กิจกรรมพัฒนาคุณชีวิต (กพช)

กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.)

กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตคืออะไร

กิจกรรม พัฒนาคุณภาพชีวิต หรือ กพช. หมายถึง กิจกรรมที่ส่งเสริม สนับสนุน ให้นักศึกษาเป็นผู้รู้จักคิด รู้จักทำ เป็นผู้คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น โดยนักศึกษาสามารถเลือกทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ตามความสนใจ หรือความถนัด เน้นการนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษาเรียนรู้ไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับวิถี ชีวิต เพื่อพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ในแต่ละระดับการศึกษาจะต้องปฏิบัติกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตรวมแล้วไม่น้อย กว่า 200 ชั่วโมง โดยมีขอบข่ายเนื้อหาทั้งในภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ

มีความจำเป็นอย่างไร

กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นเงื่อนไขในการจบหลักสูตร ซึ่งกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 200ชั่วโมงในแต่ละระดับ

วัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต มีดังนี้

  1. เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสใช้กระบวนการกลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ โดยฝึกทักษะการคิด การแก้ปัญหา และความมีเหตุผล

  2. เพื่อปลูกฝังให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม และสามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

  3. เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองและมีส่วนร่วมในการพัฒนา ครอบครัว ชุมชน และสังคม ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพัน เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคม

องค์ประกอบกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ประกอบด้วย

1. ความรู้พื้นฐาน เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีขอบข่ายเนื้อหาเกี่ยวกับ

- โครงสร้างและประโยชน์ของ กพช.

- แนวทางการพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม

- กระบวนการกลุ่ม

- กระบวนการคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และการนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต

- การประสานเครือข่าย

- การเป็นผู้นำ ผู้ตาม

- การวางแผน และประโยชน์ของการวางแผน

- มนุษยสัมพันธ์

- การเขียนโครงการ

2. กิจกรรมโครงการ เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงในการทำกิจกรรม โครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม

ลักษณะกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. กิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะชีวิตของตนเองและครอบครัว โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของผู้เรียน และ

ต้องพิจารณาในประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

- ประโยชน์ที่ตนเอง ครอบครัวได้รับ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สามารถสร้าง/พัฒนาทักษะการดำเนินชีวิตให้ตนเอง / ครอบครัวอยู่ได้อย่างมีความสุข

- การมีส่วนร่วมของผู้เรียนและครอบครัว เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการแล้วผู้เรียนและครอบครัวเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือ

การใช้กระบวนการกลุ่ม เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงาน มีการประสานงาน ความรับผิดชอบ เสียสละ และจิตบริการ

- ความเหมาะสมในการใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติงานตามโครงการ

ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จ ได้แก่ ความรู้ แหล่งข้อมูล วัสดุ งบประมาณและการเลือกใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม ประหยัด

- ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นการคิดสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและครอบครัว

2. กิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนและสังคม โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และพิจารณาในประเด็นสำคัญๆ

ดังนี้

- ประโยชน์ที่ชุมชนและสังคมจะได้รับหรือบริการที่ช่วยเสริม หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง ตลอดจนสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และอื่นๆ ที่ตอบสนองนโยบายการพัฒนาประเทศ

- การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการแล้วคนในชุมชนเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือ ทั้งด้านความคิด แรงงาน วัสดุอุปกรณ์ และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

- การใช้กระบวนกลุ่ม เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความร่วมมือในการทำงาน เสียสละ จิตบริการตามวิถีประชาธิปไตย

- การใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน เป็นกิจกรรมที่ใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติงานให้มีความเหมาะสมกับกิจกรรมโครงงานที่นำเสนอ

- ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในการจัดกิจกรรม เช่น บุคคลากร วัสดุ งบประมาณ และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนให้เป็นไปอย่างประหยัด และประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม

- มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นการคิดสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์และทำให้เกิดการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและอย่างยั่งยืน

ผู้เรียนสามารถเลือกทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตจากขอบข่ายเนื้อหาดังต่อไปนี้

1. กิจกรรมศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี

กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวกับศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี โดยพิจารณากิจกรรม ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนยึดมั่นในศาสนา และปลูกฝังค่านิยมที่ดีเพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงาม ของท้องถิ่นและของชาติ เช่น

- กิจกรรมส่งเสริมการประกอบอาชีพในวันสำคัญทางศาสนา

- กิจกรรมส่งเสริมการศึกษาหลักธรรมคำสอนของศาสนา

- กิจกรรมส่งเสริมวันสำคัญของชาติ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันพ่อ วันแม่ วันเด็ก วันครอบครัว วันผู้สูงอายุ วันรัฐธรรมนูญ วันสตรีสากล ฯลฯ

- กิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ เช่น ประเพณีลอยกระทง ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีการแต่งกายประจำท้องถิ่น และประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ของท้องถิ่น ตลอดจนการละเล่น พื้นเมืองต่างๆ

