กลุ่มปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ธรรมชาติ

บ้านผือฮี หมู่ที่ 11 ตำบลดงแดง อำเภอ จตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด

- แหล่งเรียนรู้การปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ธรรมชาติ

- แหล่งเรียนรู้การผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพใช้เอง

- แหล่งเรียนรู้การผลิตพืชผักปลอดภัย(GAP)

หลักการเกษตรอินทรีย์

สหพันธ์การเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศ ได้นิยามหลักการของการทำเกษตรอินทรีย์ไว้ 4 ด้าน ได้แก่

1. ด้านสุขภาพ (health)

เกษตรอินทรีย์ เป็นรูปแบบการเกษตรที่ส่งเสริมสุขภาพของทรัพยากรให้มั่นคง อันหมายถึง การมีดินที่อุดมสมบูรณ์ที่ส่งเสริมต่อการเติบโตของพืชสำหรับใช้เป็นอาหารของสัตว์ และมนุษย์ สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกันจึงส่งผลต่อกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ ดินที่ปราศจากสารพิษก็ย่อมไม่มีสารพิษในพืช พืชที่ไม่มีสารพิษทั้งที่มาจากดินหรือการฉีดพ่นของมนุษย์ ก็ย่อมทำก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของสัตว์หรือมนุษย์ที่รับประทานเข้าไป

2. ด้านนิเวศวิทยา (ecology)

เกษตรอินทรีย์ เป็นรูปแบบการเกษตรที่เกื้อหนุนให้ทรัพยากรในระบบนิเวศวิทยาดำเนินตามวัฏจักรที่เป็นไปตามธรรมชาติ และเกิดการต่อเนื่องสมดุลกัน ทรัพยากรแต่ละอย่างทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นหรือลดน้อยจนทำให้ระบบนิเวศขาดความสมดุล ทั้งทรัพยากรดิน น้ำ จุลินทรีย์ และสัตว์ ดังนั้น การทำการเกษตรใดๆจะต้องเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ ทั้งระบบนิเวศในแปลงเกษตร และภายนอกแปลงเกษตรเช่นกัน อาทิ ดินมีคุณภาพต่อการเติบโตของพืชอันมีน้ำฝน และน้ำชลประทานที่เพียงพอ รวมถึงการเกื้อหนุนจากสัตว์ และแมลงที่ช่วยในการเติบโตของพืช โดยมีมนุษย์คอยจัดการให้เกิดการเกื้อหนุนต่อระบบนิเวศนั้นๆ

3. ด้านความเป็นธรรม (fairness)

เกษตรอินทรีย์ ช่วยส่งเสริมในด้านความเป็นธรรมของทรัพยากร อันหมายถึง การส่งเสริมความเป็นธรรมในสิทธิของชนิดทรัพยากร สิทธิของมนุษย์ต่อการกระทำ และการใช้ทรัพยากร และสิทธิของมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกันเองในการบริโภคทรัพยากรนั้นๆ

– สิทธิของชนิดทรัพยากร ได้แก่ การส่งเสริมให้เกิดความสมดุลของชนิดทรัพยากร ไม่มีชนิดใดมากเกินไปหรือน้อยจนเสียสมดุล

– สิทธิของมนุษย์ต่อการกระทำ และการใช้ทรัพยากร ได้แก่ การส่งเสริมให้เกิดการเกษตรที่ไม่ทำให้ทรัพยากรเกิดการเสื่อมสภาพ และการใช้ทรัพยากรนั้นๆอย่างพอเพียง

– สิทธิของมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกันเองในการบริโภคทรัพยากร ได้แก่ การเคารพในสิทธิของคนอื่นต่อการใช้ทรัพยากรที่เขาครอบครองหรือร่วมแบ่งปันทรัพยากรอย่างเที่ยงธรรม

4. ด้านการดูแลเอาใจใส่ (cares)

การทำเกษตรอินทรีย์ มิใช่จะปล่อยให้ธรรมชาติจัดการเองในทุกเรื่อง แต่เกษตรกรหรือผู้ทำเกษตรอินทรีย์เองจะคอยร่วมจัดการ และส่งเสริมให้เกิดความสมดุลขึ้นในระบบ อันประกอบด้วยการเอาใจใส่ในกระบวนการผลิตที่ต้องคอยเกื้อหนุนให้ทรัพยากรทั้งดิน น้ำ และสัตว์อื่นๆเกิดความสมดุล และเกิดปลอดภัยในการทำเกษตรนั้น อันได้แก่ ไม่ใช้สารเคมีที่มีผลต่อทรัพยากรในระบบ หรือส่งเสริมให้เกิดการปนเปื้อนของสารพิษในผลผลิต ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นกระบวนการแรกที่ทำให้เกษตรกรเกิดจิตสำนึก และเอาใจใส่ต่อคุณภาพของผลิต อันปราศจากการปนเปื้อนหรือตกค้างของสารใดๆที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

