ใบความรู้ วิชาพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม

ใบความรู้เรื่องที่ 1 การพัฒนาตนเอง

1.1 ความหมายของ การพัฒนา

การพัฒนา หมายถึง การทำให้ดีขึ้น ให้เจริญขึ้น เป็นการเพิ่มคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ การพัฒนาอาจพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่เดิม หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาก็ได้

1.2 ความหมายของ การพัฒนาตนเอง

การพัฒนาตนเอง (Self Development) หมายถึง ความต้องการของบุคคล

ในการที่จะพัฒนาความรู้ ความสามารถของตนจากที่เป็นอยู่ ให้มีความรู้ ความสามารถเพิ่มขึ้น เกิดประโยชน์ต่อตน และหน่วยงาน อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาตนเองตามศักยภาพของตนให้ดีขึ้นทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เพื่อเป็นสมาชิกที่มีประสิทธิภาพของสังคม เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ตลอดจนเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข

1.3 หลักการพัฒนาตนเอง

การพัฒนาตนเองเป็นการพัฒนาคุณสมบัติที่อยู่ในตัวบุคคล เป็นการจัดการตนเองให้

มีเป้าหมายชีวิตที่ดี ทั้งในปัจจุบันและอนาคต การพัฒนาตนเอง จะทำให้บุคคลสำนึกในคุณค่าความเป็นคนได้มากยิ่งขึ้น

ชาญชัย อาจินสมาจาร (ม.ป.ป.) ได้กล่าวถึง การพัฒนาตนเองเป็นการเปลี่ยนแปลงตนเองจากศักยภาพเดิมที่มีอยู่ไปสู่ศักยภาพระดับที่สูงกว่า โดย

1.31) บุคคลต้องสามารถปลดปล่อยศักยภาพระดับใหม่ออกมา

1.3.2) มีสิ่งท้าทายภายนอกที่เหมาะสม

1.3.3) คนที่มีการพัฒนาตนเอง ควรรับรู้ความท้าทายในตัวคนทั้งหมด (Total self)

1.3.4) เป็นการริเริ่มด้วยตัวเอง แรงจูงใจเบื้องต้นเกิดขึ้นผ่านผลสัมฤทธิ์ของตัวเอง และการทำให้บรรลุความสำเร็จด้วยตนเอง รางวัลและการลงโทษจากภายนอกเป็นเรื่องที่รองลงมา

1.3.5) การพัฒนาตนเอง ต้องมีการเรียนรู้ มีการหยั่งเชิงอย่างสร้างสรรค์

1.3.6) การพัฒนาตนเอง ต้องเต็มใจที่จะเสี่ยง

1.3.7) ต้องมีความตั้งใจที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะผ่านขึ้นไปสู่ศักยภาพใหม่

1.3.8) การพัฒนาตนเองต้องการคำแนะนำ และการสนับสนุนของนักพัฒนาตนเองที่มีวุฒิภาวะมากกว่า

ดังนั้น การพัฒนาตนเองจะประสบความสำเร็จได้ เมื่อมีความต้องการที่เกิดจากงาน บุคคลควรมีความต้องการในการปรับปรุงเพื่อให้เป็นผู้ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์

ปราณี รามสูต และจำรัส ด้วงสุวรรณ (2545 :125-129)ได้กล่าวถึง หลักการพัฒนาตนเอง แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ

ขั้นที่ 1 การตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการปรับปรุงตนเอง เป็นความต้องการในการที่จะพัฒนาตนเอง เพื่อชีวิตที่ประสบความสำเร็จ คือ การพัฒนาตนเองในแง่ความรู้และในทุกด้านให้ดีขึ้นมากที่สุด เท่าที่จะทำได้

ขั้นที่ 2 เป็นขั้นการวิเคราะห์ตนเอง โดยการสังเกตตนเอง ประเมินตนเอง และสังเกตพฤติกรรมของผู้อื่น รวมทั้งเปรียบเทียบบุคลิกภาพที่สังคมต้องการ

ขั้นที่ 3 การวางแผนพัฒนาตนเองและการตั้งเป้าหมาย

1.4 แนวทางการพัฒนาตนเอง

นอกจากหลักการพัฒนาตนเองที่กล่าวมาแล้ว ยังมีแนวทางการพัฒนาตนเอง

ดังนี้

1.4.1 การพัฒนาด้านจิตใจ หมายถึง การพัฒนาสภาพของจิตที่มีความรู้สึกที่ดี

ต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม มองโลกในแง่ดี เชิงสร้างสรรค์

