วัฒนธรรม

แกลมอ

การเล่นมอ ชาวไทยกูย เรียกว่า “แกลมอ” ซึ่งมักเล่นในตอนกลางวัน สาระในการเล่นมักจะเกี่ยวกับการขี่ช้าง ขี่ม้า การจับช้าง แสดงถึงการหึงหวงช้างของตน แกลมอมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชนกลุ่มนี้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับความอยู่ดี มีสุขของสมาชิกในสังคม ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนั้น อาจมีสิ่งผิดปกติหรือไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็นเช่น สิ่งของสำคัญสูญหาย เกิดการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้เกี่ยวข้อง จึงต้องหาวิธีการในการผ่อนคลายความกังวลใจ ความวิตกจนเกินเหตุให้ลดน้อยลง ชาวบ้านตรึม ตำบลตรึม อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เป็นชาวไทยกูย กุล่มหนึ่งที่ยังมีความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณค่อนข้างสูง ดังเช่นความเชื่อในเรื่องผีมอ เป็นผีที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก แม้ผีมอจะไม่ใช่ผีของบรรพบุรุษในสายตระกูลที่ล่วงลับไปแล้วก็ตาม แต่ผีมอก็มีอำนาจควบคุมพฤติกรรมทั้งสายตระกูล ซึ่งไม่สามารถล่วงรู้เลยว่า ผีมอจะทำให้เกิดอะไรในครอบครัว โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนในสายตระกูลซึ่งบางครั้งพฤติกรรมบางอย่างที่กระทำลงไปโดยไม่ตั้งใจหรือตั้งใจก็ตาม จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายให้เกิดเจ็บป่วยได้ทุกเมื่อ ด้วยเหตุนี้ แกลมอจึงเป็นพิธีกรรมที่ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยที่ไม่ทราบสาเหตุแต่ผ่านพิธีการเสี่ยงทายแล้วว่าเป็นการกระทำของสิ่งที่มองไม่เห็นที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของคนในครอบครัวในสายตระกูล

ความเป็นมาของพิธีกรรมการเล่นแกลมอ

พิธีกรรมแกลมอ เป็นประเพณีของชาวบ้านตรึม เรียกตามภาษาถิ่นว่า แกลมอ มีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏที่แน่ชัด ทราบแต่เพียงว่าพิธีกรรมเหล่านี้มีมานานแล้ว พวกชาวไทยกูยรับถ่ายทอดต่อเนื่องกันมาอีกทอดหนึ่ง และปฏิบัติมาโดยตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้ โดยจัดขึ้นเนื่องใน ๓ โอกาสคือ

๑.เพื่อเป็นการเคารพครูบาอาจารย์ ปู่ยา ตายายที่เคารพ เมื่อถึงวันสำคัญในรอบปีก็ดำเนินพิธีกรรมขึ้นปีละ ๑ ครั้ง ในวันขึ้น ๘ หรือ ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ของทุกปี

๒.บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถบันดาลทุกข์สุข เชื่อว่าผู้ที่เคารพกราบไหว้ จะทำให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อเกิดเหตุไม่ดีกับสมาชิกในครอบครัว ญาติ มีการเจ็บป่วย จะมีการบนบาน เมื่อได้ตามที่บนบานไว้จึงจัดพิธีแก้บน

๓.การประกอบพิธีกรรมเพื่อรักษาผู้ป่วย ซึ่งเป็นการอัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมาให้ความช่วยเหลือ ขอคำแนะนำผ่านล่าม หรือคนทรงเพื่อหาสาเหตุของการเจ็บป่วย และหาทางรักษาตามความเชื่อ

เครื่องเซ่นไหว้พิธีกรรมการเล่นแกลมอ

เครื่องเซ่นบนร้านปะรำพิธีชั้นบนสุดใช้ไม้ไผ่สานเป็นตาห่างๆ สำหรับวางขันใส่ข้าวตอกดอกไม้ จำนวน ๔ ชุด ข้างๆ แขวนไยแมงมุม และไข่ไก่ ชั้นล่างใช้ไม้ไผ่ผูกเชือกทั้ง ๓ ด้าน ข้างๆ มีผ้าถุง ผ้าขาวม้าสีต่าง ๆ ตรงกลางวางทับด้วยดาบซึ่งพันด้วยด้าย ๓ สีของแม่มอ ด้านล่างมีถาดเครื่องไหว้ครู ๑ ชุด ประกอบด้วย กระจก หวี แป้ง น้ำมันมะกอก ข้าวสาร กรวยใส่ดอกไม้ ผ้าขาวม้า ผ้าถุง อย่างละ ๑ ผืน กลอง แคน หิ้งมอ ขันใส่ข้าวสาร

เครื่องดนตรีที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม

กลองโทน ๑ ใบผู้เล่นดนตรี เรียกว่า “มือกลอง” จังหวะที่เล่น เร็วกว่าจังหวะรำเซิ้งเล็กน้อย จังหวะที่ตีกลองคือ ป๊ะ-เท่ง, เท่ง-ป๊ะ, เท่ง-เท่ง “มือกลอง” ได้รับค่าตอบแทนจากเจ้าภาพที่จัดพิธีกรรมในแต่ละครั้งจำนวน ๒,๐๐๐ บาท

แคน จำนวน ๑ เต้า ผู้เล่นดนตรี เรียกว่า “หมอแคน” จะเตรียมมาครั้งละ ๒ เต้า ได้รับค่าตอบแทนจากเจ้าภาพที่จัดพิธีกรรมในแต่ละครั้ง จำนวน ๒,๐๐๐ บาท

