ความเป็นมา

“การจักสานผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่” เป็นการต่อยอดภูมิปัญญาของคนสมัยโบราณโดยการนำทรัพยากรจากธรรมชาติมาเป็นวัสดุในการทำเครื่องจักสานเพื่อนำมาใช้สอยในครัวเรือน เช่น การสานกระติบข้าวเพื่อใส่ข้าวเหนียวไว้รับประทาน การสานกระหม่อง เพื่อบรรจุสิ่งของในการเดินทางซึ่งเป็นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นของชาวบ้านนาแก – ภูดิน อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี

การจักสานผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มผู้สูงอายุภายในชุมชนบ้านนาแก-ภูดิน ที่มีความสนใจด้านจักสานโดยมีการใช้ไม้ไผ่ที่มีอยู่มากมายในพื้นที่มาจักสานเพื่อเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของชาวภูไท เช่น กระติบข้าว กระหม่อง ตะกร้า หวดนึ่งข้าว เป็นต้น ในการจักสานเป็นการสืบสานและจรรโลงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและอาชีพของชาวภูไท โดยมคุณพ่อเหวิน แก้วอินทร์ เป็นประธานกลุ่ม คอยผลักดันและสร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่อง มาจนถึงทุกวันนี้ โดยคุณพ่อเหวิน แก้วอินทร์ เป็นผู้มีความชำนาญในด้านการจักสานเนื่องจากได้ฝึกฝนงานฝีมือด้านการจักสานและประสบการณ์จากครูภูมิปัญญาภายในชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อน และมีการพัฒนาต่อยอดด้านงานฝีมือของตนเองมาโดยตลอด อีกทั้ง กศน.อำเภอวังสามหมอ เข้ามาสนับสนุนให้ความรู้ สร้างกลุ่มอาชีพเพื่อความเข้มแขง และทางด้านสื่อเทคโนโลยีในการสืบค้นหาความรู้ พร้อมช่องทางการสนับสนุนช่องทางจำหน่ายสินค้า

หลังจากที่มีการจัดรวมกลุ่มจักสานผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ กศน.อำเภอวังสามหมอ ได้ให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และจัดหาวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์มาถ่ายทอดให้ความรู้เพิ่มเติมทางด้านการจักสาน การสานกระหม่อง การทำตะกร้าจากไม้ไผ่ เพื่อพัฒนางานฝีมือให้กับผู้สูงวัยภายในชุมชน พัฒนาคุณภาพจิตและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น จากเดิมทำเครื่องจักสานไว้เพียงใช้บรรจุสิ่งของเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบให้กลายเป็นกระเป๋า โดยพัฒนามาจากกระหม่องสมัยก่อน พัฒนารูปร่างของกระติบข้าวจากรูปแบบเดิมๆ ให้มีความหลากหลายและสวยงานเพิ่มมากขึ้นทำให้เป็นที่สนใจของคนทั่วไป สร้างรายได้ให้กับกลุ่มของผู้สูงอายุในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

