เกาะตะรุเตา
เกาะตะรุเตา เป็นเกาะหลัก เกาะใหญ่ที่สุดในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวน 51 เกาะ ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน บริเวณช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย ในท้องที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล ด้านใต้ของเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ห่างจากเกาะลังกาวี ของมาเลเซีย เพียง 4.8 กิโลเมตร รวมทั้งพื้นที่บนเกาะและทะเลประมาณ 931,250 ไร่ หรือ 1,490 ตารางกิโลเมตร
คำว่า "ตะรุเตา" เป็นภาษามลายู เพี้ยนมาจากคำว่า ตือโละตาวาร์ (Teluk Tawar) แปลว่า "อ่าวจืด" หรือ "อ่าวน้ำจืด" เพราะบนเกาะแห่งนี้เป็นเกาะที่เดียวที่มีธารน้ำจืดอยู่ด้วย
ในทางประวัติศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2479 มีการประกาศพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้าย กรมราชทัณฑ์จึงหาสถานที่ที่มีภูมิประเทศเหมาะสม ซึ่งในที่สุดได้เลือกเกาะตะรุเตาและจัดตั้งขึ้นเป็นทัณฑสถาน โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 กลุ่มบุกเบิกของกรมราชทัณฑ์ ภายใต้การนำของขุนพิธานทัณฑทัย ได้ขึ้นสำรวจเกาะตะรุเตาบริเวณอ่าวตะโละอุดังและอ่าวตะโละวาว เพื่อจัดทำเป็นทัณฑสถาน โดยฟันฝ่าอุปสรรคทางธรรมชาตินานัปการเป็นเวลา 11 เดือน งานบุกเบิกจึงสิ้นสุดลง หลังจากเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2481 เกาะตะรุเตาก็เป็นทัณฑสถานและเป็นนิคมฝึกอาชีพของนักโทษเด็ดขาด และนักโทษผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบนเกาะนี้ เพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 หน้า 566 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 ปลายปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมืองจากคดีกบฏบวรเดช (พ.ศ. 2476) และกบฏนายสิบ (พ.ศ. 2478) จำนวน 70 นาย มายังเกาะตะรุเตาซึ่งถูกกักบริเวณไว้ที่อ่าวตะโละอุดัง โดยจำนวนนักโทษทั้งหมดมีราว 4,000 คน[1]
ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ. 2484-2488) เกาะตะรุเตาถูกตัดขาดออกจากแผ่นดินใหญ่ เกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร ยา และเครื่องใช้ต่าง ๆ ต้นปี พ.ศ. 2487 ผู้คุมนักโทษได้ทำตัวเป็นโจรสลัดเข้าปล้นสะดมเรือบรรทุกสินค้าชาวไทยและต่างประเทศที่แล่นแผ่นไปมา ในที่สุดรัฐบาลไทยและทหารอังกฤษได้เข้าปราบโจรสลัดเกาะตะรุเตาสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2489 และอีกสองปีต่อมากรมราชทัณฑ์ จึงได้ยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตาในที่สุด[1]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 จึงได้มีการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลในที่สุด