ประมง
ชุมชนแห่งนี้มีฐานะยากจนรายได้หลักส่วนใหญ่มาจากการทำประมงพื้นบ้านจับปลาจับปูตามชายฝั่งขาย แต่ต้องประสบปัญหาสัตว์น้ำมีปริมาณลดลง เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านมีการจับเกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ เพราะมองว่าทรัพยากรชายฝั่งเป็นของสาธารณะ ชาวบ้านส่วนใหญ่ขาดจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ มีการใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมาย มีการจับสัตว์น้ำในฤดูวางไข่ และมีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนหรือที่ยังไม่ได้ขนาด กลายเป็นวิกฤตของการทำประมงชายฝั่ง ขณะที่หน่วยงานรัฐและผู้เกี่ยวข้องไม่เห็นความสำคัญในสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ประกอบกับโครงสร้างชุมชนไม่เข้มแข็งและขาดองค์ความรู้เรื่องระบบการจัดการทรัพยากรประมงโดยชุมชน ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพและเกิดปัญหาหนี้สินรุนแรง
จากวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ชุมชนประมงพื้นบ้านในตำบลเกาะสาหร่ายหันกลับมาถามหาความต้องการที่แท้จริงของชุมชน และหันมาให้ความสำคัญกับแนวทางการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่งของชุมชน นำมาสู่การจัดทำโครงการศึกษาวิจัยการพัฒนารูปแบบการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง เพื่อการพึ่งพาตนเองของชาวประมงพื้นบ้านในตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ขึ้นในปีพ.ศ.2555 ที่ผ่านมา มี ผศ.ดร.ชัยรัตน์ จุสปาโล อาจารย์จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เป็นหัวหน้าโครงการฯ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสตูล สำนักงานประมงจังหวัดสตูล สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล และสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล เพื่อศึกษาศักยภาพการพึ่งพาตนเองในการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง ศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการจัดการ เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมความสามารถในการจัดการฯ และพัฒนารูปแบบการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง เน้นความสามารถในการพึ่งพาตนเอง