1.4.2 การพัฒนาด้านร่างกาย หมายถึง การพัฒนารูปร่างหน้าตา กริยาท่าทาง การแสดงออก น้ำเสียงวาจา การสื่อความหมายรวมไปถึงสุขภาพอนามัย และการแต่งกายเหมาะกับกาลเทศะ รูปร่างและผิวพรรณ

1.4.3 การพัฒนาด้านอารมณ์ หมายถึง การพัฒนาความสามารถในการควบคุมความรู้สึกนึกคิดและการแสดงออก ควบคุมอารมณ์ที่เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่น

1.4.4 การพัฒนาด้านสติปัญญา และความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ หมายถึง การพัฒนาความรอบรู้ ความฉลาด ไหวพริบ ปฏิภาณ การวิเคราะห์ การตัดสินใจ ความสามารถในการแสวงหาความรู้ และฝึกทักษะใหม่ ๆ เรียนรู้วิถีทางการดำเนินชีวิตที่ดี

1.4.5 การพัฒนาด้านสังคม หมายถึง การพัฒนาปฏิบัติตน ท่าทีต่อสิ่งแวดล้อม ประพฤติตนตามปทัสฐานทางสังคม

1.4.6 การพัฒนาด้านความรู้ ความสามารถ หมายถึง การพัฒนาความรู้ ความสามารถที่มีอยู่ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

1.4.7 การพัฒนาตนเองสู่ความต้องการของตลาดแรงงาน หมายถึง การพัฒนาความรู้ความสามารถ ทักษะ ความชำนาญทางอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

การพัฒนาคนในองค์การ จึงจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมองค์การที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เพิ่มเติมอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสวงหาความรู้โดยการอ่าน และการคิด เพราะความรู้เป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สามารถสร้างคุณค่าและประโยชน์ให้แก่ตนเองและองค์การ

1.5 วิธีการพัฒนาตนเอง

องค์กร หน่วยงานต่าง ๆ มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาบุคลากรของตน ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นผู้ทรงคุณค่า การที่บุคลากรได้รับการพัฒนานั้น จะเป็นหลักประกันได้ว่า หน่วยงานนั้นจะสามารถรักษาบุคลากรไว้ได้ยาวนาน และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าสูงขององค์กรนั้นต่อไป ซึ่งมีวิธีการพัฒนาตนเองโดยการฝึกอบรม ตามหลักวิชาการ ดังนี้

1. การลงมือฝึกปฏิบัติจริง

2. การบรรยายในห้องเรียน

3. การลงมือปฏิบัติงานจริง นอกเวลางานควบคู่กันไป

4. การอบรมเพิ่มเติม

5. การฝึกจำลองเหตุการณ์ และใช้วิธีการอื่น ๆ

6. การศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองจากแหล่งความรู้ต่างๆ แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์อยู่เสมอ

เมื่อบุคคลได้มีการพัฒนาตนเองได้อย่างสมบูรณ์แล้ว จะก่อให้เกิดประโยชน์

ต่าง ๆ กับตนเอง รวมถึงประโยชน์จากการเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นและสังคม ดังนี้

1. ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง

1.1 การประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิต

1.2 การประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพการงาน

1.3 การมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์

1.4 การมีความเชื่อมั่นในตนเอง

1.5 การมีความสงบสุขทางจิตใจ

2. ประโยชน์จากการเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นและสังคม

2.1 การได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากเพื่อนร่วมงานและบุคคลอื่น

2.2 ความสามารถร่วมมือและประสานงานกับบุคคลอื่น

2.3 ความรับผิดชอบและความมานะอดทนในการปฏิบัติงาน

2.4 ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อพัฒนางาน ความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อม

2.5 ความจริงใจ ความเสียสละ และความซื่อสัตย์สุจริต

2.6 การรักและเคารพหมู่คณะ และการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม 2.7 การได้รับการยกย่อง และยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน

การดำเนินการพัฒนาตนเอง เป็นการลงมือปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างตนเองให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ ควรดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1. การหาความรู้เพิ่มเติม อาจกระทำโดย

