ชื่อเรื่อง ผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้าย
ชุมชน บ้านอนามัย หมู่ที่ 11 ตำบลนาดอกคำ อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย
บ้านอนามัย แยกการปกครองออกมาจากบ้านนาดอกคำ หมู่ที่ 2 ตำบลนาดอกคำ เดิมหมู่บ้านยังไม่มีสถานีอนามัย ประจำหมู่บ้านและตำบล ทางผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ร่วมกับกำนันตำบลนาดอกคำ และหมู่บ้านใกล้เคียง ร่วมกันบริจาคเงินซื้อที่ดินเพื่อจัดตั้งสถานีอนามัย ขึ้น จึงได้ตั้งชื่อบ้านว่า บ้านอนามัย โดดยมีแหล่งน้ำที่สำคัญ คือลำพะเนียงแล้ง
ซึ่งครั้งในอดีต ฝ้ายถือว่าเป็น พืชเศรษฐกิจ ที่สำคัญของอำเภอนาด้วง และจังหวัดเลย โดยการทอผ้าฝ้ายได้มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึงชาวบ้านในหมู่บ้าน ต้องการที่จะเพิ่มรายได้ พร้อมทั้งการใช้เวลาว่างจากการทำการเกษตร หรือทำเป้นอาชีพเสริม ได้รวมกลุ่มกัน ปลูกฝ้ายเพื่อที่จะนำมาผลิตเป็นเส้นด้าย ที่จะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยได้รับการสนับสนุน จาก กศน.ตำบลนาดอกคำ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอนาด้วง ,พัฒนาชุมชน อำเภอนาด้วง ได้ดำเนินการจัดหาวิทยากร มาให้ความรู้เพิ่มเติม และได้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ ผ้าฝ้าย กระเป่า หมวก เป็นต้น
ขั้นตอนการทอผ้าฝ้าย
ขั้นตอนที่ 1:นำฝ้ายเป็นใจมาคลี่ออกใส่กงกว๊าง เพื่อนำไปพันใส่บ่าหลุกกวักฝ้าย แล้วนำมาขินหรือปั่นใส่กระป๋องหรือหลอดไม้ขนาดใหญ่ การปั่นฝ้ายใส่กระป๋อง ถ้าต้องการเส้นฝ้ายที่มีเส้นใหญ่ อาจจะปั่นครั้งละ ๒-๓ ใจ ให้เส้นฝ้ายมารวมกัน
ขั้นตอนที่ 2:นำกระป๋องที่มีเส้นฝ้ายพันอยู่ไปเรียงตามลำดับ สี ของเส้นฝ้ายเส้นยืนตามลวดลายที่จะทอ โดยนำมาเรียงครั้งละประมาณ 40 กระป๋อง จะได้เส้นฝ้ายยืนครั้งละ 40 เส้น แล้วนำแต่ละเส้นไปคล้องกับบันไดลิง เพื่อไม้ให้เส้นฝ้ายพันกันและขึ้นเฟือขอต่อไป
ขั้นตอนที่ 3:นำฝ้ายเส้นพุ่งจากบันไดลิงมาขึ้นเฟือขอ ซึ่งเฟือขอจะทำหน้าที่สำหรับเรียงฝ้ายเส้นยืนตามความยาวที่ต้องการ และทำการสลับเส้นยืนสำหรับใช้กับตะกอเส้นขึ้นเส้นลงด้านล่างของเฟือขอเมื่อสิ้นสุด การเรียงเส้นฝ้ายจะนำแต่ละเส้นมาม้วนเพื่อให้เกิดลักษณะของการสลับเส้น สำหรับการทอยกเป็นเส้นขึ้นเส้นลงที่ด้านล่างขาวของเฟือขอ
ขั้นตอนที่ 4: นำกลุ่มฝ้ายเส้นยืนจากเฟือขอมาขึ้นกี่ แล้วคลี่ฝ้ายเส้นยืนตามที่ได้กำหนดไว้ โดยใช้เขี้ยวหมาหรือฟันปลาเป็นตัวช่วยในการสางเส้นฝ้ายแต่ละกลุ่มเส้นออกจากกัน เส้นด้ายในการทอลายหนึ่ง เพื่อแยกเส้นด้ายในการนำไปสืบฝ้ายกับเขาฟืม