การทำเกษตรอินทรีย์ในระบบปลูกพืช

1. ดิน และปุ๋ย

– เน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่หาได้ง่าย ได้แก่ ปุ๋ยคอก ทั้งจากมูลโค มูลกระบือ มูลไก่ รวมถึง ปุ๋ยหมักจากพืช แกลบ แกลบดำ ขี้เลื่อย เป็นต้น

– ใช้วัสดุอินทรีย์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นเป็นปุ๋ยสด เช่น เศษพืชหลังการเก็บเกี่ยว เศษใบไม้ เป็นต้น

– เน้นการใช้ปุ๋ยพืชสด โดยเฉพาะการปลูกพืชตระกูลถั่วต่างๆ เช่น ปอเทือง

– ใช้หินแร่เป็นแหล่งเสริมธาตุอาหาร และปรับปรุงดิน อาทิ แร่ยิปซัม หินฟอสเฟต เปลือกหอยเผา และปูนขาว เป็นต้น

– หลีกเลี่ยงการเผาตอซัง และวัสดุอินทรีย์ ซึ่งอาจทำให้จุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตในดินตายได้ รวมถึงจะเป็นการเร่งการเสื่อมสภาพของดินให้เร็วขึ้น

– ปลูกพืชคลุมดินรอบๆแปลงเกษตร เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดิน และการไหลออกของดินสู่พื้นที่อื่น

– ไถพรวนดิน 1-2 ครั้งต่อรอบการผลิต ไม่ควรไถมากกว่านี้ เพราะอาจเร่งการชะล้างปุ๋ยออกนอกพื้นที่ได้

2. น้ำ

– จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ ทั้งน้ำจากโครงการชลประทาน และน้ำจากบ่อที่ขุดเอง

– หลีกเลี่ยงการใช้น้ำที่มาจากแหล่งชุมชน หรือแหล่งอุตสาหกรรมมารดพืชในแปลงเกษตร ซึ่งอาจทำให้พืชผักเกิดปนเปื้อนสารเคมีได้

3. อากาศ

สำหรับการปลูกพืชผักมักไม่ค่อยพบปัญหาทางด้านมลพิษนัก แต่จะพบมากบริเวณพื้นที่รอบชุมชนเมือง ชุมชนอุตสาหกรรม ดังนั้น โอกาสที่พืชจะปนเปื้อนสารเคมีจึงเป็นไปได้สูง แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้แนวทางดังนี้

– การปลูกไม้ยืนต้นล้อมรอบแปลงเกษตร เพื่อเป็นเกาะกำบังฝุ่นหรือสารพิษ

– สร้างโรงเรือนระบบปิดเพื่อใช้สำหรับปลูกพืช

นอกจากปัญหาในเรื่องมลพิษทางอากาศแล้ว การส่งเสริมเพื่อเพิ่มผลผลิตที่เกี่ยวข้องในด้านอื่น ได้แก่

– การจัดแนวปลูกในทิศขวางตะวัน

– การจัดแนวปลูกในทิศตามลม

– การปลูกพืชอื่นล้อมรอบ เพื่อให้ความชื้น และรักษาความชื้นของอากาศรอบแปลงเกษตร

4. พืช และโรค/แมลง

– หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช กำจัดศัตรูพืชทุกชนิด

– เน้นการใช้สารสกัดหรือน้ำต้มจากสมุนไพร อาทิ สะเดา ดาวเรือง บอระเพ็ด ตะไคร้หอม เป็นต้น สำหรับฉีดพ่นป้องกันโรค และแมลงต่างๆ

– ปล่อย และส่งเสริมการเพิ่มจำนวนของตัวห้ำ ตัวเบียนเพื่อช่วยในการควบคุมแมลงศัตรูพืช เช่น นก แตน ต่อ และแมลงปอ เป็นต้น

– ใช้เชื้อราในการฉีดพ่นเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช อาทิ เชื้อราเบอร์บิวเรีย เป็นต้น

5. ผลผลิต

– หลีกเลี่ยงการฉีดหรือพ่นรมควันด้วยสารเคมี สำหรับป้องกันด้วงแมลงในเมล็ดธัญพืช แต่เน้นในเรื่องการจัดการแทน อาทิ การเก็บในโรงเรือนปิด การจัดสร้างโรงเรือนที่ถ่ายเทอากาศได้ดี เป็นต้น

– หลีกเลี่ยงการใช้สารฟอกขาว

– หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเร่งการสุกของผลไม้

– หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเคลือบผิวผักผลไม้