ถ้ำพระแม่ย่า

นางเสือง หรือที่ชาวสุโขทัยนิยมเรียกว่า พระแม่ย่า คือพระมเหสีของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นพระมารดาของพ่อขุนบาลเมือง และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตามที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้กล่าวไว้ว่า “...เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้มีกุฎี พิหาร ปู่ครู มีสรีดภงส์ มีป่าพร้าว มีป่าลาง มีป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุงผี เทพดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าผีทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขไทนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอันนั้นบ่คุ้มเกรงเมืองนี้หาย...”

คำว่า "พระขพุงผี" แปลว่าผีที่เป็นใหญ่กว่าผีทั้งหลาย ซึ่งมีการตีความว่าเป็น ผีพระแม่ย่า หรือนางเสืองนั่นเอง สาเหตุที่เรียกว่า "พระแม่ย่า" เนื่องจากคนสมัยก่อนนับถือกษัตริย์ว่าเป็นพ่อ ดังนั้นแม่ของพ่อ (กษัตริย์) จึงเรียกว่า ย่า แปลโดยรวมว่า ย่าผู้เป็นแม่ของพระมหากษัตริย์

ต่อมามีการค้นพบเทวรูปที่สันนิษฐานว่าเป็นรูปสลักนางเสืองอยู่ที่ถ้ำพระแม่ย่าบนเขาพระแม่ย่า ในอุทยานแห่งชาติรามคำแหง และนำมาประดิษฐานไว้ที่ศาลพระแม่ย่าที่หน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัยจวบจนปัจจุบันนี้

ของที่นิยมนำมาถวายแก้บนเทวรูปพระแม่ย่าคือ ขนมหม้อแกง ทางจังหวัดสุโขทัยจะมีการจัดงานสักการะพระแม่ย่าพร้อมกับงานกาชาดราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ทุกๆ ปี ปัจจุบันมีการนำลักษณะเครื่องแต่งกายของเทวรูปพระแม่ย่าไปประยุกต์เป็นชุดของนางระบำในระบำสุโขทัย


ลักษณะเด่น

เคยเป็นเพิงหินขนาดใหญ่เคนเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นพระแม่ย่า -อยู่ภายในบริเวณวัดถ้ำพระแม่ย่า -นมัสการ กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ -อยู่ภายในพื้นที่ความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติรามคำแหง

ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานเดิมของพระแม่ย่า ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโบราณสมัยสุโขทัย อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวสุโขทัย



สักการะขอพร “ พระแม่ย่า ” สุโขทัย


ศาลพระแม่ย่า เป็นสถานที่ 1 ใน 10 ของ "10 สิ่งที่ต้องทำในสุโขทัย" นั่นคือ "การไหว้สักการะพระแม่ย่า" เนื่องจากเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสุโขทัยอีกสิ่งหนึ่ง เดิมพบองค์พระแม่ย่าที่เพิงหินบนยอดเขาสูงที่สุดยอดหนึ่งของเขาหลวง ในเขตบ้านโว้งบ่อ ตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย คือ เขาแม่ย่า หรือ เขาน่าย่า ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสุโขทัยเก่าไปประมาณ ๗ กิโลเมตร เพิงหินที่พบเทวรูปนั้น ปัจจุบันก็เรียกกันว่า ถ้ำพระแม่ย่า ชาวบ้านแถวนั้นมีความเชื่อว่าหากไหว้สักการะ ขอพรใดๆก็จะสมปรารถนาในทุกเรื่อง และในช่วงสงกรานต์มีประเพณีแหนพระแม่ย่า เพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาล เพราะทุกครั้งที่แห่แหนประแม่ย่าก็จะมีฝนตกลงมาอย่างน่าอัศจรรย์

จากศิลาจารึกหลักที่ 1 นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้สันนิษฐานว่า พระขพุงผี หมายถึงเทวรูปและเป็นเทพที่ยิ่งใหญ่กว่าผีทั้งหลายในเมืองนี้ และน่าจะเป็นองค์พระแม่ย่า ที่สร้างอุทิศแด่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วคือพระนางเสือง พระราชมารดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่ยังไม่มีข้อยุติ และชาวบ้านส่วนมาก เชื่อว่า พระแม่ย่าคือ พระนางเสือง พระราชมารดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระแม่ย่าของพระยาเลอไท ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเรียกพระมหากษัตริย์ว่า พ่อเมือง จึงเรียกพระราชมารดาของพ่อเมืองว่า "แม่ย่า"

