อาชีพท้องถิ่น

การสาน เซะก๊วะ

บ้านกระเหรี่ยงน้ำตก หมู่ที่ 18 ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เดิมชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านลาคีบนภูเขาที่เป็นต้นกำเนิดน้ำตกคลองลาน ก่อนที่น้ำตกคลองลานจะถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ จากนั้นชาวบ้านจึงได้อพยพย้ายลงมาอยู่บนพื้นราบด้านล่างในปัจจุบัน เรียกว่าหมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก ซึ่งมีพื้นที่ติดกับอุทยานแห่งชาติคลองลาน


ชาวกะเหรี่ยงมีวัฒนธรรม ประเพณีที่มีความสวยงาม และวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทั้งคนละป่า หมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกจึงมีเสน่ห์ในเรื่องของวัฒนธรรมกับธรรมชาติที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของหมู่บ้าน อีกสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของกลุ่มคือ ภาษาและชุดประจำเผ่า ที่ยังคงสวมใส่ในงานประเพณีสำคัญๆ และย่ามสีแดง ที่แสดงถึงความเป็นชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ได้แก่ ชุด เชวา คือ ชุดสำหรับผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน ลักษณะของชุดเป็นสีขาวยาวคลุมข้อเท้า เสื้อเชโม๊ะป๊ะ คือ เสื้อสำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ลักษณะของเสื้อเป็นสีแดง ผ้าถุงกูหนิ คือ ผ้าถุงสำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว เสื้อเชโม๊ะ คือ เสื้อสำหรับผู้ชายในชนเผ่านี้ โดยไม่แบ่งในเรื่องการแต่งงาน แทกะดอ คือ ผ้าโสร่ง หรือ กางเกงโสร่งของผู้ชาย

จากความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และป่าไม้ในหมู่บ้านทำให้เกิดอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยการนำไม้ไผ่ หวาย และกกที่มีอยู่ในป่ามาผสานกับวิถีชีวิตของชนเผ่ากะเหรี่ยง สร้างอาชีพการสาน “เซะก๊วะ” หรือที่ในภาษาไทยเรียกว่ากะทอ เป็นอุปกรณ์ที่ใช่ใส่สัมภาระ พืชผัก และสิ่งของต่างๆ โดยจะมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์มีความแน่นหนา เรียกว่าลายแมงมุม จะเป็นลายที่มีความถี่ของเส้นไม้ไผ่มากที่สุด ซึ่งทำให้เซะก๊วะที่ได้สามารถใส่ข่าวสารได้ นอกจากเซะก๊วะแล้วยังมี “กือ” มีลักษณะคล้ายกับเซะก๊วะแต่แตกต่างกันที่ความถี่ของลาย ซึ่งกือจะมีความถี่น้อยกว่าเซะก๊วะ กือนิยมนำมาใส่พืชผัก ผลไม้ หรือสิ่งของต่างๆที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

การสานเซะก๊วะ ในหมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก มีการทำมานานกว่า 10 ปี ปัจจุบันเซะก๊วะ ได้ถูกดัดแปลงให้มีขนาดเล็กลง และมีรูปทรงที่หลากหลาย จึงเป็นที่รู้จักและเป็นที่ต้องการอย่างแพร่หลายในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ที่นำเซะก๊วะไปเป็นสิ่งของประดับตกแต่งอาคารสถานที่ ร้านกาแฟ หรือตกแต่งในงานพิธีต่างๆ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ทำให้เกิดเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน