วัฒนธรรม

วัฒนธรรมความเชื่อ

ดอนปู่ตากับความเชื่อของชาวอีสาน

ความเป็นมา

อีสานเป็นชุมชนเกษตรกรรม ที่สืบทอดมรดกจากบรรพชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยผูกพันกับธรรมชาติป่าวัฒนธรรมชุมชนอย่างเน้นเฟ้น ได้รับการสั่งสมแนวคิด ภูมิปัญญา ปลูกศรัทธา คติ ความเชื่อจนเป็นแบบแผนการดำรงชีวิตที่มีคุณค่า อันแสดงให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดของทรัพยากรบุคคลและสังคมพื้นถิ่น

สังคมอีสานเคร่งครัดในรูปแบบของประเพณี พิธีกรรม เชื่อถือในเรื่อง บาป-บุญ คุณ-โทษ ขวัญ-วิญญาณ เทวดาอารักษ์ ตลอดจนผีสางนางไม้อย่างจริงจัง โดยมีการเซ่นสรวงบัดพลีตามฤดูกาลพร้อมกันนี้ กังปฏิบัติภารกิจทางศาสนาด้วยความมั่นคงตามค่านิยมของชุมชน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ หรือแก้ไขปัญหาชีวิตที่พึงมี อันจะเป็นประหนึ่งภูมิคุ้มกันภัยพิบัติทั้งหลายทั้งปวงมิให้มากล้ำกรายตน หรือครอบครัวตลอดจนทุกชีวิตในชุมชน นอกจากนี้ยังได้แสดงถึงความกตัญญูเชิดชูคุณความดีของบรรพชนผู้กลายเป็นผีไปแล้วอีกด้วย

คติความเชื่อเรื่อง “ผี” นั้นชาวอีสานเชื่อกันว่า ผีมีอยู่สองกลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่งเป็นผีประเภทแผ่คุณความดี ช่วยคุ้มครองปกป้องภัยพิบัติทั้งปวงที่จะมากล้ำกราย ตลอดจนดูแลรักษาชุมชนให้เกิดสันติสุข ขณะเดียวกันก็อาจบันดาลให้เกิดความเดือดร้อนยุ่งยากได้ หากผู้ใดล่วงละเมิดขาดความเคารพยำเกรง หรือมีพฤติกรรมอันไม่พึงปรารถนาของชุมชน กลุ่มผีดังกล่าวมีผีเจ้า ผีนาย ผีบ้าน ผีเรือน ผีเจ้าที่ ผีปู่ย่า ผีปู่ตา ผีตายาย ผีมเหสักข์ หลักเมือง ผีฟ้า ผีแถน ผีมด ผีหมอ ผีเจ้าปู่หลุบตา หรือผีที่ชาวบ้านนับถือเฉพาะถิ่นซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เป็นต้น ส่วนผีอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผีร้ายที่คอยมุ่งทำลายล้าง เบียดเบียน ก่อความวุ่นวายสับสนให้เกิดโทษภัยอยู่เนืองๆ เช่น ผีปอบ ผีเปรต ผีแม้เล้ง ผีห่า เป็นต้น

เมื่อชาวบ้านได้ก่อตั้งชุมชนขึ้นมา ณ บริเวณใดก็ตามย่อมจะต้องสร้างบ้านเรือน โรง หอ หรือศาล (ตูบ) ไว้เป็นที่พำนักอาศัยของกลุ่มผีประเภทที่ให้คุณไว้เสมอ ณ บริเวณใกล้เคียง เพื่อเป็นที่พึ่งพิงสำหรับบูชาเซ่นสรวงสังเวยเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ

กลุ่มผีให้คุณที่ชาวอีสานดูจะให้ความเคารพศรัทธาค่อนข้างมากนั้นดูจะเป็น “ผีปู่ตา” ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผีบรรพชน หรือกลุ่มผีประจำตระกูลที่ล่วงลับไปแล้วของชาวอาน แต่ดวงวิญญาณยังเป็นห่วงบุตรหลานอยู่จึงเฝ้าคอยดูแล รักษา คุ้มครอง ป้องกันภัยร้ายทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นในชุมชนโดยมอบหมายกำหนดให้ “เฒ่าจ้ำ” ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อประสานงานสื่อสารระหว่างผีบรรพชนกับชาวบ้าน ความเชื่อถือ ศรัทธาเรื่องผีบรรพชน หรือ “ผีปู่ย่าตายาย” ของชาวอีสานนั้นปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นประเพณีทุกท้องถิ่นชุมชน และดูเหมือนว่าชุมชนจะยึดมั่นเคารพในผีเพศชายเป็นสำคัญ จึงคงเหลือชื่อเป็น “ผีปู่ตา” หรือ “ผีตาปู่” ส่วน “ผีย่ายาย” นั้นกลับเลือนหายไป อย่างไรก็ตามการคงชื่อ “ปู่” และ “ตา” อาจมุ่งหวังเป็นบรรพชนทั้งฝ่ายบิดามารดา ให้ทัดเทียมกันด้วย “ปู่” เป็นญาติข้างฝ่ายชาย และ “ตา” เป็นญาติข้างฝายหญิง

เงื่อนไขผูกพันระหว่างผีกับป่า

ในการเริ่มแรกตั้งชุมชนของชาวอีสานนั้น มักจะมีครอบครัวเครือญาติเพียงไม่กี่ครอบครัวเข้ามาบุกร้างถางพง ปลูกสร้างบ้านเรือนและยึดพื้นที่ทำไร่นา สิ่งสำคัญที่ทุกชุมชนไม่ลืมจะเป็นเรื่องการกำหนดเขตพื้นที่ป่าทึบออกเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งให้เป็นพื้นที่พำนักอาศัยของ ผีบรรพชน “ผีปู่ตา” โดยสร้างเรือน โรง หรือศาล (ตูบ) ให้หนึ่งหรือสองหลังอยู่ในทิศทางที่ต่างกันตามความเหมาะสม โดยทั่วไปแล้วมักนิยมให้อยู่ด้านทิศตะวันออกของชุมชน บริเวณป่าอีกส่วนหนึ่งจะกำหนดให้อยู่ด้านทิศเหนือ หรือทิศใต้ของชุมชน เป็นป่าสำหรับเลี้ยงสัตว์จำพวก วัว ควาย หรือสัตว์ใช้งานอื่น ซึ่งเรียกว่า “ป่าทำเลเลี้ยงสัตว์”

โดยเฉพาะการกำหนดเลือกพื้นที่อยู่อาศัยของผีปู่ตานั้นต้องให้พื้นที่เป็นเนินสูง โนนโคกหรือดอน ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง มีสภาพป่าหนาทึบ ร่มครึ้ม มีสัตว์ป่าชุกชุมหลากหลายพันธุ์ มีบรรยากาศน่าสะพรึงกลัว ทั้งเสียงร้ององส่ำสัตว์ คลุกเคล้าประสานไปกับเสียงเสียดของต้นไม้เครือเถาทั้งปวง ซึ่งทำให้อาณาเขต “ปู่ตา” “ดอนปู่ตา” หรือ “ดงปู่ตา” ดูขลังและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก

เรือน โรง หอ หรือโรงศาลที่ต้องสร้างไว้เป็นที่พักอาศัยของผีปู่ตานั้น บางทีก็เรียกว่า “หอปู่ตา” “ศาลปู่ตา” “ตูบปู่ตา” หรือ “โฮงปู่ตา” นิยมสร้างกันเป็นสองลักษณะกล่าวคือ ใช้เสาหลักเพียงตัวเดียวเหมือนศาลพระภูมิทั่วๆไป แล้วสร้างเป็นเรือนยอดบนปลายเสากับใช้เสาสี่ต้นแล้วสร้างโรง เรือน หรือศาลาให้มีห้องขนาดเล็กหรือใหญ่ตามต้องการ โดยทั่วไปแล้วจะมีห้องโถงเพียงห้องเดียว และภายในห้องนั้นต้องให้บริเวณสำหรับเป็นที่วางสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น พร้อมทั้งวัสดุที่แกะสลักด้วยไม้หรือรูปปั้น ตามที่เชื่อถือกันว่าเป็นสิ่งของที่มีผีปู่ตาต้องการ เช่น เป็นรูปคน สัตว์ ข้าทาส และบริวาร ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้จำเป็นไว้สำหรับให้ผีปู่ตาได้ใช้สอยไม่ขาดแคลน ส่วนด้านหน้าตูบหรือศาล มักจะสร้างให้มีชานยื่นออกมาสำหรับเป็นที่ตั้งหรือวางเครื่องบูชาและเครื่องเซ่นสังเวยไว้ด้วย

