ความเป็นมาของบ่อเกลือ
เดิมทีบ่อเกลือมีชื่อว่า “เมืองบ่อ” ซึ่งก็น่าจะหมายถึงบ่อน้ำเกลือสินเธาว์นี่แหละ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ในอดีตกาลเมืองบ่อแห่งนี้เป็นชุมชนขนาดใหญ่และภายในพื้นที่รอบๆ นี้เคยมีบ่อน้ำเกลือสินเธาว์มากถึง 9 บ่อด้วยกัน แต่ก่อนที่จะมีชุมชนมาอาศัยอยู่นั้น บริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบมาก่อนจนมีนายพรานผู้หนึ่งผ่านมาเห็นเหล่าสัตว์ทั้งหลายมากินน้ำกันที่นี่ พอได้ชิมดูจึงรู้ว่าน้ำมีรสเค็ม ความได้ล่วงรู้ไปถึงหูของเจ้าหลวงภูคาและเจ้าหลวงบ่อ จึงได้เกิดการแข่งขันพุ่งสะเน้า (หอก) เพื่อครอบครองบ่อน้ำเกลือ เจ้าหลวงภูคาพุ่งหอกออกไปทางทิศตะวันตกของลำน้ำมาง ส่วนเจ้าหลวงบ่อพุ่งหอกไปทางทิศตะวันออกของแม่น้ำมาง ซึ่งทั้งสองจุดที่หอกพุ่งไปถึงนั้น ชาวบ้านที่มาชมการแข่งขันก็ได้นำหินมากองไว้และตั้งเป็นโรงหอทำพิธีระลึกตอบแทนบุญคุณเจ้าหลวงทั้งสองทุกปี ชาวบ้านเชื่อกันว่าบ่อน้ำเกลือแต่ละบ่อนั้นมี “เจ้าซางคำ” คอยปกปักรักษาอยู่ ดังนั้นทุกวันแรม 9 ค่ำ เดือน 5 ชาวบ้านบ่อหลวงจะทำพิธีบวงสรวงเจ้าหลวงบ่อเรียกว่า “พิธีแก้ม” จะมีการเลี้ยงเจ้าหรือเลี้ยงผี เพื่อขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้ปกป้องคุ้มครองและให้เกลือแก่พวกเขาใช้ทำมาหากินมาตลอดระยะเวลา 1 ปี รวมถึงในช่วงเข้าพรรษาที่ทางหมู่บ้านจะปิดไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าออกด้วยยานพาหนะทุกชนิดด้วยเช่นกัน
ส่วนวิธีการผลิตเกลือสินเธาว์ของชาวบ่อเกลือมีด้วยกันหลายขั้นตอนและยังคงใช้วิธีการแบบดั้งเดิมอยู่ เริ่มจากการสร้างเตาด้วยดินเหนียวให้มีลักษณะเป็นรูปโดมและเว้นความกว้างของปากเตาไว้ประมาณ 1 เมตรเพื่อวางกระทะใบบัวไว้ด้านบน ส่วนน้ำเกลือจะถูกตักจากบ่อส่งผ่านมาตามท่อสู่บ่อพักน้ำของแต่ละบ้าน เมื่อน้ำเกลือถูกพักไว้ให้สิ่งปนเปื้อนตกตะกอนแล้วจึงตักน้ำมาต้มในกระทะอีกกว่า 4 ชั่วโมง จนเกลือตกผลึกค่อยตักขึ้นมาพักไว้ในชะลอมไม้ไผ่ที่แขวนอยู่ด้านบนให้สะเด็ดน้ำ แล้วค่อยนำเกลือไปเติมสารไอโอดีนก่อนบรรจุใส่ถุงพร้อมขาย นอกจากเกลือสินเธาว์ที่มีวางขายอยู่ตามบ้านแล้ว ชาวบ้านยังนำไข่ไก่มาต้มในน้ำเกลือจนเปลือกไข่ถูกผลึกเกลือเกาะไว้จนขาวโพลนไปหมด เวลากินก็จะได้รสเค็มปะแล่มๆ จากเกลือที่ติดนิ้วอยู่โดยไม่ต้องพึ่งซอสปรุงรสอะไรเพิ่มเข้าไปอีก พอได้เดินชมวิธีการต้มเกลือสินเธาว์ตามบ้านต่างๆ แล้ว เราก็ไม่ลืมที่จะไปเดินดูชาวบ้านตักน้ำเกลือจากบ่อที่เหลืออยู่เพียง 2 แห่งเท่านั้นในหมู่บ้าน ซึ่งเค้ามีกฎเหล็กห้ามบุคคลภายนอกขึ้นไปเหยียบบนปากบ่อโดยเด็ดขาด เราจึงทำได้แค่ชะโงกหน้าอยู่ตรงปากบ่อเท่านั้น อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจของชาวบ้านก็คือ การล้างทำความสะอาดกระทะต้มเกลือในลำน้ำมางนั่นเอง ด้วยความที่กระทะแต่ละใบเมื่อถูกต้มมาเป็นเวลานานๆ คราบเกลือที่เกาะอยู่ก็จะหนาขึ้นๆ รวมถึงคราบเขม่าควันที่เกาะอยู่ที่ก้นกระทะด้วยเช่นกัน การที่จะขัดล้างทำความสะอาดจึงต้องอาศัยแรงและเวลาอยู่พอสมควร ชาวบ้านจึงมักจะนำกระทะเหล่านี้ไปแช่ไว้ในลำน้ำมาง เพื่อให้กระแสน้ำและทรายแม่น้ำชะล้างคราบเกลือให้ออกไป รวมถึงการใช้หินแม่น้ำมาขัดล้างกระทะให้สะอาดเอี่ยมดังเดิม ซึ่งวิถีชีวิตการต้มเกลือนี้ถูกสืบทอดกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน โดยที่ทุกๆ ขั้นตอนก็ยังคงเรียบง่ายไร้เครื่องมือหรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกใดๆ ที่สำคัญวิธีการต้มเกลือสินเธาว์แบบโบราณนี้เรายังคงหาชมได้ที่บ่อเกลือเพียงแห่งเดียวเท่านั้นอีกด้วย
การเดินทางไปบ่อเกลือ
1. โดยรถยนต์ส่วนตัว
– จากจังหวัดน่าน ขับไปทางอำเภอสันติสุข ก่อนถึงอำเภอสันติสุขประมาณ 2 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายจากนั้นขับตรง ไปแล้วเลี้ยวขวาสู่อำเภอบ่อเกลือ
– จากจังหวัดน่าน ขับไปทางอำเภอปัว ขับไปจนถึงอำเภอปัว จากนั้นใช้ถนนสาย 1256 มุ่งหน้าอุทยานแห่งชาติ ดอยภูคาจากนั้นขับไปตามเส้นทาง มุ่งหน้าสู่อำเภอบ่อเกลือ
2. รถประจำทาง
จากอ.เมืองน่าน นั่งรถสายน่าน-ปัว แล้วต่อรถสายปัว-บ่อเกลือ ลงที่อ.บ่อเกลือ