1.1 การอ่านหนังสือเป็นประจำและอย่างต่อเนื่อง

1.2 การเข้าร่วมประชุมหรือเข้ารับการฝึกอบรม

1.3 การสอนหนังสือหรือการบรรยายต่าง ๆ

1.4 การร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนหรือองค์การต่าง ๆ

1.5 การร่วมเป็นที่ปรึกษาแก่บุคคลหรือหน่วยงาน

1.6 การศึกษาต่อหรือเพิ่มเติมจากสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยเปิด

1.7 การพบปะเยี่ยมเยียนบุคคลหรือหน่วยงานต่าง ๆ

1.8 การเป็นผู้แทนในการประชุมต่าง ๆ

1.9 การจัดทำโครงการพิเศษ

1.10 การปฏิบัติงานแทนหัวหน้างาน

1.11 การค้นคว้าหรือวิจัย

1.12 การศึกษาดูงาน

2. การเพิ่มความสามารถและประสบการณ์ อาจกระทำโดย

2.1 การลงมือปฏิบัติจริง

2.2 การฝึกฝนโดยผู้ทรงคุณวุฒิหรือหัวหน้างาน

2.3 การอ่าน การฟัง และการถาม จากเอกสารและหรือผู้ทรงคุณวุฒิหรือหัวหน้างาน

2.4 การทำงานร่วมกับบุคคลอื่น

2.5 การค้นคว้าวิจัย

2.6 การหมุนเวียนเปลี่ยนงาน


ใบความรู้เรื่องที่ 2 การพัฒนาชุมชน

การพัฒนาชุมชน เป็นการนำคำสองคำมารวมกัน คือ คำว่า “การพัฒนา” กับคำว่า

“ชุมชน” ซึ่งความหมายของคำว่า “การพัฒนา” ได้กล่าวถึงแล้วในเรื่องของการพัฒนาตนเอง ในที่นี้จะกล่าวถึงความหมายของชุมชน

1 ความหมายของ ชุมชน

ชุมชน (Community) หมายถึง กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตเดียวกัน มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน มีความศรัทธา ความเชื่อ เชื้อชาติ การงาน มีความสนใจ และปฏิบัติตนในวิถีชีวิตประจำวันที่คล้ายคลึงกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน

2 ความหมายของ การพัฒนาชุมชน

การพัฒนาชุมชน (Community Development)หมายถึง การทำให้ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หรือเจริญขึ้น ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น ประชาชนในชุมชนนั้น ๆ ร่วมกันวางแผนและลงมือกระทำเอง กำหนดว่ากลุ่มของตนและของแต่ละคนต้องการ และมีปัญหาอะไร เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการและสามารถแก้ไขปัญหานั้น โดยใช้ทรัพยากรในชุมชนให้มากที่สุด ถ้าจำเป็นอาจขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ สนับสนุน

ดังนั้น เมื่อนำคำว่า “การพัฒนา” รวมกับ “ชุมชน”แล้วก็จะได้ความหมายว่า การพัฒนาชุมชน ก็คือ การเปลี่ยนแปลงชุมชนให้ดีขึ้น หรือให้เจริญขึ้นในทุก ๆ ด้านนั่นเอง นั่นคือจะต้องพัฒนาคน กลุ่มชน สิ่งแวดล้อมทางวัตถุหรือสาธารณสมบัติ และพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้บังเกิดผลดีแก่ประเทศชาติโดยส่วนรวม

3 ปรัชญาขั้นมูลฐานของงานพัฒนาชุมชน

ปรัชญาขั้นมูลฐานของงานพัฒนาชุมชน สรุปได้ดังนี้

2.3.1 บุคคลแต่ละคนย่อมมีความสำคัญ และมีความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน จึงมีสิทธิอันพึงได้รับการปฏิบัติด้วยความยุติธรรม และอย่างบุคคลมีเกียรติในฐานะที่เป็นมนุษย์ปุถุชนผู้หนึ่ง

2.3.2 บุคคลแต่ละคนย่อมมีสิทธิ และสามารถที่จะกำหนดวิธีการดำรงชีวิตของตนไปในทิศทางที่ตนต้องการ

2.3.3 บุคคลแต่ละคนถ้าหากมีโอกาสแล้ว ย่อมมีความสามารถที่จะเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงทัศนะ ประพฤติปฏิบัติและพัฒนาขีดความสามารถให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงขึ้นได้