เฒ่าจ้ำ เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของชุมชนติดต่อสื่อสารกับผีปู่ตา หรือรับบัญชาจากผีปู่ตามาแจ้งแก่ชุมชน ตลอดจนมีภาระหน้าที่ในการดำเนินกิจการด้านพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีปู่ตาและบริเวณที่อยู่อาศัย เฒ่าจ้ำอาจเรียกได้หลายชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กระจ้ำ ขะจ้ำ ข้าวเจ้า เฒ่าประจำ เจ้าจ้ำ หรือ จ้ำ

นอกจาก เฒ่าจ้ำ จะมีภารกิจดังกล่าวแล้ว เฒ่าจ้ำยังต้องเอาใจใส่ดูแลป้องกันรักษาพื้นที่บริเวณป่า ต้นไม้ สัตว์ รวมไปถึงทรัพยากรผลิตผลจาก “ดงปู่ตา” เช่น เห็ด แมลง ฟืนไม้แห้ง ผัก และพืชสมุนไพร เป็นต้น ต้องขออนุญาตผีปู่ตาเป็นส่วนตัวและผ่าน “เฒ่าจี้” เสมอ มิฉะนั้นจะถูกผีปู่ตาลงโทษให้ผู้นั้นได้รับภัยพิบัติต่างๆจนอาจถึงแก่ชีวิตได้

เมื่อ เฒ่าจ้ำ มีบทบาทผูกพันกับผีปู่ตาและชุมชนดังกล่าวแล้ว เฒ่าจ้ำจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์แทนสถาบันอันศักดิ์สิทธิในชุมชนทุกสถาบัน นับตั้งแต่ “ดงปู่ตา” พระภูมิเจ้าที่ เทวดา หลักเมือง มเหศักดิ์ และหลักบ้าน

บุคลิกลักษณะและพฤติกรรมของเฒ่าจ้ำนั้นน่าจะได้พิจารณาเชื่อมโยงจากการเลือกเฟ้นหรือกำหนดตัวบุคคลให้ทำหน้าที่นี้ โดยปกติแล้วเมื่อเฒ่าจ้ำถึงแก่กรรมลงจะต้องหาเฒ่าจ้ำคนใหม่มาทำหน้าที่แทนทันที โดยคัดเลือกจากบุคคลในหมู่บ้านที่มีความประพฤติดี บุคลิกน่าเลื่อมใส เป็นที่ยอมรับของชุมชน ในแต่ละชุมชนอาจมีวิธีการเลือกเฒ่าจ้ำแตกต่างกัน เป็นต้นว่าอาจเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นที่ปรารถนาในหมู่บ้านมา 5 - 10 ราย พร้อมไม้คานหรือไม้ไผ่ที่มีความยางเท่ากับวาของแต่ละคน แล้วมากำหนดวาอีกครั้งต่อหน้าศาลปู่ตา และผู้อาวุโสในหมู่บ้านร่วมเป็นพยานรู้เห็น ถ้าผู้ใดวัดวาแล้วปรากฏว่าไม้คานหรือไม้ไผ่ยากเกินวา แสดงให้เห็นว่าผีปู่ตาจงใจเลือกบุคคลผู้นั้นไว้เป็นเฒ่าจ้ำ

ในบางชุมชนอาจเลือกเฒ่าจ้ำโดยสืบทอดบุคคลในตระกูลนั้นๆ อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะได้เฒ่าจ้ำมาโดยวิธีใดก็ตาม ถือได้ว่าเฒ่าจ้ำเป็นบุคคลที่ชุมชนมีความเคารพ ศรัทธา เชื่อถือ และผีปู่ตาก็ยอมรับไว้วางใจเช่นกัน

