หลวงพ่อศิลา วัดทุ่งเสลี่ยม

“หลวงพ่อศิลา” วัดทุ่งเสลี่ยม

“หลวงพ่อศิลา”

พระพุทธรูปศิลา ปางนาคปรก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อศิลา” องค์นี้ มีลักษณะที่งดงาม เนื้อหินทรายขาวละเอียดหมดจด ไม่มีรอยสนิมหรือคราบใด ๆ เศียรนาค ๗ เศียร บนฐานขนาดนาคสามชั้น นาคที่ปรกอยู่เหนือพระเศียรมีเจ็ดเศียร ด้านหลังหางนาคพาดขึ้นมาถึงลำตัวไว้อย่างงดงาม มีความกลมกลืนกับองค์พระราวกับว่าเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่มีอิทธิพลทางศิลปะ สมัยลพบุรี คาดว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘ สูงประมาณ ๘๕.๕๐ เซนติเมตร ขนาดหน้าตักกว้าง ๔๔ เซนติเมตร พระพุทธรูปในยุคนี้มีอิทธิพลผสมผสานกันทั้งลัทธิหินยานและลัทธิมหายาน ซึ่งพวกขอมนำเข้ามาจากประเทศกัมพูชา พระอุระเรื่อยลงมาถึงพระนาภีก็มีรอยน้ำ ซึ่งเป็นรอยน้ำที่เกิดจากการจัดการเฉลิมฉลองแห่พระพุทธรูปศิลาไปรอบอำเภอทุ่งเสลี่ยม เนื่องจากพระพุทธรูปนี้ องค์พระแยกออกจากฐานโดยมีเดือยแหลมเสียบไว้กับฐาน เมื่อต้องการนำไปร่วมงานแห่เพื่อให้ประชาชนได้สักการะ จะนำเดือยนั้นเสียบไว้กับโอ่งน้ำ จึงทำให้เกิดรอยน้ำนี้ขึ้น นอกจากนี้บริเวณพระชงฆ์ขององค์พระมีรอยขี้ผึ้ง อีกประการอันเป็นเอกลักษณ์ขององค์พระ คือองค์พระไม่สามารถตั้งตรงได้ ต้องใช้ไม้เสียบไว้บริเวณฐานด้านล่างจึงจะสามารถตั้งตรงได้


“พระพุทธรูปศิลา”

“พระพุทธรูปศิลา” ปางนาคปรก ได้รับการอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดทุ่งเสลี่ยม อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ และเป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจของชาวบ้านทุ่งเสลี่ยม ให้อยู่ในศีลธรรมอันดีงาม เพื่อความสงบร่มเย็นของพุทธศาสนิกชน เป็นเวลาได้ ๔๘ ปี ทว่าช่วงเวลาแห่งความสุขของชาวบ้านทุ่งเสลี่ยมอยู่ได้ไม่นาน พระพุทธรูปศิลาก็ถูกโจรกรรมไปจากอุโบสถใหญ่ ในคืนวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๒๐ พระพุทธรูปศิลาเหลือไว้เพียงความทรงจำและภาพถ่าย สำหรับชาวทุ่งเสลี่ยมแล้วนับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่ยากจะหาสิ่งใดมาทดแทน ประมาณ ๔๘ ปี


