กลุ่มปลุกผักปลอดสารพิษบ้านดอนโรง

เพราะต้องประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตจากราคาปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ทำให้สองเพื่อนสนิทอย่าง สถาพร ทองใสพร และ เสรี เพชรสุนี เกษตรกรในพื้นที่บ้านดอนโรง ตำบลเขาพระบาท อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พูดคุยกันถึงปัญหาที่พวกเขาและเพื่อนๆ ร่วมอาชีพในหมู่บ้านเดียวกันกำลังเผชิญอยู่

"ตอนนั้นปุ๋ยเคมีแพงมากจากราคากระสอบละ 900 บาท ขึ้นเป็น 1,500 บาท" สถาพร ย้อนถึงจุดเริ่มต้นของปัญหา ที่ครั้นจะให้เปลี่ยนอาชีพจากการปลูกแตงโมและพืชผักต่างๆ ไปทำอย่างอื่นก็คงเป็นไปได้ยาก

"เราก็มานั่งคิดกันว่า ทำยังไงถึงจะสามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้" สถาพร ย้ำถึงหัวข้อที่พูดคุยอันเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดการรวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยการจัดตั้ง "กลุ่มปลูกผักปลอดภัยสารพิษ" ขึ้นมา โดยมีสถาพรรับหน้าที่ประธานกลุ่มฯ และเสรีเป็นเลขานุการฯ แต่การรวมกลุ่มครั้งนั้น ก็มีอันต้องยุติบทบาทไปในเวลาอันรวดเร็ว

"ตอนนั้นเรายังโง่อยู่ ทำบัญชีรายรับรายจ่ายไม่เป็น การบริหารจัดการไม่ดี ตั้งกลุ่มขึ้นมาได้ปีเดียว...พัง" สถาพร ยอมรับถึงความผิดพลาดในอดีตที่เกือบจะทำให้ชื่อของกลุ่มปลูกผักปลอดภัยสารพิษ บ้านดอนโรง ถูกทิ้งให้เป็นเพียงตำนานของหมู่บ้าน กระทั่ง เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาฯ เชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้เข้ามาสอบถามถึงปัญหา รวมถึงให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการ ทำให้ 2 อดีตแกนนำ อย่าง สถาพรและเสรีเกิดความมั่นใจและมองเห็นถึงความเป็นไปได้ในการปลุกชีพให้กลุ่มปลูกผักปลอดภัยสารพิษ บ้านดอนโรง กลับมาดำเนินการอีกครั้ง

"ล้ม...แต่ไม่ล้ม" สถาพร พูดถึงการกลับมาของกลุ่มฯ ด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ พวกเขาเริ่มนับหนึ่งใหม่ด้วยสมาชิกของกลุ่มเพียง 10 กว่าคน พร้อมจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดภัยสารพิษ บ้านดอนโรง ด้วยเงินทุน 14,300 บาท ที่ได้มาจากการลงหุ้นของสมาชิก และมูลนิธิศุภนิมิตฯ ให้การสนับสนุนส่วนหนึ่งพร้อมกับวัตถุดิบสำหรับทำปุ๋ยหมัก

"ครั้งนี้เราตั้งใจจริงและนำความล้มเหลวจากครั้งก่อนมาเป็นบทเรียน" เสรี กล่าวเสริมด้วยน้ำเสียงหนักแน่น และพร้อมจะค่อยๆ ก้าวเดิน โดยมีบทเรียนในอดีตเป็นเครื่องเตือนใจ

"เราเริ่มต้นทำเท่าที่เรามีเงิน ซึ่งโจทย์ของพวกเราตอนนั้นคือ ทำปุ๋ยหมักและดินเพาะเมล็ดขายให้คนในกลุ่มใช้เพื่อเป็นการลดต้นทุนจากการใช้สารเคมี" ไม่นานปุ๋ยล็อตแรกถูกขายออกไปยังสมาชิกของกลุ่ม จากกระสอบแรก ค่อยๆ เพิ่มจำนวนเป็นสิบเป็นร้อยกระสอบ อันเป็นผลมาจากคุณภาพของสินค้าและกลยุทธ์การตลาดแบบบ้านๆ คือ ใช้ดี...บอกต่อ