ป่าปู่ตากับการใช้ประโยชน์ของชุมชน

ลักษณะการใช้ประโยชน์จากป่าดอนปู่ตา โดยทั่วไปนั้นมีอยู่ 2 ประการใหญ่ๆ กล่าวคือ ประการแรกใช้เป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกรรม โดยปกติแล้วดอนปู่ตาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่เคารพยำเกรงของชาวบ้าน ชาวบ้านจะใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ อันเกี่ยวกับความศรัทธาที่มีต่อผีปู่ตา พิธีกรรมต่างๆมีเช่น พิธีกรรมเลี้ยงประจำปีในเดือนสาม และเดือนหกซึ่งเรียกว่า “เลี้ยงขึ้น” (เป็นการเลี้ยงเมื่อเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยว) และ “เลี้ยงลง” (เป็นการเลี้ยงเมื่อจะเริ่มต้นฤดูการปักดำ) นอกจากนี้มีพิธีเสี่ยงทายสภาพดิน ฟ้า อากาศ ก่อนจะเริ่มต้นไถหว่านและพิธีบนบานเฉพาะราย (ชาวอีสานเรียกว่า “บ๋า”) ซึ่งทุกพิธีกรรมจะมีการเซ่นไหว้บูชา และเลี้ยงดูด้วยความสำนึกในพระคุณ พร้อมกับอัญเชิญบวงสรวงผีปู่ตาให้มาช่วยดลบันดาลให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดีมีสุขโดยทั่วหน้า

นอกจากจำใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมดังกล่าว ดอนปู่ตาบางพื้นที่ยังใช้เป็นสถานที่เผาศพในบางโอกาสอีกด้วย

ประการที่สอง เป็นสถานที่ใช้ประโยชน์ทั่วๆไปของชุมชน เช่น เลี้ยงสัตว์ประเภทวัว ควาย ชุมชนอาจร่วมมือกันจับสัตว์น้ำตามหนองน้ำในบริเวณป่าดอนปู่ตาโดยมีเงื่อนไข ในป่าดอนปู่ตาเหล่านี้มีต้นไม้ประเภทต่างๆ และมีพืชพันธุ์ผัก เห็ด แมลง พืชสมุนไพร เป็นต้น คนในชุมชนสามารถขออนุญาตตัดไม้ ค้นหาเก็บผลิตผลป่ามาสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยตามความจำเป็นเฉพาะราย บางบ้านเก็บใบตองของไม้บางชนิดมาเย็บเป็นฝากั้นห้อง หรือแม้แต่ใช้เศษไม้และกิ่งไม้มาเป็นเชื้อเพลิง ตลอดจนทำเป็นไม้หลักสำหรับพืชประเภทแตงกวา แตงร้าน เป็นต้น ซึ่งการใช้ประโยชน์ดังกล่าวต้องได้รับความนิยมจากกรรมการหมู่บ้านและเฒ่าจ้ำ

อนึ่งเมื่อได้สำรวจการใช้ประโยชน์ทรัพยากรจากป่าดอนปู่ตาในพื้นที่ต่างๆ จำนวน 15 หมู่บ้านของชุมชนอีสาน 12 จังหวัดแล้ว พบว่าชาวบ้านได้ใช้ทรัพยากรผลิตผลป่าอย่างประหยัดและเกิดคุณค่าแท้จริง ซึ่งอาจแจกแจงผลิตผลป่าบริเวณป่าดอนปู่ตาทั้ง 15 พื้นที่ พร้อมทั้งวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์ ดังตารางหน้า 22 - 25

ภาวะอำนาจและการยอมรับ

ชาวบ้านมีความเชื่อในเรื่องอำนาจของผีบรรพชนและป่าดอนปู่ตาอย่างจริงจัง ปฏิบัติ ยึดถือ และละเว้นอย่างเคร่งครัด เป็นต้นว่า จะไม่มีชาวบ้านคนใดเข้าไปตัดต้นไม้หรือจับสัตว์น้ำโดยเฉพาะเต่า ตะพาบน้ำ ตะกวด เป็นต้น ซึ่งชาวบ้านคนใดเข้าไปตัดไม้หรือจับสัตว์น้ำโดยฝ่าฝืนบุคคลนั้นก็จะมีอันเป็นไปต่างๆตามที่ผีปู่ตาบันดาลให้เป็นไป

ป่าดอนปู่ตาบางแห่งยังมีข้อห้ามสำหรับกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมทั้งปวง เป็นต้นว่า ห้ามหนุ่มสาวมาพลอดรักในบริเวณป่าดอนปู่ตา ห้ามปัสสาวะหรืออุจจาระในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้แม้เดินทางผ่านก็จะต้องแสดงความเคารพเสมอ

