นายมุตตอหา ลี้น้อย
ลอบดักปู
ลอบปูเป็นเครื่องมือประมงขนาดเล็กซึ่งต้องใช้เหยื่อล่อ ปัจจุบันชาวประมงเริ่มนำมาใช้จับปูม้า และใช้จับปูทะเลในป่าชายเลน ลอบปูแบบพับ ที่ชาวประมงนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ลอบปูแบบพับ มีหลักการทำงานเช่นเดียวกับลอบทั่วไปคือสัตว์น้ำเข้าได้แต่ออกไม่ได้ มีลักษณะโครงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประกอบขึ้นจากเหล็ก 6 ชิ้นที่เป็นอิสระต่อกันเชื่อมคล้องกันเพียง 2 จุด ทำให้เคลื่อนไหวพับกางได้ ตัวลอบมีความกว้าง 34 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร และสูงเมื่อกางออก 15 เซนติเมตร หุ้มด้วยเชือกไนลอนที่สานเป็นตาข่ายรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดตา 2 x 2 เซนติเมตร มีทางเข้าสองด้าน แต่ละด้านขนาบด้วยส่วนงาที่สานด้วยเชือกไนลอนตาขนาดเดียวกันสอบเข้าหากันจากด้านนอกสู่ด้านในในแนวระนาบ ตาข่ายงาด้านบนมีความยาวมากกว่าด้านล่างเล็กน้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันไม่ให้ปูคลานหนีออกจากลอบ แต่เดิมลอบปูแบบพับใช้จับปูที่อาศัยอยู่ในทะเล เช่น ปูม้า และปูลายทางภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยเรือลำหนึ่งสามารถขนลอบปูแบบพับที่พับเก็บในแนวระนาบแล้วได้ 200 – 800 ลอบ ตามขนาดของเรือ เมื่อทำการประมง จะใส่เหยื่อล่อ เช่น เนื้อปลาหรือหมึกที่มีกลิ่นแรงแขวนไว้ด้านในลอบ และกางปิดลอบ ลอบแต่ละลอบจะมีแท่งเหล็กเชื่อมเพื่อถ่วงน้ำหนัก จากนั้นจึงร้อยลอบเข้ากับเชือกคร่าวทิ้งลงสู่ก้นทะเลที่ระดับความลึกของน้ำ 5 – 10 เมตร มีทุ่นลอยเป็นสัญลักษณ์บอกตำแหน่งของสายลอบ ปกติชาวประมงจะทิ้งลอบในช่วงเย็น และมาเก็บกู้ลอบในช่วงเช้าของอีกวัน
ภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้านการทำลอบดักปู
ประวัติ นายมุตตอหา ลี้น้อย
ปัจจุบัน อายุ 49 ปี เกิดวันที่ 31 ธันวาคม 2514 สัญชาติไทย เชื้อชาติไทย ศาสนาอิสลาม
ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 23/17 หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา รหัสไปรษณีย์ 82000
วุฒิการศึกษา ประถมศึกษา 6 ความสามารถพิเศษ งานหัตถกรรม ปัจจุบันประกอบอาชีพ ประมง มีความรู้ความสามารถในการทำลอบดักปู ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