โรงเรียนชาวนา



ศูนย์การเรียนรู้บ้านเกาะหมู่ 3 ต.แจนแวน อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ นายสงวน ศิริทวี ประธานสมาชิกสภาชุมชนบ้านเกาะหมู่ 3 กล่าวว่า ชุมชนบ้านเกาะส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร เช่น ทำนาปลูกข้าว ซึ่งเป็นอาชีพหลักๆ ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง จึงเป็นส่วนที่นำไปสู่การให้สารเคมีในทุกพื้นที่ที่มีการทำการเกษตร ซึ่งจากการสุ่มตรวจสารเคมีในร่างกายใน 100 คน มีค่าเกินมาตรฐานถึง 70 คน มีผลต่อปัญหาสุขภาพ เห็นว่าการแก้ไขปัญหานี้ต้องแก้ที่ต้นเหตุจึงได้คิดจะทำโครงการอาหารปลอดภัย หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเกษตรอินทรีย์ โดยทดลองจากตนเองในการปลูกข้าวปลอดสารเคมี 12 ไร่ ในปี 2555 จนปัจจุบัน ใช้ปุ๋ยบำรุงต้นข้าวที่ทำเองจากมูลสัตว์ เช่น ไก่ วัว สุกร ใช้ยาฆ่าแมลงที่ทำจากพืช สมุนไพรที่มีกลิ่นฉุน เช่น ตะไคร้ สะเดา บอระเพ็ด เป็นต้น หลังจากการเก็บเกี่ยวเมื่อเปรียบเที่ยบแล้วปรากฏว่าได้ผลผลิตที่มากกว่ากว่าข้าวที่ให้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีเร่งเจริญเติบโต ขายได้ราคาที่สูงขึ้นกว่าปกติ ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งราคาตลาดปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 9 - 11 บาท หรือตันละ 9,000 - 10,000 บาท แต่ข้าวปลอดสารเคมีจะขายได้ในราคา 20 บาทขึ้นไป หรือกว่า 20,000 บาท เพราะผ่านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) รับรองคุณภาพ เมื่อเปรียบหักลบรายรับรายจ่ายถือว่าคุ้มค่าและได้ผลกำไรที่ดีเพราะกระบวนการผลิตเป็นการทำเองทุกกระบวนการยกเว้นค่าเก็บเกี่ยวที่ต้องจ้างคนงาน ส่วนตัวได้กำไรจากการทำนาข้าวปีละ 1 ครั้ง จำนวนเงินกว่า 3 แสนบาทต่อปี เมื่อเกิดภาวะทางเศรษฐกิจที่ราคาข้าวตกต่ำก็ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก กลับกันส่วนใหญ่จะขาดตลาด เพราะมีการผลิตน้อยมีตลาดต่างชาติเข้ามารับซื้อล่าสุดมาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงสัตว์หลายชนิดดังกล่าวข้างต้นเป็นอาชีพเสริมและเอื้อต่อการหมุนเวียนใช้ประโยชน์ต่อการปลูกข้าว ทั้งขายและนำมูลมาใช้ประโยชน์

ภาพเเละข้อความจาก https://mgronline.com/qol/detail/9570000133183