กระติบข้าว คือ ภาชนะในการเก็บอาหารที่เป็นงานหัตถกรรมอันทรงคุณค่าชนิดหนึ่งที่มากด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นของที่มีประจำบ้านของชาวไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมายาวนาน ใช้สำหรับบรรจุข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วหรือแม้แต่ใช้เป็นเครื่องประดับในครัวเรือน ประดับสถานที่ต่าง ๆ เป็นเครื่องจักสานที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ แต่เดิมภาชนะที่ใช้บรรจุข้าวเหนียวมักทำจากต้นไม้ต้นเล็กๆ นำมาเจาะลำต้นให้กลวงแล้วตัดเป็นท่อนขนาดสั้น ๆ เป็นกระบอก มีฝาปิด หรือบางครั้งก็ใช้ไม้ไผ่มาตัดเป็นกระบอกสั้น ๆ นำมาเป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียว ต่อมามีการคำนึงถึงปริมาณไม้ไผ่ในพื้นที่ซึ่งมีมากบ้างน้อยบ้างในพื้นที่ หากนำต้นไผ่มาทั้งต้นแบบเดิมต้นไผ่ก็อาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้งาน อีกทั้งภาชนะบรรจุข้าวเหนียวรูปแบบเดิมก็เทอะทะ พกพาไม่สะดวกในการเดินทางไกลจึงมีการริเริ่มนำเอาไม้ไผ่มาผ่าเป็นซีกเล็ก ๆ มาเหลาเป็นแผ่นบางๆ นำมาจักสานเป็นตะกร้า กระบุง บรรจุข้าวสาร และพัฒนานำไม้ไผ่มาจักสานมาเป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียว (กระติบ) ซึ่งมีน้ำหนักเบาและระบายอากาศได้ดีทำให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ ซึ่งจะทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุอยู่ภายในยังมีความร้อนและข้าวไม่แฉะด้วยไอน้ำ พกพาง่ายเพราะมีการทำสายสะพาย อีกทั้งยังมีหลายรูปแบบ รูปทรงกลม รูปทรงรี หลากหลายขนาดสอดคล้องกับการใช้งาน

กระหม่องน้อย คือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกดัดแปลงขึ้นมาจากกระหม่องพายข้างของชาวภูไท ที่นำไปใช้สำหรับใส่สิ่งของต่าง ๆ ในการไปวัด ไปร่วมงานประเพณีต่าง ๆ ตลอดจนใส่สิ่งของในการไปทำไร่ ทำนา ต่อมามีการพัฒนาให้มีรูปร่างเล็กลงเพื่อเหมาะสำหรับการใส่อุปกรณ์และเครื่องประดับต่าง ๆ สำหรับสุภาพสตรี ปัจจุบันนี้กระหม่องน้อยเป็นที่นิยมของประชาชนชาวภูไทและประชาชนทั่วไปเนื่องจากมีความกระทัดรัด พกพาสะดวก ดูดี มีภูมิฐานและมีสง่าราศรี

ผู้สานจะใช้ช่วงเวลาว่าง เลือกใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งหาได้ในท้องถิ่นมาผลิตเป็นเครื่องจักสาน เพื่อความสุข สนุกเพลิดเพลินในการรวมกลุ่มกันทำงานหัถกรรม ตลอดจนสนองประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือนของตนเองและสมาชิกในครอบครัว การสานผลิตภัณฑ์จากไม่ไผ่ เป็นงานที่มักจะกระทำกันภายในครอบครัวหรือชุมชน โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่รวมตัวกันใช้เวลาว่าให้เกิดประโยชน์ มีการพูดคุย ถามความเป็นอยู่ซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคีภายในชุมชน จะทำให้ผู้สูงอายุไม่เกิดความเหงา เนื่องจากมีเพื่อน ๆ มารวมกลุ่มกัน ซึ่ ก่อให้เกิดให้เป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่ตกทอดและสืบสานกันมาจากรุ่นสู่รุ่น รูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจึงเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีความงามบริสุทธิ์แบบธรรมชาติ สะท้อนถึงความเป็นอิสระและการแสดงออกถึงความเฉลียวฉลาดและความสามารถของผู้จักสาน ชี้ให้เห็นคุณค่าทางอารยธรรมในการเข้าใจใช้วัสดุธรรมชาติให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของการดำรงชีวิต อีกทั้งยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานอีกด้วย

ณ วันนี้ผลิตภัณฑ์จาก“การสานผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่”ของคุณพ่อเหวิน แก้วอินทร์ และกลุ่มผู้สูงอายุชาวบ้านนากแก-ภูดินได้ถูกจัดแสดงและจำหน่ายภายในชุมชนบ้านนาแก-ภูดิน และเพจ OOCC ของ กศน.อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี โดยผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยว และประชาชนโดยทั่วไป ทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัว และที่สำคัญ คือ “การสานผลิตภัณฑ์จากไม่ไผ่” ก็จะได้รับการสืบสานต่อไปสู่คนรุ่นหลัง