บ้านเก่า ลันตาน้อย
บ้านตึกโบราณ แต้เหล็ง
เจ้าของที่ดั้งเดิมเป็นชาวจีนชื่อนายอันกับนางเซี๊ยะ มาจากสลังงอ ประเทศมาเลเซีย มีลูกสาวชื่อ นางกิมจู ต่อมา นายอันกลับเมืองจีน ก่อนไปพาลูกสาวไปฝากไว้กับญาติที่สตูล หลังจากนั้น นายอันฝากญาติมารับกลับเมืองจีน แต่นางกิมจูไม่ไป แต่งงานกับนายโบยง(ฮ่อย่อง) ทุ่งใหญ่ ไปอยู่ที่ลันตาน้อย (แต้เหล็ง) มีญาติพี่น้องชาวจีนตามไปอยู่ด้วย นางกิมจูมีลูกสาวสามคน มีลูกชายคนเดียว เมื่อนายโบยองเสียชีวิต ขณะนั้นโจรผู้ร้ายมาก นางกิมจูส่งลูกสาวคนหนึ่งไปอยู่ปีนัง ญาติพี่น้องแยกย้ายไปอยู่ที่อื่น ส่วนลูกที่เหลือพามาอยู่ เกาะลันตาใหญ่ นางกิมจูแต่งงานกับสามีคนที่สองซื่อต้าว มีลูกสาวคนหนึ่ง แต่งงานกับชาวจีนซึ่งมาค้าขายที่เกาะลันตา ต้นตระกูลโกวิทวัฒนา ลูกสาวที่ไปอยู่ปีนังกลับมาแต่งงานกับชาวจีน ชื่อนายเทียนไล้ แซ่โกย (กิจค้า) ไปสร้างบ้านอยู่ที่เกาะลันตาน้อย (แต้เหล็ง) มีลูกสาว ๖ คน ลูกชาย ๑ คน เป็นลูกบุญธรรมเป็นผู้ชาย อีก ๑ คน ลูกสาวคนโตและคนที่ ๓ แต่งงานกับชาวจีนปีนัง ที่แล่นเรือใบ ๓ เสา มาค้าขายที่เกาะลันตา คนที่ ๒ แต่งกับ ตระกูลอุกฤษณ์ คนที่ ๔ แต่งกับคนสิเกา คนที่ ๕ แต่งกับข้าราชการป่าไม้ ตระกูลเสรีรักษ์ ที่เคยมารับราชการบนเกาะลันตา คนที่ ๖ แต่งกับตระกูลไหวพริบ ลูกชายคนเล็กแต่งกับชาวกันตัง นายเทียนไล้ และนางกิมสี้ ทำธุรกิจเผาถ่านไม้โกงกางส่งออกไปขาย ปีนังและสิงคโปร์ติดต่อค้าขายกับปีนัง
บ้านหลังเดิมเป็นบ้านไม้ยกพื้นหลังคาสังกะสี มีบันไดขึ้นลงหน้าบ้านและหลังบ้าน ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้สร้างบ้านหลังใหม่ขึ้น เป็นบ้านตึก ๓ ชั้น เป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมระหว่างศิลปะตะวันตกและตะวันออก ใช้เทคนิคการสร้างแบบดั้งเดิมเช่นเดียวกับบ้านตึกในยุคนั้น คือไม่ได้ก่ออิฐฉาบปูน แต่จะทำเบ้าไม้ประกบกันเว้นช่องว่างสำหรับเทปูนที่ผสมทรายและน้ำลงไป แล้วรอให้ปูนแห้งจึงถอดไม้ออก เพดานและฝาบ้านจึงมีร่องรอยแผ่นไม้กระดานที่ใช้เป็นพิมพ์สำหรับหล่อปูนทั้งหลัง ภายในบ้านชั้นล่างแบ่งพื้นที่เป็น ๓ ส่วนหน้าบ้านด้านหน้าซ้ายและขวากั้นเป็นห้องนอน ตรงกลางสำหรับเป็นห้องนั่งเล่นและห้องรับแขก ผนังด้านนอกติดกับห้องนอนซ้ายขวา วางโต๊ะฝังเปลือกมุก ทั้ง ๒ ฝั่ง ส่วนผนังกั้นห้องด้านหน้าติดกับประตูทางเข้าไปส่วนกลางของบ้าน ซึ่งเป็นที่ตั้งบันไดทางขึ้นชั้น ๒ และ ๓ เป็นโต๊ะบูชาและภาพเทพเจ้าของชาวจีน ถัดจากห้องกลางติดกับบันไดขึ้นชั้นสอง เป็นประตูทางเข้าห้องครัว และห้องน้ำ ด้านบนชั้น ๒ ซ้ายขวาเป็นห้องของลูกสาว ส่วนชั้น ๓ เป็นห้องของลูกชาย มีระเบียงรอบห้องนอน ด้านหลังเป็นที่แท้งค์น้ำหล่อด้วยปูนสำหรับเก็บน้ำที่สูบขึ้นไปจากบ่อน้ำข้างบ้านเพื่อต่อท่อลงมาใช้ภายในบ้าน นับเป็นบ้านตึกเก่าที่มีอายุ ๖๖ ปี ซึ่งยังคงอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดกระบี่ และยังคงใช้เป็นที่อยู่อาศัยจนถึงปัจจุบัน
สถานการณ์สิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันยังคงมีลูกหลานอยู่อาศัยทั้งชั้นล่างและชั้น ๒ แต่ชั้น ๓ ไม่ได้พักอาศัยแล้ว แท้งค์น้ำก่อด้วยปูนซีเม็นต์หลังห้องด้านนอกยังคงใช้งานได้ดี ตัวตึกทั้งภายในและภายนอกมีการทาสีใหม่ บางส่วนมีการปรับปรุง ซ่อมแซม ต่อเติมแต่พยายามคงสภาพใกล้เคียงกับของเดิมไว้ บริเวณรอบนอกห่างออกไปจากตัวตึกทั้งทางขวามือ และเนินสูงขึ้นไปทางซ้ายมือ มีหลุมฝังศพของบรรพบุรุษที่เป็นเจ้าของบ้านและลูกหลาน ญาติพี่น้อง
ปัญหาที่พบในพื้นที่
ส่วนประกอบภายในตัวบ้านที่ทำด้วยไม้ เช่น วงกบหน้าต่าง และผนังห้องนอน ด้านซ้ายมือ ปลวกจะกัดกินต้องรื้อออก เปิดเป็นพื้นที่โล่ง ห้องน้ำแบบเก่ายังคงใช้งานได้แต่ต้องขึ้นบันไดและแคบมีปัญหาสำหรับผู้สูงอายุ จึงต้องต่อเติมใหม่เพื่อประโยชน์ใช้สอย บันไดขึ้นชั้น ๒ และ ๓ ชันมาก