- ฯลฯ

2. กิจกรรมการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณา เลือกทำกิจกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนา การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมดีขึ้นอย่างยั่งยืน เช่น

- กิจกรรมขุดลอกคูคลอง ทางระบายน้ำในหมู่บ้าน

- กิจกรรมกำจัดขยะมูลฝอยในที่สาธารณะ

- กิจกรรมรักษาความสะอาด ถนน ทางเดินในหมู่บ้าน

- กิจกรรมปลูกต้นไม้ ดูแลรักษาสาธารณสมบัติ

- กิจกรรมสร้างทางเท้า ทางเดินหมู่บ้าน

- กิจกรรมสร้างศาลาอเนกประสงค์

- กิจกรรมสร้างส้วมสาธารณะ

- กิจกรรมต่อต้านยาเสพติด อาสาสมัครป้องกันยาเสพติด

- กิจกรรมอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

- กิจกรรมเวทีชาวบ้าน

- กิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย

- กิจกรรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

- ฯลฯ

3. กิจกรรมสนับสนุนงานการศึกษานอกโรงเรียน

กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต เกี่ยวกับการสนับสนุนงาน การศึกษานอกโรงเรียน โดยพิจารณาเลือกทำ กิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญ เกิดความรัก เกิดความผูกพัน และเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษานอกโรงเรียน ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นการสนับสนุน แต่ต้องลงมือปฏิบัติกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสนับสนุนงาน การศึกษานอกโรงเรียนโดยแท้จริง เช่น

- กิจกรรมรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือ

- กิจกรรมประชาสัมพันธ์งานการศึกษานอกโรงเรียน

- กิจกรรมวันการศึกษานอกโรงเรียน

- กิจกรรมวันที่ระลึกการรู้หนังสือ

- กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ศูนย์การเรียนชุมชน ศูนย์บริการสื่อ ห้องสมุดประชาชน แหล่งความรู้หมู่บ้าน หอกระจายข่าว ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ

- กิจกรรมสนับสนุนและพัฒนาการงานการศึกษานอกโรงเรียน เพื่อพัฒนาอาชีพ

- กิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนงานตามนโยบายรัฐบาลที่สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ขอความร่วมมือ

- ฯลฯ

ขั้นตอนการทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต

1. ผู้เรียนยื่นคำร้องแสดงความจำนงขอทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต

2. แนบโครงการที่เขียนแล้ว พร้อมแบบคำร้อง แสดงความจำนง ขอทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อขออนุมัติโครงการต่อสถานศึกษา

โครงการประกอบด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้

2.1 ชื่อโครงการ

2.2 หลักการและเหตุผล

- บอกเหตุผลและความจำเป็น หรือความสำคัญของโครงการ

2.3 วัตถุประสงค์

- ระบุว่าโครงการนี้ทำเพื่ออะไร เกิดประโยชน์อย่างไร

2.4 ขั้นตอนการดำเนินงาน

- บอกวิธีการทำงานว่าขั้นตอนอย่างไร ตั้งแต่เริ่มทำโครงการจนสิ้นสุดโครงการ

2.5 สถานที่ดำเนินงาน

- ระบุสถานที่ที่จะดำเนินงาน

2.6 ระยะเวลา

- ระบุว่า โครงการที่จะปฏิบัตินั้นเริ่มและสิ้นสุดวันใด

2.7 งบประมาณ

- ตั้งงบประมาณหรือองค์ประกอบที่จะทำให้โครงการบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมาย เช่น วัสดุ แรงงาน

2.8 ผู้รับผิดชอบโครงการ

- ระบุผู้รับผิดชอบโครงการว่ามีใครบ้าง กี่คน

2.9 ผลที่คาดว่าจะได้รับ

- ระบุว่าจากการทำโครงการนั้น คาดว่าจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง

3. เมื่อสถานศึกษาอนุมัติโครงการแล้ว ให้ผู้เรียนนำโครงการดังกล่าวมาดำเนินงานโดยอยู่ในการ กำกับดูแลของครู และคณะกรรมการ

4. เมื่อดำเนินงานเสร็จสิ้นแล้ว ก็ให้จัดทำรายงานการดำเนินงานต่อสถานศึกษา เพื่อให้คณะ กรรมการพิจารณาและประเมินผลการปฏิบัติงาน

เกณฑ์การผ่านกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต

1. ผู้เรียนต้องเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตและปฏิบัติโครงการไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง

2. โครงการต้องบรรลุวัตถุประสงค์ โดยมีชิ้นงาน ร่องรอย และหรือเอกสารรายงาน

3. เกณฑ์การพิจารณาตัดสินการประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้เรียนต้องได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่า 70 จึงจะถือว่า “ผ่าน”


แบบบันทึก กพช ของนักศึกษา.pdf
แบบบันทึก กพช ของนักศึกษา.docx
แบบบันทึก กพช ของนักศึกษา.pdf