อันที่จริงความเชื่อเกี่ยวกับผีดอนปู่ตาของชาวบ้านนั้น ค่อนข้างจะส่งผลให้ชาวบ้านเชื่อว่าหากล่วงละเมิดต่อป่าดอนปู่ตา ผีปู่ตาจะโกรธและบันดาลให้เกิดผลร้ายขึ้นแก่ชุมชน และคนในหมู่บ้านไม่ยกเว้นแม้นะเป็นสัตว์เลี้ยงก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากชาวบ้านได้เคยประสบพบเห็นมาแล้ว และเล่าสืบต่อกันมา ชาวบ้านจึงเชื่อถือและยอมรับว่าดอนปู่ตาและผีปู่ตา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้

ข้อห้ามและข้อปฏิบัติกับปู่ตานั้น ถือว่าเป็นกฎระเบียบที่ทุกคนในชุมชนต้องยอมรับพร้อมกับปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด มิฉะนั้นจะถูกลงโทษโดยมติชาวบ้าน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าหากบุคคลใดไม่ปฏิบัติตาม หรือแสดงกิริยาอาการอันสื่อแสดงว่าดูถูกสถาบันดอนปู่ตา หรือไม่ยอมรับภาวะอำนาจของผีปู่ตาลงโทษไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นต้นว่าให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ เกิดอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ เป็นไข้ เจ็บแขนขา หรือเกิดการอาเจียนตลอดเวลา และบางรายอาจถึงกับเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือสุดที่แพทย์วินิจฉัยได้ ซึ่งชุมชนก็เชื่อว่าลักษณะดังกล่าวเป็นอำนาจของผีปู่ตาที่บันดาลให้เกิดขึ้น

ข้อห้ามต่างๆในแต่ละชุมชนนั้นอาจกำหนดขึ้นจากมติที่ประชุมของชาวบ้าน หรือเฒ่าจ้ำจะเป็นผู้กำหนดขึ้นมาเองก็ได้ตามคำขอของผีปู่ตา ซึ่งได้มาเข้าฝันเฒ่าจ้ำให้กำหนดข้อห้ามต่างๆ ขึ้นมาเป็นต้นว่าห้ามผู้ใดยึดครองพื้นที่บริเวณป่าดอนปู่ตา หรือห้ามจับจองทรัพยากรต่างๆในอาณาบริเวณป่าดอนปู่ตา เพื่อเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวโดยเด็ดขาด

ห้ามจับสัตว์ทุกประเภทในบริเวณดอนปู่ตา ให้ถือว่าเป็นเขตอภัยทาน บ้างก็เชื่อว่าสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ ที่อยู่อาศัยในบริเวณดอนปู่ตาคือบริวารของท่าน ห้ามผู้ใดล่าสัตว์เด็ดขาด จึงมักพบเสมอว่าในพื้นที่ดอนปู่ตาจะมีสัตว์หลายประเภทอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ห้ามตัดไม้ทุกชนิดในป่าปู่ตา จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเฒ่าจ้ำหรือได้รับอนุญาตจากมติของชาวบ้าน จึงจะสามารถเข้าไปตัดไม้มาใช้ประโยชน์ได้ ในบางพื้นที่มีเงื่อนไขว่าจะต้องปลูกต้นไม้ชดเชย 1 ต้น หรือมากกว่านั้นในกรณีที่ตัดมา 1 ต้น

ห้ามแสดงกิริยาและพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมต่อสถานที่ เช่น ปัสสาวะ อุจจาระ ในเขตพื้นที่ดอนปู่ตา

ห้ามประพฤติตนในเชิงกามารมณ์ในดอนปู่ตา หรือมั่วสุมเสพของมึนเมา เพราะถือว่ามีเจตนาไม่เคารพต่อปู่ตา

ห้ามลบหลู่ และกล่าววาจาใดที่ส่อเจตนาไม่เคารพปู่ตา

ด้วยเหตุที่มีข้อห้ามเหล่านี้ พื้นที่ดอนปู่ตาจึงมักเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้หนาแน่น มีสัตว์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ดอนปู่ตาจึงกลายเป็นวิธีการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรของชุมชนได้อย่างคุ้มค่าที่สุด

