การทำนาขั้นบันได

การปลูก การดูแลรักษา และการใส่ปุ๋ยนนาข้าว

การทำนาขั้นบันได

การคัดเลือกพื้นที่

การขุดปรับพื้นที่นาขั้นบันได

การปรับปรุงบำรุงดิน

การปลูกข้าว

การใส่ปุ๋ย

การให้น้ำ

การป้องกันกำจัดโรคและแมลง

การควบคุมวัชพืช

การทำนาขั้นบันได

การทำนาขั้นบันไดเป็นการทำนาบนพื้นที่สูงโดยการขุดปรับพื้นที่สภาพไร่ซึ่งเคยใช้ปลูกข้าวไร่หรือพืชไร่อื่นๆ ปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่นา ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการลดปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าว และสร้างความมั่นคงทางอาหารบนพื้นที่สูง

1. การคัดเลือกพื้นที่

่ควรพิจารณาเลือกพื้นที่ที่ไม่มีความลาดชันมากนัก เนื่องจากการขุดปรับพื้นที่ทำได้ค่อนข้างยากและจะได้พื้นที่ปลูกข้าวในกระทงนาที่แคบ การทำงานได้ไม่สะดวก และควรเลือกพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ สามารถทำระบบส่งน้ำมายังแปลงนาได้ หรือจัดหาน้ำมายังแปลงนาได้ในอนาคต

2. การขุดปรับพื้นที่นาขั้นบันได

การขุดปรับพื้นที่นาขั้นบันไดสามารถทำได้โดยใช้แรงงานคน หรือใช้เครื่องจักรกล แต่ในบางพื้นที่อาจมีข้อจำกัดในการใช้เครื่องจักรกลเนื่องจากไม่มีถนนเข้าสู่พื้นที่ การใช้แรงงานคนเป็นวิธีการที่เหมาะสมในหลายพื้นที่และเจ้าของนามีความภาคภูมิใจผลงานที่ตนได้ดำเนินการเอง รวมทั้งมีความเอาใจใส่ที่จะบำรุงรักษาเมื่อเกิดการชำรุด การขุดปรับพื้นที่นาสามารถทำได้ 2 วิธี คือ

2.1.การขุดดินจากล่างขึ้นบน เป็นการขุดดินจากขอบแปลงด้านล่างขึ้นไปทำเป็นคันนาเหนือจุดที่ขุดดิน พร้อมทั้งปรับแปลงให้มีความสม่ำเสมอ การขุดปรับพื้นที่นาแบบนี้มีข้อดีคือโครงสร้างของดินในแปลงนาจะถูกรบกวนน้อย หน้าดินจะไม่ถูกเคลื่อนย้ายจึงทำให้ยังรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินเดิมไว้ได้ สามารถทำให้น้ำขังในแปลงนาได้เร็วขึ้น

2.2. การขุดดินจากบนลงล่าง เป็นการขุดดินจากส่วนบนของแปลงที่สูงกว่ามาถมส่วนล่างของแปลงที่ต่ำกว่าเพื่อปรับให้แปลงนามีความสม่ำเสมอ การขุดปรับพื้นที่นาโดยวิธีนี้สามารถทำได้ง่ายเกษตรกรส่วนใหญ่คุ้นเคย และสามารถใช้เครื่องจักรกลได้ แต่การขุดปรับพื้นที่นาโดยวิธีนี้มีข้อจำกัดคือ หน้าดินส่วนบนของแปลงนาจะถูกตัดออกไปเหลือแต่ดินชั้นล่างความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ จึงทำให้การเจริญเติบโตของข้าวในระยะแรกไม่ค่อยดี ส่วนหน้าดินที่ตัดออกไปจะถูกนำไปถมในส่วนล่างของแปลงนาและปรับเป็นคันนา จึงทำให้ข้าวที่ปลูกในพื้นที่ส่วนล่างเจริญเติบโตได้ดีกว่า การแก้ปัญหาสามารถทำได้โดยการขุดเอาดินชั้นบนของกระทงนาที่อยู่เหนือขึ้นไปนำไปใส่แปลงนาที่อยู่ด้านล่างปรับระดับให้สม่ำเสมอ การปรับพื้นที่ในแปลงนาให้สม่ำเสมอทำได้โดยการปล่อยน้ำเข้าในแปลงแล้วปรับพื้นที่ให้น้ำท่วมพื้นที่ในแปลงให้สม่ำเสมอกัน หรือถ้าไม่สามารถปล่อยน้ำเข้าแปลงได้ก็ใช้การสังเกตและค่อยๆปรับระดับให้สม่ำเสมอ

