ภูมิปัญญาท้องถิ่น


บทความ

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ในปัจจุบันเมืองไทยเราได้กลายเป็นประเทศที่รับเอาวัฒนธรรม ความรู้และเทคโนโลยีของต่างชาติเข้ามาอย่างมากมาย ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ทำให้คนไทยมีวิถีชีวิตที่เลียนแบบต่างชาติ โดยเฉพาะคนในสังคมเมือง ที่ต้องการความสะดวกสบายและความรวดเร็ว ไม่ว่าจะในการการเดินทาง การแต่งตัว การกิน การใช้ชีวิตที่หรูหรา สะดวกสบาย รวมทั้งวัสดุสิ่งของที่อำนวยความสะดวก จึงทำให้สังคมปัจจุบันโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน รับเอาวัฒนธรรมของชาติอื่นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง มีการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่เป็นวัยผู้ใหญ่รวมทั้งภาครัฐและเอกชนบางแห่ง ยังคงนึกถึงและให้ความสำคัญของภูมิปัญญาชาวบ้าน และเทคโนโลยีในท้องถิ่น ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อันดีงาม ที่เคยสืบทอดกันมาช้านาน ซึ่งปัจจุบันวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของไทยเราส่วนมากจะยังคงปฏิบัติสืบทอดกันมาตามชนบท หรือตามท้องถิ่นห่างไกล ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่ยังคงมีการสืบทอดภูมิปัญญาชาวบ้าน และเทคโนโลยีในท้องถิ่นอยู่ ดังนั้นการศึกษาภูมิปัญญาชาวบ้าน จึงเป็นการส่งเสริม สนับสนุน ให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นธำรงไว้ซึ่งศิลปะวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ภูมิปัญญาในท้องถิ่นให้แก่ผู้ที่สนใจได้รับทราบ และร่วมภูมิใจกับบุคคลในท้องถิ่นด้วย ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่กับสังคมมนุษย์มาช้านานเป็นการดำรงชีวิตที่เกี่ยวพันกับธรรมชาติของแต่ละท้องถิ่น มีการใช้ชีวิตแบบวิถีชาวบ้าน มีความพอเพียงในตนเองและท้องถิ่น มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมตามกาลเวลา


ความหมายของภูมิปัญญา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ (๒๕๔๖, หน้า ๘๒๖) ได้ให้ความหมายของคำว่า ภูมิปัญญาไว้ว่า “พื้นความรู้ความสามารถ” ภูมิปัญญาหมายถึง ทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรความรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นแต่ละแห่ง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะคน หรือเป็นลักษณะสากล ที่หลายถิ่นมีความคล้ายกันก็ได้ ภูมิปัญญา ชาวบ้านในแต่ละถิ่นเกิดจากการแสวงหาความรู้ เพื่อเอาชนะอุปสรรคทางธรรมชาติ ทางสังคม ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ภูมิปัญญานี้จึงเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและชาวบ้าน เช่น การประกอบพิธีกรรมของชุมชน หรือประเพณีการรวมกำลังช่วยกันทำงานใหญ่หลวงเกินวิสัยที่จะทำสำเร็จได้โดยคนเดียวเป็นต้น ภูมิปัญญาหมายถึง แบบแผนการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าแสดงถึงความเฉลียวฉลาดของบุคคล และสังคม ซึ่งได้สั่งสมและปฏิบัติสืบต่อกันมาภูมิปัญญาจะเป็นทรัพยากรของบุคคลหรือ ทรัพยากรความรู้ก็ได้ทรัพยากรความรู้ที่ถือว่าเป็นภูมิปัญญา ได้แก่ ความรู้ในสาขาอาชีพหรือวิชาการด้านต่าง ๆ เช่น การคัดเลือกพันธุ์ข้าว การถนอมอาหาร วัฒนธรรม ศิลปะ จารีตประเพณี เป็นต้นส่วนทรัพยากรบุคคลที่ถือว่าเป็นภูมิปัญญา ได้แก่ ชาวนาผู้ประสบความสำเร็จในการผลิต พราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในบายศรี เป็นต้น ภูมิปัญญาท้องถิ่น (local wisdom)

หรือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน (popular wisdom) เป็นคำที่รู้จักกันมานานพอสมควร เป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้ง หลายแง่มุม ซึ่งมีนักวิชาการได้ให้ความหมายไว้ในแง่มุมต่างกัน ดังนี้

ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน (Popular Wisdom) หรือปัญญาชนชาวบ้านหรือปัญญาชนท้องถิ่น (Intellectual Organic) หมายถึง “พื้นเพรากฐานของความรู้ของชาวบ้าน หรือความรอบรู้ของชาวบ้านที่เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์สืบเนื่องต่อกันมาทั้งทางตรง คือ ประสบการณ์ด้วยตนเองหรือทางอ้อมซึ่งเรียนรู้จากผู้ใหญ่ หรือความรู้ที่สะสมสืบต่อกันมา" (สามารถ จันทร์สูรย์,๒๕๓๓ อ้างถึงใน สำเนียง สร้อยนาคพงษ์,๒๕๓๕:๒๔) ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาแห่งชีวิต ทำให้สังคมดำรงอยู่ได้มาเป็นเวลานาน เพราะสังคมเปรียบเสมือนมนุษย์ หากไม่มีสอนหรือปัญญาย่อมไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ (ประเวศ วสี,๒๕๓๔) อ้างถึงใน นิลุบล คงเกตุ,๒๕๔๐ หน้า ๔๓) วันเพ็ญ พวงพันธุ์บุตร (๒๕๔๒:๑๐๘) ให้ทัศนะเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทยว่า หมายถึงองค์ความรู้ทั้งหลายที่มีการสั่งสมและถ่ายทอดสืบต่อกันมาของชาติไทย โดยการคิดค้นปรับเปลี่ยนผสมผสานกับความรู้ใหม่ และพัฒนาให้เหมาะสม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต มีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง รุ่ง แก้วแดง (๒๕๔๓:๒๐๔) ได้กล่าวถึงภูมิปัญญาไทยว่า หมายถึง องค์ความรู้ความสามารถและทักษะของคนไทย อันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเลือกสรรเรียนรู้พัฒนาและถ่ายทอดสืบต่อกันมา เพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับยุคสมัย รัตนะ บัวสนธิ์ (๒๕๓๕:๓๕) กล่าวว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น หมายถึงกระบวนทัศน์ชองบุคคลที่มีต่อตนเอง ต่อโลกและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระบวนทัศน์ดังกล่าวมีรากฐานจากคาสอนทางศาสนา คติ จารีตประเพณีที่ได้รับการถ่ายทอด สั่งสอนและปฏิบัติสืบเนื่องกันมา ปรับเข้ากับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลง แต่ละสมัย ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายเพื่อความสงบสุขของส่วนที่เป็นชุมชน และปัจเจกบุคคล

สรุปได้ว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน จะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดขึ้นได้เอง และนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา เป็นเทคนิควิธี เป็นองค์ความรู้ของชาวบ้านทั้งทางกว้างและทางลึกที่ชาวบ้านคิดทำ โดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่แก้ปัญหาการดำเนินชีวิตในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัย

ประเภทของภูมิปัญญาท้องถิ่น

ภูมิปัญญาท้องถิ่น หมายร่วมถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้าน คิดค้นขึ้น แล้วนามาปรับปรุงแก้ไขพัฒนาแก้ปัญหา เป็นทั้ง สติปัญญาและองค์ความรู้ทั้งหมดของชาวบ้าน ดังนั้นจึงมีความครอบคลุมเนื้อหาสาระและแนวทางดำเนินชีวิตในวงกว้าง ภูมิปัญญาท้องถิ่นประกอบไปด้วยองค์ความรู้ใน หลายวิชาดังที่

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (๒๕๔๑)ได้จำแนกไว้รวม ๑๐ สาขา คือ

๑.สาขาเกษตรกรรม หมายถึง ความสามารถในการผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะ และเทคนิคด้านการเกษตรกับเทคโนโลยี โดยการพัฒนาบนพื้นฐาน คุณค่าดั้งเดิม ซึ่งคนสามารถพึ่งพาตนเองในสภาวการณ์ต่าง ๆ ได้ เช่น การทำการเกษตรแบบผสมผสาน การแก้ปัญญา การเกษตร เป็นต้น

๒. สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม (ด้านการผลิตและการบริโภค) หมายถึง การรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแปรรูปผลผลิตเพื่อ ชะลอการนำเข้าตลาด เพื่อแก้ปัญหาด้านการบริโภคอย่างปลอดภัยประหยัด และเป็นธรรมอันเป็นกระบวนการให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองทาง เศรษฐกิจได้ ตลอดทั้งการผลิตและการจัดจำหน่ายผลผลิตทางหัตถกรรม เช่น การรวมกลุ่มของกลุ่มโรงงานยางพารา กลุ่มหัตถกรรม และอื่น ๆ เป็นต้น

๓. สาขาการแพทย์ไทย หมายถึง ความสามารถในการจัดการป้องกัน และรักษาสุขภาพของคนในชุมชน โดยเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านสุขภาพและอนามัยได้

๔. สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง ความสามารถเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งอนุรักษ์การพัฒนา และใช้ประโยชน์จากคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล และยั่งยืน

๕. สาขากองทุนและธุรกิจชุมชน หมายถึง ความสามารถในด้านบริหารจัดการค้าการสะสมและบริการกองทุนและธุรกิจในชุมชน ทั้งที่เป็นเงินตราและโภคทรัพย์ เพื่อเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชน

๖. สาขาสวัสดิการ หมายถึง ความสามารถในการจัดสวัสดิการในการประกันคุณภาพชีวิตของคนให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

๗. สาขาศิลปกรรม หมายถึง ความสามารถในการผลิตผลงานทางด้านศิลปะ สาขาต่าง ๆ เช่น จิตกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม ทัศนศิลป์ คีตศิลป์ เป็นต้น

