จ๊อย ซอ

จ๊อย ซอ

เพลงร้องพื้นบ้านค่าว จ๊อย ซอ ในจังหวัดเชียงรายมีลักษณะเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะเกือบทั้งหมด วรรณกรรมเหล่านี้มักแสดงออกเป็นคำพูดโต้ตอบกัน เช่น การหยอกสาว หรือเป็นการขับร้อง เช่น จ๊อยและซอ วรรณกรรมเหล่านี้มีฉันทลักษณ์หลายรูปแบบ ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า คำค่าว คำเครือ หรือค่าว

ค่าว เป็นคำประพันธ์ที่มีแบบแผนของชาวล้านนามีฉันทลักษณ์ที่ระบุจำนวนคำในวรรค และสัมผัสระหว่างวรรค สรุปเป็นคำกล่าวสั้นๆ “สามตัวเหลียว เจ็ดตัวเตียว บาทหลัง บาทหน้า”

จ๊อย เป็นวิธีขับลำนำโดยใช้ค่าว เป็นเนื้อหาหลักบางทีเรียกว่า จ๊อยค่าว วิธีขับจ๊อยมักจะดำเนินท่วงทำนองไปอย่างช้าๆ มีการเอื้อน อาจมีเครื่องดนตรี บรรเลงคลอประกอบหรือไม่ก็ได้ ลีลาและทำนองจ๊อยที่นิยมใช้ ได้แก่ โก่งเฮียวบ่ง ม้าย่ำไฟ และทำนองวิงวอน

ซอ เป็นเพลงพื้นบ้านที่ใช้ค่าวเป็นเนื้อหาหลักแต่ฉันทลักษณ์ของค่าวจะเปลี่ยนแปลงไปตามทำนองอาจสั้นลงหรือยาวขึ้นและมีการบังคับวรรณยุกต์แตกต่างกันไป

ฉันทลักษณ์ของค่าว

ค่าวสั้นหรือค่าวก้อม นิยมแต่งเพียง ๔ วรรค ๆ ละ ๔ คำ แต่วรรคแรกอาจมี ๓ คำก็ได้ ตามตัวอย่าง

สาวบ้านหมู่นี้ หน้าเหมือนแคบหมู

เอาหัวปลาทู จุ๊เอาก็ได้

ค่าวขนาดยาว

ค่าวขนาดยาวใช้ประพันธ์เนื้อหาที่เป็นเรื่องราวมีความยาวหลายบท อาจเป็นนิทาน ตำนาน ประวัติ บางทีเรียกค่าวฮ่ำ

ตัวอย่างค่าวขนาดยาว

“สะหลียินดี หมู่พี่หมู่น้อง

ที่มาอ่านถ้อง ค่าวซอเป๋นสาย

หลายเมืองแท้นั้น เมืองน่านมาก๋าย

เชียงใหม่เชียงราย มาร่วมสืบสร้าง

ตึงแม่ฮ่องสอน เมืองแพร่เคียงข้าง

เชิญชวนหมู่เฮา พร้อมพรัก”

“ลำพูนลำปาง ก็ว่างมาทัก

พะเยาร่วมเข้า มาไจ

มาแต่งค่าวจ๊อย ม่วนงันหัวใจ๋

เชิญมาทางใน หมั่นแวะหมั่นเข้า

ค่าวซอของเฮา ตึงดีแท้เจ้า

มาเต๊อะเชิญมา ช่วยค้ำ”

ซอ

ซอ คือ ศิลปะการแสดงประเภทหนึ่งของล้านนามีลักษณะของการขับลำนำหรือการขับร้องด้วยทำนองต่างๆ นิยมเล่นในแถบภาคเหนือตอนบน เนื้อหาสาระที่นำมาเป็นบทขับร้องเป็นองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อครู แม่ครู บทประพันธ์ที่มีฉันทลักษณ์กล่าวถึงเหตุการณ์บ้านเมือง มาร้อยเรียงเป็นบท การขับซอเป็นการขับขานที่มีเครื่องดนตรีประกอบโดยมีท่วงทำนองแตกต่างกันไป โดยมีทั้งหมดประมาณ ๑๐ ทำนอง ผู้ที่ขับร้องซอ เรียกว่า ช่างซอ มีนักดนตรีเรียกว่า ช่างซึง ช่างปี่ ทำหน้าที่บรรเลงดนตรีประกอบการขับซอ ถ้ามีการขับร้องโต้ตอบกันเป็นคู่ ระหว่างช่างซอชายและช่างซอหญิง จะเรียกว่าคู่ถ้อง การขับซอจะขับบนเวที ซึ่งทางเหนือเรียกเวทีว่า ผามซอ