2.3.4 มนุษย์ทุกคนมีพลังในเรื่องความคิดริเริ่ม ความเป็นผู้นำ และความคิดใหม่ ๆ ซึ่งซ่อนเร้นอยู่ และพลังความสามารถเหล่านี้สามารถเจริญเติบโต และนำออกมาใช้ได้ ถ้าพลังที่ซ่อนเร้นเหล่านี้ได้รับการพัฒนา

2.3.5 การพัฒนาพลังและขีดความสามารถของชุมชนในทุกด้านเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา และมีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตของบุคคล ชุมชน และรัฐ

4 แนวคิดพื้นฐานของการพัฒนาชุมชน

การศึกษาแนวคิดพื้นฐานของงานพัฒนาชุมชน เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เจ้าหน้าที่หรือนักพัฒนาได้ลงไปทำงานกับประชาชนได้อย่างถูกต้อง และทำให้งานมีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวคิดพื้นฐานงานพัฒนาชุมชน มีดังนี้

2.4.1 การมีส่วนร่วมของประชาชน (People Participation) เป็นหัวใจของการพัฒนาชุมชน โดยยึดหลักของการมีส่วนร่วมที่ว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจ วางแผนการปฏิบัติการ ร่วมบำรุงรักษา ติดตามและประเมินผล

2.4.2 การช่วยเหลือตนเอง (Aide Self-Help) เป็นแนวทางในการพัฒนาที่ยึดเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่ง คือ ต้องพัฒนาให้ประชาชนพึ่งตนเองได้มากขึ้น โดยมีรัฐคอยให้การช่วยเหลือสนับสนุน ในส่วนที่เกินขีดความสามารถของประชาชน ตามโอกาสและหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม

2.4.3 ความคิดริเริ่มของประชาชน (Initiative) ในการทำงานกับประชาชนต้องยึดหลักการที่ว่า ความคิดริเริ่มต้องมาจากประชาชน ซึ่งต้องใช้วิถีแห่งประชาธิปไตย และหาโอกาสกระตุ้นให้การศึกษา ให้ประชาชนเกิดความคิด และแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อหมู่บ้าน ตำบล

2.4.4 ความต้องการของชุมชน (Felt-Needs) ในการพัฒนาชุมชนต้องให้ประชาชน และองค์กรประชาชนคิด และตัดสินใจบนพื้นฐานความต้องการของชุมชนเอง เพื่อให้เกิดความคิดที่ว่างานเป็นของประชาชน และจะช่วยกันดูแลรักษาต่อไป

2.4.5 การศึกษาภาคชีวิต (Life-Long Education)ในการทำงานพัฒนาชุมชน ถือเป็นกระบวนการให้การศึกษาภาคชีวิตแก่ประชาชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคน การให้การศึกษาต้องให้การศึกษาอย่างต่อเนื่องกันไป ตราบเท่าที่บุคคลยังดำรงชีวิตอยู่ในชุมชน

หลักการพัฒนาชุมชน

จากปรัชญา และแนวคิดพื้นฐานของการพัฒนาชุมชน ได้นำมาใช้เป็นหลักการพัฒนาชุมชน ซึ่งนักพัฒนาต้องยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ มีดังนี้

2.51 หลักความมีศักดิ์ศรี และศักยภาพของประชาชน และเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้มากที่สุด จึงต้องให้โอกาสประชาชนในการคิด วางแผนเพื่อแก้ปัญหาชุมชนด้วยตัวของเขาเอง นักพัฒนาควรเป็นผู้กระตุ้น แนะนำ ส่งเสริม

2.5.2 หลักการพึ่งตนเองของประชาชน ต้องสนับสนุนให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ โดยการสร้างพลังชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชน ส่วนรัฐบาลจะช่วยเหลือ สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และช่วยเหลือในส่วนที่เกินความสามารถของประชาชน

2.5.3 หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมคิด ตัดสินใจ วางแผน ปฏิบัติตามแผน และติดตามประเมินผลในกิจกรรม หรือโครงการใด ๆ ที่จะทำในชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการดำเนินงาน อันเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องความเป็นเจ้าของโครงการ หรือกิจกรรม

2.5.4 หลักประชาธิปไตย ในการทำงานพัฒนาชุมชนจะต้องเริ่มด้วยการพูดคุย ประชุมหารือร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ และทำร่วมกัน รวมถึงรับผิดชอบร่วมกันภายใต้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตย

นอกจากหลักการพัฒนาชุมชนดังกล่าวแล้ว องค์การสหประชาชาติ ยังได้กำหนด

หลักการดำเนินงานพัฒนาชุมชนไว้ 10 ประการ คือ

1. ต้องสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

2. ต้องเป็นโครงการเอนกประสงค์ที่ช่วยแก้ปัญหาได้หลายด้าน

3. ต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติไปพร้อม ๆ กับการดำเนินงาน

4. ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

5. ต้องแสวงหาและพัฒนาให้เกิดผู้นำในท้องถิ่น

6. ต้องยอมรับให้โอกาสสตรี และเยาวชนมีส่วนร่วมในโครงการ

7. รัฐต้องเตรียมจัดบริการให้การสนับสนุน

8. ต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพทุกระดับ

9. สนับสนุนให้องค์กรเอกชน อาสาสมัครต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วม

10. ต้องมีการวางแผนให้เกิดความเจริญแก่ชุมชนที่สอดคล้องกับความเจริญในระดับชาติด้วย

จากหลักการดังกล่าว สรุปได้ว่า การพัฒนาชุมชนเป็นกระบวนการที่จะพยายามเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยร่วมมือกันพัฒนาให้ชุมชนของตนเองเป็นชุมชนที่ดี สร้างความรู้สึกรักและผูกพันต่อชุมชนตนเอง เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาชุมชนจึงมุ่งไปยังประชาชน โดยผ่านกระบวนการให้การศึกษาแก่ประชาชนและกระบวนการรวมกลุ่มเป็นสำคัญ เพราะพลังสำคัญที่จะบันดาลให้การพัฒนาบรรลุผลสำเร็จนั้นอยู่ที่ตัวประชาชน

ใบความรู้ เรื่องที่ 3 การพัฒนาสังคม

1 ความหมายของการพัฒนาสังคม

การพัฒนาสังคม (Social Development) หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และวัฒนธรรม เพื่อประชาชนจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งทางด้านที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สุขภาพอนามัย การศึกษา การมีงานทำ มีรายได้เพียงพอในการครองชีพ ประชาชนได้รับความเสมอภาค ความยุติธรรม มีคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทุกขั้นตอนอย่างมีระบบ

2 ความสำคัญของการพัฒนาสังคม

เมื่อบุคคลมาอยู่รวมกันเป็นสังคม ปัญหาต่าง ๆ ก็ย่อมจะเกิดตามมาเสมอ ยิ่งสังคมมีขนาดใหญ่ ปัญหาก็ยิ่งจะมีมากและสลับซับซ้อนเป็นเงาตามตัว ปัญหาหนึ่งอาจจะกลายเป็นสาเหตุอีกหลายปัญหาเกี่ยวโยงกันไปเป็นลูกโซ่ ถ้าปล่อยไว้ก็จะเพิ่มความรุนแรง เพิ่มความสลับซับซ้อน และขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ ยากต่อการแก้ไข ความสงบสุขของประชาชนในสังคมนั้นก็จะไม่มี ดังนั้น ความสำคัญของการพัฒนาสังคม อาจกล่าวเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

1. ทำให้ปัญหาของสังคมลดน้อยและหมดไปในที่สุด

2. ป้องกันไม่ให้ปัญหานั้นหรือปัญหาในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นแก่สังคมอีก

3. ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าขึ้นมาแทน

4. ทำให้ประชาชนในสังคมสมานสามัคคีและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตามฐานะของแต่ละบุคคล

5. ทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของสังคม

3 แนวคิดในการพัฒนาสังคม

การพัฒนาสังคมมีขอบเขตกว้างขวาง เพราะปัญหาของสังคมมีมาก และสลับซับซ้อน การแก้ปัญหาสังคมจึงต้องทำอย่างรอบคอบ และต้องอาศัยความร่วมมือกันของบุคคลจากหลาย ๆ ฝ่าย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในสังคมนั้น ๆ จะต้องรับรู้ พร้อมที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเสมอ การพัฒนาสังคมจึงต้องเป็นทั้งกระบวนการ วิธีการ กรรมวิธีเปลี่ยนแปลง และแผนการดำเนินงาน ซึ่งมีรายละเอียด คือ

