ประเพณีบุญกฐินสามัคคี

คำว่า " กฐิน " มีความหมายเกี่ยวเนื่องถึง ๔ ประการ คือ


๑ . เป็นชื่อของกรอบไม้ อันเป็นแม่แบบสำหรับทำจีวรที่อาจเรียกว่า " สะดึง " เนื่องจากสมัยพุทธกาลการทำจีวรให้มีลักษณะตามกำหนดกระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ให้เป็นอุปกรณ์ในการทำผ้านุ่ง / ผ้าห่ม / ผ้าห่มซ้อนที่รวมเรียกว่า จีวร ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ( ผ้านุ่งพระ เรียกสบง / ผ้าห่ม เรียกจีวร / ผ้าห่มซ้อน เรียกสังฆาฎิ ) โดยพระสงฆ์จะช่วยกันทำโดยอาศัยแม่แบบนี้ เมื่อทำเสร็จและพ้นกำหนดกาลแล้วก็จะรื้อไม้แม่แบบเก็บไว้ใช้ในปีต่อ ๆ ไป การรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในโอกาสหน้านี้เรียกว่า " เดาะ " หรือ " กฐินเดาะ " ( เดาะกฐินก็เรียก )

๒ . เป็นชื่อของผ้า ที่ถวายแก่สงฆ์เพื่อทำจีวรตามแบบหรือกรอบไม้นั้น และต้องถวายตามกำหนดเวลา ๑ เดือนดังกล่าว ซึ่งผ้านี้จะเป็นผ้าใหม่ ผ้าเก่าฟอกสะอาดหรือผ้าบังสุกุล ( ผ้าที่เขาทิ้งแล้ว ) ก็ได้ ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์หรือภิกษุสามเณรก็ได้ ถวายแก่สงฆ์แล้วเป็นอันใช้ได้

๓ . เป็นชื่อของบุญกิริยา คือ การทำบุญถวายผ้ากฐินเพื่อให้สงฆ์ทำเป็นจีวร ซึ่งต้องเป็นพระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ ๓ เดือน ทั้งนี้ เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าใหม่ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐินหรือที่เรียกกันติดปากว่า " ทอดกฐิน " ก็คือการทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำถวายในท่ามกลางสงฆ์ และต้องทำในเวลาที่กำหนด ๑ เดือนที่ว่า ถ้าทำก่อนหรือหลังไม่ถือว่าเป็นกฐิน

๔ . เป็นชื่อของสังฆกรรม คือ กิจกรรมของสงฆ์ที่จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

อานิสงส์หรือผลดีของการทอดกฐิน

การทอดกฐินถือเป็นการทำบุญพิเศษที่ทำได้เพียงปีละครั้ง และต้องอยู่ภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือนตามพุทธบัญญัติ ดังนั้น อานิสงส์ หรือผลดีจึงมีหลายประการ กล่าวคือ ได้สงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผ้านุ่งห่มใหม่ ได้ชื่อว่าทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างกุศลจิตแก่ผู้ทำบุญเพราะทำด้วยความเลื่อมใสศรัทธา อีกทั้งการทอดกฐินยังก่อให้เกิดความสามัคคี เป็นการร่วมมือกันทำคุณงามความดี และหากการถวายกฐินนั้นมีส่วนในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ก็จะได้ชื่อว่ามีส่วนช่วยรักษาศาสนสถานและศาสนวัตถุให้ยั่งยืนต่อไป