ซอ มีขนบประเพณีที่สามารถแยกได้เป็นสองสายหลักๆ คือ ซอเชียงใหม่กับซอน่าน ซึ่งมีข้อแตกต่างสำคัญ สองประการคือ ชุดของทำนองซอกับเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงร่วมการซอ ชุดทำนองของซอเชียงใหม่ มีชุดที่มีชื่อว่า ตั้งเชียงใหม่ เป็นเพลงหลัก ส่วนสายซอน่าน มีชุดทำนองที่เรียกว่าล่องน่านเป็นเพลงหลัก

ซอตั้งเชียงใหม่ ประกอบด้วย ทำนองตั้งเชียงใหม่ตั้งกลายจะปุ จะปุ ละม้าย ซึ่งแต่ละบทมีคำประพันธ์ที่ใช้ฉันทลักษณ์ต่างกัน มีเพียงจะปุ กับละม้ายเท่านั้น ที่คำซอใช้ฉันทลักษณ์เดียวกัน ซอน่าน มีซอดาดน่านลับแลงเป็นเพลงหลักทั้งสองบทนี้ใช้ฉันทลักษณ์เดียวกันแต่เพลงอื่นๆ คือ ปั่นฝ้าย และพระลอ มีฉันทลักษณ์ที่แตกต่างกันไป ซอเชียงใหม่อาจมีทำนองอื่นๆ ใช้อีกก็ได้ เช่น จ๊อยเชียงแสน ซอเงี้ยว ซออื่อ และซอพม่า ซึ่งทางสายน่านก็นิยมใช้เช่นเดียวกัน

เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงร่วมกับซอเชียงใหม่ได้แก่ ปี่จุมกับซึง ปี่จุมอาจเป็นปี่จุมสามหรือปี่จุมสี่ แล้วแต่ความต้องการของคณะ ส่วนซึงที่ใช้นิยมใช้ซึงขนาดใหญ่ที่มีสองสายคือ สายล่างและสายบนอย่างละหนึ่งเส้น เครื่องดนตรีสำหรับซอน่าน คือ พิณ (ปิน) สองคัน กับสะล้อหนึ่งคัน พิณทั้งสองคันเป็นพิณขนาดกลางมีสายสี่สาย ขึ้นสายเป็นสายคู่สองคู่ สะล้อมีสองสาย มีนมหรือลูกนับติดตามความยาวของทวน

บุคคลสำคัญในด้านการประพันธ์ค่าว คือ นางสาคร พรมไชยา ซึ่งประพันธ์ค่าวออกเผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียง และเป็นวิทยาการถ่ายทอดวิชาแก่เยาวชน จนได้รับรางวัลหลายรางวัล ด้านค่าวซอ ผู้ที่มีชื่อเสียงคือ นายศรีทวน สอนน้อย ซึ่งมีลูกศิษย์เป็นช่างซอที่มีชื่อเสียงหลายคน อีกท่านหนึ่งคือ นางสุนันทา แต้มทอง (จันตา ศาลาหล้ม)

สถานภาพด้านการแสดงค่าว จ๊อย ซอ

ในอดีต ค่าว จ๊อย ซอ เผยแพร่ในสังคมเกษตรกรรมโดยอาศัยประเพณีท้องถิ่นเป็นโอกาสและสถานที่สำหรับเผยแพร่ ต่อมามีระบบสื่อสารมวลชนเป็นช่องทางเพิ่มโอกาสมากขึ้น การบันทึกแผ่นเสียง แถบเสียงและคอมแพคดิสก์ ทำให้เผยแพร่ได้กว้างไกลไปถึงภูมิภาคอื่นๆ ตลอดจนต่างประเทศ ค่าว จ๊อย ซอ จึงมีสถานภาพเพิ่มขึ้นจากเดิมคือ เป็นทั้งเพลงพื้นบ้าน มหรสพ และผลผลิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทำหน้าที่ขัดเกลาทางสังคม การถ่ายทอดแก่เยาวชนที่สนใจ การบรรยายและสาธิตทางวิชาการ การปรับใช้เพื่อประโยชน์แก่ทางการ ทำให้ ค่าว จ๊อย ซอ มีบทบาทและสถานภาพที่แตกต่างจากเดิมกลายเป็นมรดกทางปัญญาสำหรับคนในสังคมปัจจุบันอีกทางหนึ่งด้วย