๘. สาขาจัดการ หมายถึง ความสามารถในการบริหารการจัดการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ทั้งขององค์กรชุมชน องค์กรทางสังคมอื่น ๆ ในสังคมไทย เช่น การจัดการองค์กรของกลุ่มแม่บ้านระบบผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เป็นต้น กรณีของการจัดการศึกษาเรียนรู้นับได้ว่าเป็นภูมิปัญญาสาขาการจัดการที่มีความสำคัญ เพราะการจัดการศึกษาเรียนรู้ดี หมายถึงกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาและถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาไทยที่มีประสิทธิผล

๙. สาขาภาษาและวรรณกรรม หมายถึง ความสามารถผลิตผลงานเกี่ยวกับด้านภาษา ทั้งภาษาถิ่น ภาษาโบราณ ภาษาไทย และการใช้ ภาษา ตลอดทั้งด้านวรรณกรรมทุกประเภท

๑๐. สาขาศาสนาและประเพณีหมายถึง ความสามารถประยุกต์ และปรับใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนาความเชื่อและประเพณีดั้งเดิมที่มีคุณค่า ให้เหมาะสมต่อการประพฤติปฏิบัติให้บังเกิดผลดีต่อบุคคล และสิ่งแวดล้อม เช่น การถ่ายทอดหลักศาสนา การบวชป่า การประยุกต์ประเพณี บุญประทายข้าว เป็นต้น

กศน.ตำบลบางเสาธง มีบุคคลที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านและเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีผลงานด้านสาขากองทุนและธุรกิจชุมชน จนได้รับรางวัล คือ นางเพ็ญศรี ปรืองาม มีองค์ความรู้ด้านการจัดการกองทุนและ ธุรกิจชุมชุม ชื่อกองทุนสวัสดิการ ชุมชน ๒๐๑ หมู่ ๑ ตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งกลุ่มเกิดขึ้นจากกลุ่มออมทรัพย์เมืองใหม่บางพลีของเทศบาลบางเสาธง ซึ่งร่วมกันออมเงินแล้วให้สมาชิกกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยถูกร้อยละ ๑ บาทต่อปี และนำเงินที่ได้มาก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ จนถึงปัจจุบัน โดยปัจจุบันมีสมาชิกของกองทุน จำนวน ๖๗๔ คน บริหารกองทุนในรูปแบบคณะกรรมการโดยมีคณะกรรมการ ๑๒ คน ซึ่งกองทุนสวัสดิการดูแลเกี่ยวกับ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของคนในชุมชน จำนวน ๑๗ ชุมชน ในเขตเทศบาลตำบลบางเสาธง โดยมีระเบียบและการช่วยเหลือดังนี้ เด็กแรกเกิด ช่วยเหลือ จำนวน ๕๐๐ บาท เจ็บป่วยเยี่ยมครั้งละไม่เกิน ๕๐๐ บาท เสียชีวิตครอบครัวละ ๓๐๐ บาทในปีแรก ปีต่อไปช่วยเหลือ ๕๐๐ บาท มอบทุนการศึกษาให้กับบุตรหลานคนในชุมชน ปีแรกเมือเด็กอายุครบ ๗ ขวบ เข้าศึกษาประถมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน ๕๐๐ บาท ครั้งเดียวกองทุนสวัสดิการได้รับเงินจากสมาชิกในกองทุนสมทบ วันละ ๑ บาท ต่อคน พัฒนาชุมชนสมทบ ๔ ปี เป็นเงิน จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท(สามแสนบาท) และได้รับสมทบจากเทศบาลบางเสาธง จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท(หนึ่งแสนบาท) ซึ่งในปัจจุบัน กองทุนสวัสดิการมีเงินทุนหมุนเวียน จำนวน ๙๗๖,๙๑๐ บาท(เก้าแสนเจ็ดหมื่นหกพันเก้าร้อยสิบบาทถ้วน) นอกจากนี้นางเพ็ญศรี ปรืองาม ยังมีความรู้ความสามารถสืบสาน และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ สามารถนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาองค์ความรู้ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน และนำองค์ความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติจริงและเกิดเป็นรูปธรรมจนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์จนได้รับรางวัลเป็นผู้ที่นำองค์ความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติจริงและเกิดเป็นรูปธรรม โดยนางเพ็ญศรี ปรืองาม ได้เข้ารับการอบรมพัฒนาตนเองร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ

นางเพ็ญศรี ปรืองาม เป็นผู้มีจิตอาสาที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ต่าง ๆ โดยไม่เคยคิดถึงผลตอบแทนใด ได้แก่ ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน และธุรกิจชุมชนด้านธนาคารขยะ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากฝีมือของคนในชุมชน ได้แก่ น้ำยาล้างจาน ไข่เค็ม ชุดผ้าฝ้าย จำหน่ายให้กับประชาชนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง ในราคาถูก และมีผลงานเด่นเป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการ ชุมชนและสังคม ด้านการส่งเสริมสุขภาพของ รพ.สต.เมืองใหม่บางพลี โครงการการส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อม ครองตน ครองคน ครองงานโดยร่วมกับกลุ่มอสม.และทีมครอบครัวที่ประกอบไปด้วย ประชาชนกลุ่มสมาชิก

อสม. บุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองใหม่บางพลี หรือที่เรียกว่าหมอครอบครัว ให้เป็นอาสาสมัครดีเด่น