ปะรำประกอบพิธีกรรม

ในการประกอบพิธีแกลมอใช้ลานกว้างบริเวณที่เป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าภาพหรือผู้ป่วย ส่วนมากเป็นบ้านเจ้าโคตรซึ่งเป็นหัวหน้าสายตระกูล ตั้งประรำพิธีชั่วคราวเป็นโรงไม้ ๔ เสา ปักเป็นมุมกว้างยาว ๔ เมตร มุงหลังคาด้วยใบมะพร้าวหรือหญ้าคา เพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธี กลางปะรำพิธีมีการสร้างร้านโดยปักเสา ๓ ต้น ใช้ไม้ ๒ ต้น และต้นกล้วย ๑ ต้น ทำเสาสูงถึงหลังคาของปะรำ ชั้นบนขัดเป็นตาห่างๆ ไว้สำหรับตั้งวางขันดอกไม้ ชั้นที่ ๒ พาดผ้าถุง และผ้าขาวม้า วางทับด้วยมีดดาบของครูบามอ ภายในปะรำจะปูตาข่ายตาถี่วางทับด้วยเสื่อสำหรับให้ผู้เล่นได้เข้าไปนั่งทำพิธี ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องห้ามเข้าในบริเวณดังกล่าว การประกอบพิธีกรรมจะทำในเวลากลางวัน

ขั้นตอนการรักษาผู้เจ็บป่วยด้วยพิธีกรรมการเล่นแกลมอ

เมื่อจัดเตรียมพิธีกรรมการเล่นแกลมอเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมเริ่มขึ้นด้วยการแต่งกายของแม่มอและมอทุกคน และการแต่งกายนั้นยังคงสืบทอดอนุรักษ์ต่อมาจนถึงปัจจุบัน แม่มอและมอนิยมนุ่งผ้าถุงโทนสีดำ สีน้ำตาล เป็นส่วนใหญ่ และใส่เสื้อทรงกระบอกแขนยาว ปล่อยชายเสื้ออยู่นอกผ้าถุง พาดทับเฉียงด้วยผ้าสไบสีดำ สวมเครื่องประดับที่เป็นสายสร้อย ต่างหู และกำไลข้อมือที่ทำจากเงิน

แม่มอและมอทั้งหมดลุกขึ้นรำ ๓ รอบแล้วทำพิธีกินบายศรี (อาหารที่จัดสำหรับเหมือนตอนแรก) เมื่ออิ่มหนำสำราญแล้วก็จะทำพิธีออกจากร่าง ปฏิบัติเหมือนตอนแรกที่เริ่มเข้าทรงเป็นการปล่อยผีมอให้ไปอยู่ที่เดิม ตอนออกจากร่าง หมอแคนเป่าแคนให้ทำนองคนเดียว ไม่ตีกลองให้จังหวะเพราะเชื่อว่าหากได้ยินเสียงกลองมอจะไม่ยอมออกจากร่าง มอออกจากร่างก่อนหลังตามอาวุโสของมอคือ จากน้อยไปหามากแม่มอจึงออกร่างเป็นคนสุดท้าย เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการเล่นแกลมอ

การประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่าแกลมอ เชื่อว่าบุคคลที่เป็นร่างทรงของผีมอนั้น ไม่ใช่ตัวเอง จึงยอมรับว่ามีวิญญาณสิงอยู่ในร่างของตน ด้วยเหตุผลหลายประการคือ เวลาขณะที่ประกอบพิธีจะสื่อด้วยภาษาลาว ชื่อที่ใช้เรียกตัวเองและคนเรียก (รวมถึงบุคคลที่อยู่นอกพิธีกรรม) เรียกชื่อผีที่สิงร่างอยู่และบุคลิกส่วนตัวยามปกติจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยอย่างเด่นชัด จึงทำให้เชื่อว่ามีวิญญาณของผีเข้ามาสิงร่างจริง สำหรับชื่อมอ เป็นชื่อผีผู้ชายทั้งหมด มีคำนำหน้าว่าท้าวทุกชื่อ ชื่อเหล่านั้นจึงไม่ใช่ชื่อทั่วไป เช่น นางศรี ดัชถุยาวัตร มอชื่อท้าวบุญเฮือง ชื่อเหล่านี้สัมพันธ์กับชื่อในนิทานปรัมปราที่เล่าสืบต่อกันมาว่ามอเป็นผีเร่ร่อนมาจากถิ่นอื่นมักจะมาจากเมืองลาวซึ่งเป็นผีเร่ร่อนหาที่อยู่ไม่ได้ อดโซมานานแล้ว จึงได้มากระทำให้กลุ่มคนเกิดการเจ็บป่วยขึ้น

การบำบัดรักษาด้วยพิธีกรรมแกลมอที่ยืดถือปฏิบัติเป็นการเยียวยาบำบัดให้หายจากการทรมานทั้งทางกายและจิตใจ พิธีแกลมอประกอบขึ้นยามเหตุการณ์วิกฤตในครอบครัว จึงเป็นวิธีการบำบัดอีกวิธีหนึ่งที่ยังคงยึดมั่นค่อนข้างเหนียวแน่เกือบทุกผู้ทุกคน สังเกตได้จากการเข้าร่วมพิธีกรรมของกลุ่มชนทุกเพศทุกวัย พิธีและการเล่นแกลมอจึงมีความสำคัญต่อระบบครอบครัว โดยเฉพาะความเป็นญาติพี่น้องในสายตระกูลอย่างเหนียวแน่น