มณฑปหลวงพ่อศิลา

จากนั้นกลุ่มอนุรักษ์ชาวไทยได้ทำหนังสือร้องเรียนผ่านหนังสือพิมพ์มติชนว่า ได้พบพระพุทธรูปปางนาคปรก ในหนังสือประมวลศิลปวัตถุเพื่อประมูลขาย ของสถาบันโซธบี (Sotheby's Institute) ในกรุงลอนดอน ทราบถึงชาวทุ่งเสลี่ยม จึงทำหนังสือร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยและกรมศิลปากร เพื่อให้ทางราชการติดตามทวงคืนพระพุทธรูป กรมศิลปากรจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบ และตามทวงหลวงพ่อศิลาคืน ในช่วงแรกรัฐบาลไทยนำโดยศาสตราจารย์อดุล วิเชียรเจริญ ได้เดินทางไปเจรจาทางหน่วยสืบราชการลับกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟบีไอ) แจ้งว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีอาญา อยู่นอกเหนืออำนาจของเอฟบีไอ รวมถึงการยื่นฟ้องตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศไม่สามารถทำได้ และผู้ประมูลหลวงพ่อศิลาได้เคลื่อนย้ายไปประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ทนายความของผู้ครอบครองแจ้งว่า ไม่ทราบว่าพระพุทธรูปมาจากการโจรกรรม แต่จะคืนให้โดยเรียกเงิน 5 ล้านบาท คณะกรรมการติดตามทวงพลวงพ่อศิลา นำโดย ร้อยตำรวจโทเชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางไปตรวจสอบรอยตำหนิ และมอบค่าชดเชยเป็นเงิน 5 ล้านบาท ซึ่งนายธนินท์ เจียรวนนท์ประธานกรรมการในเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายวัลลภ เจียรวนนท์ กรรมการบริหารฯ เป็นผู้พิจารณาสนับสนุนค่าชดเชยเป็นเงินอีก 5 ล้านบาท เพื่อนำพระพุทธรูปล้ำค่ากลับคืนสู่ประเทศไทย จากนั้นจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดทุ่งเสลี่ยมอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐


“องจำลองพระพุทธรูปศิลา”

พระพุทธรูปศิลา ปางนาคปรก องค์นี้ เคยประดิษฐานอยู่ที่ถ้ำเจ้าราม อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ซึ่งในถ้ำแห่งนี้มีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านมีอาชีพเก็บมูลค้างคาวขาย ได้ไปพบหลวงพ่อศิลาในถ้ำ จึงได้มาบอก ชาวบ้านทุ่งเสลี่ยม ผู้ใหญ่บ้าน (พ่อมา ผิวขาว) และหลวงพ่ออภัยซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งเสลี่ยม ซึ่งในขณะนั้นเป็นวัดเล็ก ๆ ที่เงียบสงบ มีความต้องการอัญเชิญพระพุทธรูปศิลาออกจากถ้ำ

จึงให้ชาวบ้านช่วยกันนำออกมา แต่ปรากฏว่าไม่มีใครสามารถอัญเชิญพระพุทธรูปศิลาออกมาจากถ้ำเจ้ารามได้ จนกระทั่งมีชาวบ้านไปบอกครูบาก๋วน วัดแม่ปะหลวง ครูบาต๋า วัดอุมลอง อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ทั้งสองท่านจึงได้เดินทางมาที่ถ้ำเจ้าราม และพร้อมใจกันนำพระพุทธรูปศิลาพร้อมแท่นรองรับองค์พระ ออกมาจากถ้ำ จากนั้นชาวบ้านจึงอัญเชิญหลวงพ่อศิลามาให้ประดิษฐานไว้ที่วัดทุ่งเสลี่ยม และได้จำลองพระพุทธรูปศิลา ไปไว้ที่วัดแม่ปะหลวง ตำบลแม่ปะ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง


ในวันขึ้น ๓ ค่ำ ถึงวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ เดือน ๔ ใต้ ชาวบ้านจะมีการจัดงานสมโภชพระพุทธรูปศิลาขึ้นจนกระทั่งกลายเป็นงานประจำปีของอำเภอทุ่งเสลี่ยม โดยในงานจะมีการนำลิเกมาแสดงเพื่อถวายสักการะ เพราะเชื่อกันว่าหลวงพ่อศิลาชอบลิเก เนื่องจากทุกครั้งที่มีการแสดงจะปรากฏว่า ท้องฟ้ามืดครึ้ม และมีค้างคาวพากันออกมาบินวนเวียนอยู่เหนืออุโบสถ ที่หลวงพ่อศิลาประดิษฐานเป็นจำนวนมากระยะเวลากว่า ๒๐ กว่าปี สำหรับการติดตามพระพุทธรูปศิลา ปางนาคปรก กลับคืนมา คุ้มค่ากับการรอคอยของคนไทยทั้งประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นบทเรียนยิ่งใหญ่ที่ควรค่าแก่การจดจำ และประทับรอยลงก้นบึ้งแห่งความรู้สึกหวงแหนมรดกที่บรรพบุรุษสร้างไว้ และควรสืบทอดต่อไปให้นานเท่านาน