3. การปรับปรุงบำรุงดิน

นาขั้นบันไดหลังจากปรับพื้นที่เสร็จใหม่ๆความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงจะไม่สม่ำเสมอ โครงสร้างของดินยังไม่เหมาะสมในการทำนา ดังนั้นจะต้องปรับปรุงบำรุงดินโดยการเพิ่มอินทรียวัตถุ โดยการใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือการปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด นอกจากนี้จะต้องมีการปรับสภาพความเป็นกรดด่างของดิน และเพิ่มเติมธาตุอาหาร เช่น ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ตามค่าการวิเคราะห์ดิน

4. การปลูกข้าว

ในปีแรกๆของการขุดปรับพื้นที่เป็นนาขั้นบันได บางพื้นที่ไม่สามารถขังน้ำได้จึงต้องปลูกข้าวไร่โดยการหยอดเป็นหลุม แต่ในพื้นที่ที่สามารถปรับและขังน้ำได้ก็สามารถปลูกข้าวโดยวิธีปักดำ แต่ควรใช้ระยะปักดำให้ถี่ขึ้นเนื่องจากข้าวจะแตกกอน้อย โดยอาจใช้ระยะปักดำ 20 x 20 ซม. จำนวนกล้า 3-5 ต้นต่อจับ

5. การใส่ปุ๋ย

นาขั้นบันไดบนพื้นที่สูงควรเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เนื่องจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรโดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งสามารถหาได้ในท้องถิ่น หรือเกษตรกรสามารถผลิตเองได้ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เป็นต้น ในกรณีที่ไม่เพียงพออาจใช้ปุ๋ยเคมีเสริมเท่าที่จำเป็น

6. การให้น้ำ

เพื่อลดปัญหาน้ำไม่เพียงพอ และกระจายน้ำให้กับเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง การบริหารจัดการน้ำโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน(ระบบแก่เหมือง) จะทำให้การทำนาขั้นบันไดมีประสิทธิภาพมากขึ้น

7. การป้องกันกำจัดโรค และแมลง

ข้าวนาขั้นบันไดส่วนมากใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่มีความต้านทานต่อโรคในท้องถิ่น แต่ปัจจุบันมีการระบาดของแมลงบางชนิดได้แก่ เพลี้ยอ่อนในดิน เพลี้ยกระโดดหลังขาว และแมลงบั่ว ซึ่งจะต้องมีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูต่างๆ ตามคำแนะนำ และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ด้วย

8.การควบคุมวัชพืช

การขังน้ำในแปลงนาสามารถลดปัญหาวัชพืชได้ระดับหนึ่ง ถ้าหากยังมีวัชพืชก็ใช้แรงงานคนถอน แต่ในแปลงนาที่ไม่สามารถขังน้ำได้วัชพืชเป็นปัญหาสำคัญในการปลูกข้าว ดังนั้นการเตรียมดินโดยการไถพรวน การขุดพรวนดินในระยะแรกของการเตรียมดินจะช่วยลดปัญหาวัชพืช แต่หลังจากปลูกข้าวแล้วจะต้องกำจัดวัชพืชอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกหลังข้าวงอก 20 – 25 วัน และอีกครั้งหนึ่งหลังข้าวงอก 40- 45 วัน ถ้าพบว่ายังมีวัชพืชรุนแรงอาจกำจัดวัชพืชอีกครั้งหนึ่งได้