ความเป็นมา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถไปทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารห่างไกล การคมนาคมทั่วทุกภาคของประเทศ ทรงพบปัญหาความยากจนและความทุกข์ยากของประชาชนด้วยพระองค์เอง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนขาดแคลนอาหารที่จะบริโภค เป็นโรคขาดสารอาหารและมีมาตรฐานทางการศึกษาต่ำ สุขภาพร่างกายอ่อนแอเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ทรงเป็นห่วงใยเยาวชนเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นกำลังที่สำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินงาน “โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นต้นมา ปัจจุบันโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนินมากว่า ๒๕ ปี ครอบคลุมพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย รวมทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น ๖ ด้าน คือด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้านงานนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ และทุนพระราชทานเพื่อการศึกษา ด้านการพัฒนาอาชีพ ด้านการพัฒนาพื้นที่แบบบูรณาการ ด้านการพระราชทานความช่วยเหลือ และด้านความร่วมมือระดับนานาชาติ

การดำเนินงานได้รับความร่วมมือจากหน่วยราชการต่างๆ โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินที่องค์การและเอกชนทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศล และเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓ รอบ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ คณะผู้ร่วมดำเนินโครงการฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.)” เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย

“ เพื่อให้เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร มีโภชนาการดี สุขภาพแข็งแรง มีความซื่อสัตย์ เสียสละสามัคคี และเมตตาผู้อื่น มีความรู้และทักษะทั้งทางวิชาการและการอาชีพ ที่เป็นรากฐานของการพึ่งตนเองและพัฒนาท้องถิ่นได้ นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีโอกาสได้รับการศึกษาในระดับสูงขึ้นตามศักยภาพของตนเองเป็นคนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ปัจจุบันมีพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาเด็กและเยาวชนทั้งในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งหมด ๗๗๖ แห่ง กระจายอยู่ทั้ง ๔ ภาคของประเทศ

ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดน่าน จังหวัดตาก และจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน ๒๗๖ ศูนย์ และศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยมอแกนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ๑ แห่ง สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย รวม ๒๗๗ ศูนย์