่งครัด จากนั้นคือการถอนพิษทั้งภายในและภายนอกร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ” น.ส.จรูญ ระบุ
ซึ่งอาหารหลักที่ช่วยปรับร่างกายให้สมดุลคือสมุนไพรที่หาได้ตามรั้วบ้านกว่า 10 ชนิด อาทิ ใบย่านางเขียว ใบเตย บัวบก หญ้าปักกิ่ง ใบอ่อมแซม ใบเสลดพังพอน หยวกกล้วย และว่านกาบหอย ซึ่งส่วนใหญ่มีฤทธิ์เย็น เมื่อผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันและเบาหวานได้รับประทาน ก็จะช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายให้เป็นปกติ
นายสุวิทย์ บุดดีสี วัย 60 ปี ชาวบ้านเหมือดขาวที่เข้าร่วมโครงการฯ เปิดเผยว่า ตนมีปัญหาสุขภาพไม่ต่างจากคนอื่น ด้วยเป็นห่วงว่าจะไม่มีใครดูแลที่นา เมื่อมีอาการปวดหัวเป็นไข้ จึงมักซื้อยากินเอง จนกระทั่งล้มป่วยหนักที่ด้วยอาการไข้ กินอาหารไม่ได้ เคลื่อนไหวลำบาก จึงตัดสินใจไปพบแพทย์ แต่สุดท้ายแพทย์แต่ละคนกลับวินิจฉัยไม่ตรงกัน ทำให้เสียเงินไปหลายพันบาท
“การใช้สมุนไพรบำบัดเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ต้องเลือก แต่เมื่อปฏิบัติตามกลับพบว่าอาการเจ็บป่วยทุเลาลงอย่างเห็นได้ชัด ทุกเช้าจะดื่มน้ำคลอโรฟิลล์ซึ่งเป็นสมุนไพรจากพืชผักพื้นบ้านที่ขึ้นตามริมรั้ว โดยนำมาบดสดแล้วดื่มน้ำ กากที่เหลือนำไปพอกร่างกายบริเวณที่ปวดเมื่อยแล้วใช้ไม้ขูดนวดเบาๆ ซึ่งสารอาหารในกากสมุนไพรจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอีกทางหนึ่ง ส่วนอาหารในแต่ละมื้อก็จะปรุงจากพืชผักพื้นบ้าน ที่ปรุงรสด้วยเกลือและน้ำตาลเพียงหยิบนิ้วเท่านั้น แล้วออกกำลังกายด้วยการทำโยคะ และสร้างสุขภาพใจด้วยการทำสมาธิก่อนเข้านอน ปรากฎว่าทุกวันนี้สามารถทำงานได้เป็นปกติกินอิ่มนอนหลับสบายใจ” นายสุวิทย์กล่าว
ปัจจุบันชาวบ้านเหมือดขาวได้รับปริญญาชีวิตเป็นหมอสมุนไพรกันถ้วนหน้า สามารถดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้นได้ด้วยความรู้และสองมือของตนเอง อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ชุมชนอื่นๆ ที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพได้อีกด้วย
“ที่ผ่านมา อบต.ถูกมองว่ามีหน้าที่ต้องสร้างถนน เพื่ออำนวยความสะดวกให้เหล่าพ่อค้าแม่ค้าได้นำพาสิ่งของเครื่องใช้หรูหรามาสู่ท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้เป็นความสุขเพียงฉาบฉวย แท้จริงคือหนี้สินและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดีจึงมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนให้อยู่ดีมีสุขอย่างแท้จริง ด้วยการดูแลสุขภาพของทุกคน เพราะเมื่อสุขภาพร่างกายแข็งแรง ห่างไกลโรค เศรษฐกิจในครัวเรือนก็ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ชุมชนก็มีความน่าอยู่มากขึ้น กลายเป็นตำบลที่มีความเข้มแข็งจากภายในโดยทุกคนมีส่วนร่วม” หัวหน้าโครงการฯ กล่าวสรุป