1. กระบวนการ (Process) การแก้ปัญหาสังคมต้องกระทำต่อเนื่องกันอย่างมีระบบ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากลักษณะหนึ่งไปสู่อีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งจะต้องเป็นลักษณะที่ดีกว่าเดิม

2. วิธีการ (Method) การกำหนดวิธีการในการดำเนินงาน โดยเฉพาะเน้นความร่วมมือของประชาชนในสังคมนั้นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่จะทำงานร่วมกัน และวิธีการนี้ต้องเป็นที่ยอมรับว่า สามารถนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมได้อย่างถาวรและมีประโยชน์ต่อสังคม

3. กรรมวิธีเปลี่ยนแปลง (Movement) การพัฒนาสังคมจะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้ และจะต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเน้นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของตน เพื่อให้เกิดสำนึกในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ของส่วนรวม และรักความเจริญก้าวหน้าอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ

4. แผนการดำเนินงาน (Planning) การพัฒนาสังคมจะต้องทำอย่างมีแผน มีขั้นตอน สามารถตรวจสอบ และประเมินผลได้ แผนงานนี้จะต้องมีทุกระดับ นับตั้งแต่ระดับชาติ คือ แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลงมาจนถึงระดับผู้ปฏิบัติ แผนงานจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาสังคม

4 การพัฒนาสังคมไทย

การพัฒนาสังคมไทย สามารถกระทำไปพร้อม ๆ กันทั้งสังคมในเมืองและสังคมชนบท แต่เนื่องจากสังคมชนบทเป็นที่อยู่อาศัยของชนส่วนใหญ่ของประเทศ การพัฒนาจึงทุ่มเทไปที่ชนบทมากกว่าในเมือง และการพัฒนาสังคมจะต้องพัฒนาหลาย ๆ ด้าน ไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะที่เป็นปัจจัยต่อการพัฒนาด้านอื่น ๆ ได้แก่การศึกษา และการสาธารณสุข

การพัฒนาด้านการศึกษา การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ในการวัดความเจริญของสังคม สำหรับประเทศไทยการพัฒนาด้านการศึกษายังไม่เจริญก้าวหน้าอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมในชนบทของไทย จะพบประชาชนที่ไม่รู้หนังสือ และไม่จบการศึกษาภาคบังคับอยู่ค่อนข้างมาก

ความสำคัญของการศึกษาที่มีต่อบุคคลและสังคม

การศึกษาก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ทำให้คนมีความรู้ ความเข้าใจในวิทยาการใหม่ ๆ กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ตลอดทั้งมีเหตุผลในการแก้ปัญหาต่าง ๆ การพัฒนาด้านการศึกษา ก็คือ การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของบุคคล และเมื่อบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมมีคุณภาพแล้ว ก็จะทำให้สังคมมีการพัฒนาตามไปด้วย สถาบันที่สำคัญในการพัฒนาการศึกษา ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งของรัฐและเอกชน

การพัฒนาด้านสาธารณสุข การสาธารณสุข เป็นการป้องกันและรักษาโรค ทำนุบำรุงให้ประชาชนมีสุขภาพและพลานามัยที่ดี มีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ สังคมใดจะเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าได้ จำเป็นต้องมีพลเมืองที่มีสุขภาพอนามัยดี อันเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นต้องจัดให้มีการพัฒนาสาธารณสุขขึ้น เพราะมีความสำคัญทั้งต่อตัวบุคคลและสังคม

การบริหารงานของทุกรัฐบาล เน้นที่ ความกินดี อยู่ดี หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน อยากให้คนมีความสุข มีรายได้มั่นคง มีสุขภาพดี ครอบครัวอบอุ่น มีชุมชนเข้มแข็ง และ สังคมอยู่เย็นเป็นสุข มีความสมานฉันท์ และเอื้ออาทรต่อกัน ในด้านการพัฒนาทางสังคมนั้น อาจกล่าวได้ว่า ทำไปเพื่อให้คนมีความมั่นคง 10 ด้าน คือ ด้านการมีงานทำและรายได้ ด้านครอบครัว ด้านสุขภาพอนามัย ด้านการศึกษา ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (ส่วนบุคคล) ด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ด้านสิทธิและความเป็นธรรม ด้านสังคม วัฒนธรรม ด้านการสนับสนุนทางสังคม ด้านการเมือง ธรรมาภิบาล หรือมีความมั่นคงทางสังคมนั่นเอง