ขั้นตอนที่ 5: หากทอลายเดิมที่เคยทอมา ก็จะนำฝ้ายเส้นยืนใหม่มาต่อกับเศษผ้าฝ้าย หรือเชิงชายที่ตัดมาจากการทอครั้งก่อนที่เรียกว่า "เครือ" เมื่อทอผ้าเสร็จแล้ว ช่างทอจะตัดผ้าที่ทอแล้วออกจากกี่ โดยคงเหลือเศษผ้าฝ้ายหรือเชิงชายจากการทอให้ติดอยู่กับตะกอและฟืม เพื่อเป็นต้นแบบของลาย หากจะมีการทอลายนั้นในครั้งต่อไป เพื่อให้การสืบต่อลายทำได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าไม่เก็บไว้ การเริ่มต้นขึ้นลายใหม่จะมีความยากลำบากมาก ดังนั้นช่างทอจึงต้องเก็บลายไว้ทุกเครือ เนื่องจากเส้นยืนมีความยาวมาก ก่อนทอหรือเมื่อทอไปได้สักระยะหนึ่ง เส้นยืนอาจจะพันกันได้ ดังนั้นจึงต้องคอยคลี่จัดเส้นยืนออกไม่ให้พันกัน
ขั้นตอนที่ 6: หลังจากการสืบลายแล้ว สามารถเริ่มกระบวนการทอได้ โดยการเหยียบไม้เหยียบเพื่อยกเขาฟืมขึ้นลง แล้วพุ่งกระสวยสอดเข้าไปในช่องว่างระหว่างเส้นยืน ให้เส้นพุ่งพุ่งไปขัดกับเส้นยืน และใช้ฟืมดันให้เส้นพุ่งอัดเรียงกันแน่น แล้วใช้เท้าเหยียบไม้เหยียบให้ตะกอเส้นยืนสลับขึ้นลง และพุ่งกระสวยกลับไปกลับมาขัดกับเส้นยืน หลังจากที่พุ่งเส้นพุ่ง ไป มา และใช้ฟืมดันให้เส้นพุ่งแน่นหลายๆ ครั้ง ก็จะได้ผ้าทอเป็นผืน แล้วนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไป
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
- ผลิตภัณฑ์ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการย้อมสีฝ้าย โดยวัตถุดิบมาจากธรรมาชาติ
- การนำเอาอัตลักษณ์ของชุมชนผสมผสาน สร้างสัญลักษณ์และลวดลายที่สอดคล้องกับแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน
- ผลิตภัณฑ์ มีความสวยงาน อายุการใช้งานยาวนาน
ตำแหน่งที่ตั้ง : บ้านเลขที่ 73 บ้านอนามัย หมู่ที่ 11 ตำบลนาดอกคำ อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย 42210 การเดินทาง ดูเส้นทางดีที่สุดสำหรับสภาพการจราจรปัจจุบันที่ https://maps.app.goo.gl/iUwZjwiBaretvUQV7หรือจับพิกัดได้ที่ 17.4793252,101.9702443
ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นายพันยศ งามนาเสียว
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นายพันยศ งามนาเสียว
แหล่งข้อมูล นางทองพันธ์ มนต์ไทยสงค์
ภาพคิวอาร์โค้ดที่ระบุพิกัดแหล่งเรียนรู้/ภูมิปัญญาท้องถิ่น สําหรับให้บุคคลที่สนใจสแกนหาพิกัด
ของแหล่งเรียนรู้/ภูมิปัญญาท้องถิ่น