ศักยภาพของชุมชน

เนื่องจากพื้นที่ป่าดอนปู่ตาส่วนใหญ่ อยู่ในชุมชนที่ห่างไกลความเจริญ ความเชื่อดั้งเดิมจึงยังคงฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของผู้คน ชาวบ้านส่วนใหญ่เชื่อและศรัทธาในสถาบันดอนปู่ตาอยางจริงจัง แม้ว่าบางคนจะเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง แต่ก็ยอมปฏิบัติตนต่อข้อห้ามที่ชาวบ้านได้ร่วมกันกำหนดขึ้นมาโดยดี ข้อห้ามต่างๆ เช่น ห้ามตัดไม้ ห้ามล่าสัตว์ หรือแม้แต่ห้ามประพฤติปฏิบัติสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ในพื้นที่อาณาบริเวณดอนปู่ตา ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ชาวบ้านทุกคนเคารพในสิทธิส่วนบุคคลไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน และต่างก็ให้เกียรติกันเป็นสำคัญ อาจกล่าวได้ว่า ผีปู่ตาสามารถกำหนดบทบาทพฤติกรรม อันเป็นศักยภาพของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สถาบันป่าดอนปู่ตายังถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านเฒ่าจ้ำเป็นผู้สื่อสารนำคำสั่งสอนของปู่ตามมาอบรมสั่งสอนชาวบ้าน ให้ทุกคนยึดมั่นในจริยธรรม ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน ดังนั้นชาวบ้านจึงมักจะรักใคร่สามัคคี เมื่อคราวมีกิจกรรมส่วนรวม ก็จะให้ความร่วมมือกันอย่างดี

จากอดีตที่ยาวนานจนถึงปัจจุบันพบว่า บริเวณป่าดอนปู่ตานั้น ชาวบ้านยังให้ความเคารพและเกรงกลัวมาก

อนึ่ง การลงโทษของผีปู่ตานั้น ดูเหมือนว่าจะมิได้มุ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างจริงจังนักแต่ เพื่อเป็นการสั่งสอนให้คนรู้จักกระทำในสิ่งที่ถูกที่ควรเท่านั้น ป่าดอนปู่ตาจึงเป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญของหมู่บ้านชนบทอีสาน ด้วยถือว่าเป็นที่สิงสถิตวิญญาณของบรรพชนจากอดีต เป็นผู้ให้ความคุ้มครองป้องกันภัยพิบัติทั้งปวง แผ่อำนาจบันดาลให้ชาวบ้านอยู่อย่างเป็นสุขและยังคุ้มครองป้องกันภัยพิบัติทั้งปวง แผ่อำนาจบันดาลให้ชาวบ้านอยู่อย่างเป็นสุขและยังคุ้มครองไปถึงทรัพย์สิน ไร่ นา วัว ควาย อันเป็นทรัพย์สินสมบัติของคนในหมู่บ้านไม่ให้ถูกลักขโมยหรือสูญสลายอีกด้วย

นอกจากนี้ยังป้องกันชาวบ้านมิให้ประพฤติปฏิบัติผิดครรลองครองธรรม โดยยกเอาผีปู่ตามาเป็นข้อบังคับให้ชาวบ้านอยู่ในกรอบประเพณีอันดีงามของสังคม เพื่อให้อยู่ร่วมกันโดยสงบสุข ป่าดอนปู่ตายังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านจำไม่เข้าไปตัดไม้ทำลายทรัพยากรป่าหรือทำอันตรายสัตว์ที่อยู่บริเวณนั้น ยกเว้นกรณีที่ได้รับอนุญาตแล้วแต่ก็ปฏิบัติด้วยความเชื่อถือเคารพและศรัทธา ดอนปู่ตาจึงเสมือนเป็นวนอุทยานหรือสวนป่าสาธารณะของหมู่บ้าน

บางกรณี ชาวบ้านอาจบนบาน (การบ๋า) ขอร้องหรือความอนุเคราะห์จากผีปู่ตาให้อำเภอประโยชน์หรือขจัดปัดเป่า ความทุกข์ร้อนที่พึ่งมีในขณะนั้นและเมื่อทุกอย่างคลี่คลาย หรือประสบผลสำเร็จก็จำเป็นต้องมาทำพิธีแบน (การปลงบ๋า) ซึ่งจำเป็นต้องนำเครื่องเซ่นมาถวายโดยมีเฒ่าจ้ำ เป็นผู้ซึ่งบอกกล่าวทำพิธีอีกเช่นกัน

