แหล่งเรียนรู้

กศน.ตำบลบางโปรง ได้รับมอบหมายจาก นางสาวสุภสิตา บัวเลี้ยง ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเมืองสมุทรปราการ ให้นำหนังสืออ่านนอกเวลาลงหมุนเวียนบ้านหนังสือชุมชนในตำบลบางโปรงเพื่อส่งเสริมการอ่านให้กับประชาชน กศน.ตำบลบางโปรง เรามุ่งมั่นจะทำให้ชาวบ้านอ่านออกเขียนได้ วันนี้นำหนังสือลงบ้านหนังสือชุมชนบ้านมั่นคงเฟส ๑ มีท่านคณะกรรมหมู่บ้านมาให้การต้อนรับและรับมอบหนังสือในครั้งนี้ วีระยุทธ ไพรชัฎ รายงาน

วัดบางโปรง

ประเภทแหล่งศิลปกรรม : วัดข้อมูลสถานภาพที่ตั้ง : ถนน ปู่เจ้าสมิงพราย หมู่บ้าน บ้านบางโปรง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัด สมุทรปราการสถานภาพแหล่งศิลปกรรม : ขึ้นทะเบียน กรรมสิทธิ์ : วัด

ความสำคัญของแหล่งศิลปกรรม :

วัดบางโปรง ตั้งอยู่เลขที่ ๑๐ บ้านบางโปรง ซอยสวนส้ม ถนนปู่เจ้าสมิงพราย หมู่ที่ ๒ ตำบลบางโปรง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกายมีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๙ ไร่ ๔ งาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๔ อาณาเขต ทิศเหนือยาว ๒ เส้น ๑๑ วา ติดต่อกับคลองบางโปรง ทิศใต้ยาว ๓ เส้น ๓ วา ติดต่อกับลำกระโดง ทิศตะวันออกยาว ๒ เส้น ๑๘ วา ติดต่อกับลำกระโดง ทิศตะวันตกยาว ๓ เส้น ๑ต วา ติดต่อกับที่ดินของนายป่วย สว่างแจ้ง ที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๒ แปลง เนื้อที่ ๒ ไร่ ๑ งาน โฉนดเลขที่ ๗๙๗๕,๗๙๗๖

พื้นที่ตั้งวัด เป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมถึง การคมนาคมทางบกมีถนนเข้าสู่วัด ภายในวัดมีอาคารเสนาสนะต่าง ๆ ดังนี้ อุโบสถกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๕ เมตร สร้าง พ.ศ. ๒๕๑๔ แทนหลังเก่า ที่ฝาผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมเรื่อง พุทธประวัติ ทศชาติ ฎีกาพาหุง เบญจศีล เบญจธรรม ประตูหน้าต่างแกะสลักเป็นภาพพุทธประวัติและ พระประจำวัน กุฎีสงฆ์จำนวน ๕ หลัง ส่วนมากเป็นอาคารไม้ หอสวดมนต์ สร้าง พ.ศ. ๒๕๐๙ วิหาร สร้าง พ.ศ. ๒๔๙๙ ฌาปนสถาน หอระฆัง หอปริยัติธรรม ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูป นามว่า " หลวงพ่อกั่ว " หน้าตักกว้าง ๕๘ นิ้ว สูง ๗๓ นิ้ว ปางมารวิชัย เติมชำรุดได้ซ่อมด้วยตะกั่ว ในบางแห่งจึงเรียกนามอย่างนั้นเจดีย์ ๖ องค์ นอกนี้มีหลวงพ่อโสธรจำลอง หลวงพ่อโตจำลอง หลวงพ่อวัดบ้านแหลมจำลองพระศรีอารีย์ และรอยพระพุทธบาทจำลอง

วัดบางโปรง สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๙๑๒ เดิมเป็นที่ปลงศพในสมัยที่พระเจ้าอู่ทองได้เสร็จตรวจราชการ และมีผู้ถึงแก่กรรมด้วยโรคระบาด ต่อมาชาวบ้านก็ได้ปลงศพในที่นั้นด้วย และเลยเรียกบริเวณแถบนั้นว่า " บางปลง " ครั้นได้สร้างวัดขึ้นมาแล้วขนานนามวัดว่า " วัดบางปลง " เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น นามวัดก็ได้เปลี่ยนมาเป็น " วัดบางโปรง " เพื่อมิให้มีความหมายตรงกับคำว่า " ปลงศพ " นั้นเอง วัดบางโปรงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๓ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ได้ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ การศึกษาทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒ จนถึงขณะนี้มีนักธรรมที่เป็นพระภิกษุ ๒๔๓ รูป สามเณร ๒๘ รูป ธรรมศึกษา ๔๒๕ คน นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนการศึกษาของชาติโดยให้ทางราชการ สร้างโรงเรียนประชาบาลสอนระดับประถมศึกษาในที่ดินวัดเนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่เศษ

เจ้าอาวาสจำนวน ๑๐ รูป คือ รูปที่ ๑ พระอาจารย์เพิ่ม รูปที่ ๒ พระอาจารย์เปลื้อง รูปที่ ๓ พระอาจารย์ผัน รูปที่ ๔ พระอาจารย์ฉ่อง รูปที่ ๕ พระอาจารย์เคลือบ รูปที่ ๖ พระใบฎีกาเทพ รูปที่ ๗ พระใบฎีกาไพจิตร รูปที่ ๘ พระปลัดไปล่ กนฺตวณฺโณ รูปที่ ๙ พระครูภัทรสมุทรคุณ พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๙ รูปที่ ๑๐ พระอธิการเกษม พุทธิสาโร อายุ ๔๔ ปี พรรษา ๒๓ ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ จนถึงปัจจุบัน ขณะนี้วัดบางโปรง มีพระภิกษุจำพรรษา ๒๒ รูป สามเณร ๒ รูป ศิษย์วัด ๑๖ คน