ในปี พ.ศ. 2486 ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่า ถ้าแห่แหนบ่อย อาจจะทำให้องค์พระแม่ย่าเกิดเสียหายได้ จึงสร้างองค์จำลองไว้ที่ถ้ำพระแม่ย่า และอันเชิญองค์จริงมาประดิษฐานที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสุโขทัย และสร้างเทวลัยที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ ศาลพระแม่ย่า ” ต่อมา ในปี พ.ศ.2537 ผู้ว่าราชการจังหวัด พ่อค้า ประชาชน และข้าราชการ เห็นว่าศาลพระแม่ย่าหลังเก่าชำรุดทรุดโทรม ได้มีความคิดเห็นให้ทุบทิ้ง และสร้างศาลใหม่

ดังนั้นจึงถือว่า “ พระแม่ย่า ” เป็นของคู่บ้านคู่เมือง ประชาชนมีความเคารพเลื่อมใสศรัทธา เชื่อว่าปีใดเกิดฝนแล้ง ข้าวยากหมากแพงถ้าได้อัญเชิญ พระแม่ย่าออกมาแห่ในวันสงกรานต์ เพื่อร่วมกันสรงน้ำ และขอพรพระแม่ย่า จะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จนกลายเป็นประเพณีแห่พระแม่ย่าในวันสงกรานต์ เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำพระแม่ย่าจนถึงปัจจุบัน กิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของ "พระแม่ย่าสุโขทัย" นั้นเลื่องลือไปทั่ว ด้วยความเชื่อที่ว่า พระแม่ย่าจะช่วยขจัดปัดเป่าความเดือดร้อนได้ สมัยก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในวันมหาสงกรานต์จะมีประเพณีแห่เทวรูปพระแม่ย่า โดยเชื่อว่าจะทำให้ ฝนตก ซึ่งก็มักจะเกิดฝนตกใหญ่ทุกครั้งที่นำเทวรูปองค์จริงออกแห่จริงๆ

"พระแม่ย่า" ยังช่วยดลบันดาลให้มีลูกได้ สำหรับคนมีลูกยาก ช่วยขจัดทุกข์ภัย โรคภัยไข้เจ็บ แม้แต่จะขอให้ประสบความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่และกิจการงานต่างๆ เปรียบเสมือนมารดา ผู้คอยปกป้องคุ้มครองดูแลบุตรอันเป็นที่รักโดยมิเคยรั้งรอ ดังนั้น เมื่อผู้ใดมีความทุกข์ความเดือดเนื้อร้อนใจ จะพากันไปศาลพระแม่ย่า เพื่อบนบานศาลกล่าว และก็มักจะประสบความสำเร็จโดยถ้วนทั่ว ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ผู้คนมากมายเดินทางไปแก้บนด้วยหมูเห็ดเป็ดไก่ ดอกไม้ธูปเทียน ตลอดจนลิเกแก้บน เพราะเชื่อกันว่าพระแม่ย่าทรงโปรดลิเกแก้บนมาก

ซึ่งศาลพระแม่ย่าคาถาบูชา พระแม่ย่า 2 อย่างคือ คาถาบูชา พระแม่ย่า (มนต์ขอลาภ-มงคล) และคาถาบูชา พระแม่ย่า (มนต์กำจัดภัย)


คาถาบูชา พระแม่ย่า (มนต์ขอลาภ-มงคล) ตั้งนะโม 3 จบ ตามด้วยบทสวด

อหัง วันทามิ ขะพุงผีมะหาเทวะตา รักขันตุ สะทาตุมเห อะนุรักขันตุ ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง สัพพะลาภัง สะทาโสตถี ภะวันตุเม

คาถาบูชา พระแม่ย่า (มนต์กำจัดภัย)ตั้งนะโม 3 จบ ตามด้วยบทสวด

อะหัง วันทามิ ขะพุงผีมะหาเทวะตา สัพพะอุปาทา สัพพะทุกข สัพพะโศก สัพพะโรค อุปาทา วินาสายะ สัพพะสะตรู ปะมุจจะติ โอม ขะพุงผีมะหาเทวะตา สะทา รัพขันตุ สะวาหะ สะวาหายะ

เมื่อสวดคาถาเสร็จ ก็นำธูปเทียนไปปักที่กระถางธูป แล้วจึงนำดอกไม้เดินเข้าไปถวายด้านในศาลพระแม่ย่าและกราบสักการะขอพร จากนั้นก็นำทองคำเปลวปิดทองเทวรูปพระแม่ย่าด้านนอกที่อยู่ตรงทางขึ้นทั้ง 2 ฝัง นี้ถือว่าเป็นการเสร็จการสักการะองค์พระแม่ย่า แต่ยังสามารถวายบายศรี ผ้าสไบ และชุดไทยเป็นต้นที่มีให้ภายในศาลพระแม่ย่าอีกด้วย เพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อของชาวสุโขทัย



ข้อมูลเนื้อหา เรียบเรียงโดย : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กศน.อำเภอคีรีมาศ

ภาพโดย : เพจที่นี่สุโขทัยและ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กศน.อำเภอคีรีมาศ