อาจกล่าวได้ว่า ผีปู่ตา เฒ่าจ้ำ และชุมชน เป็นองค์ประกอบประสานร่วมกันของสังคม อันที่จะผลักดันให้ชุมชนเกิดแรงศรัทธา ความเชื่อ ความสามัคคี ที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพชนในการอนุรักษ์ทรัพยากร “ดงปู่ตา” ซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติส่วนรวมของชุมชนนอกจากนี้ลักษณะพิธีกรรมเกี่ยวกับการเลี้ยงผีปู่ตา หรือการบ๋าก็ตาม เป็นเงื่อนไขที่อาจแสดงให้เห็นถึงปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมการกินอยู่ ความอุดมสมบูรณ์ด้านเกษตรกรรม และความมุ่งหวังในอนาคตเพื่อปรับสภาวะจิตใจให้มั่นคงจากผลอันเกิดจากการเสี่ยงทายที่เป็นไปในลักษณะใดก็ได้ ทั้งนี้เพื่อจะได้เตรียมรับสถานการณ์อันอาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ประมาท

ความขัดแย้งและการกลืนกลายความเชื่อถือ

ความจริงที่ปรากฏ ผีปู่ตาจะมีโรงเรือน หอ หรือ ศาล อาศัยอยู่ในดงดอนที่เป็นป่าทึบ พื้นที่เฉลี่ย 1 - 100 ไร่ เกือบทุกชุมชนในเขตภาคอีสาน และยังเฒ่าจ้ำเป็นสื่อเชื่อมระหว่างผีปู่ตากับชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง

ป่าดงบ้านหรือผีปู่ตา ซึ่งเรียกรวมกันว่า ป่าดอนปู่ตานั้นปัจจุบันในหลายชุมชน กำลังได้รับความกระทบกระเทือนจากบุคลากร องค์กร ทั้งของรัฐและเอกชน บุกรุกทำลายในรูปแบบต่างๆอยู่ตลอดเวลา เช่น ดอนปู่ตาบ้านตาหลุง บ้านเสือกินวัว บ้านป่าชาด บ้านหนองแดง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม ที่ทางสภาตำบลต้องการสร้างโรงเรียนมัธยมบนพื้นที่นี้ แต่ได้เกิดการทักท้วงจากชาวบ้าน ซึ่งได้เข้าชื่อร้องเรียนให้ระงับการดำเนินการโดยอ้างเหตุผลความเชื่อถือศรัทธาผีปู่ตา จากจารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่ครั้งโบราณกาล ด้วยเป็นที่พึ่งทางใจที่สำคัญยิ่ง จนกระทั่งสภาตำบลต้องเลิกล้มมติไป

แต่อีกหลายชุมชน สภาพป่าดอนปู่ตาต้องสูญสลายไป โดยสิ้นเชิงหรือเบียดบังพื้นที่ บางส่วนหรือส่วนใหญ่ไป โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กลายเป็นสถานีอนามัย สถานีตำรวจ ที่ว่าการอำเภอ โรงเรียน ค่ายลูกเสือ หรือสถาบันทางสังคมอื่นๆ หรือกลายเป็นสำนักสงฆ์ตลอดจนวัดป่า ซึ่งดูจะเอื้อประโยชน์ที่แตกต่างกันจากอดีตอย่างสิ้นเชิง

ดงหรือดอนปู่ตา เป็นสถานที่สาธารณะอันศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธามาอย่างต่อเนื่อง ผลของความเชื่อนั้นอาจพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมไม่ได้ แต่การดำรงวิถีชีวิตที่พึ่งพิงป่าดอนปู่ตา ทั้งทางจิตใจและปัจจัยทางกายที่ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรและผลิตผลจากป่าอันอุดมสมบูรณ์ ย่อมบ่งชี้ได้ว่าชุมชนดำเนินชีวิตและมีความหวังอยู่ได้ในทุกฤดูกาล และแม้ผสมผสานความเชื่อศรัทธาจากผีบรรพชนมาเป็นพุทธศาสนาในรูปลักษณ์ของสำนักสงฆ์ และวัดป่าซึ่งปฏิเสธเรื่องผีโดยเด็ดขาดนั้นก็ดูจะไม่สามารถเชื่อมโยงความคิดทัศนคติที่เคยมีหรือปฏิบัติกับผีปู่ตาได้ เนื่องจากผีปู่ตามีความผูกพันอย่างแนบแน่นกับชาวบ้านมาตั้งแต่เริ่มก่อสร้างชุมชน จะเห็นได้ว่าปัจจุบันยังมีพิธีกรรมบูชาเซ่นสรวงก่อนการปักดำหรือแสดงความชื่นชมยินดี เมื่อได้ผลผลิตจากไร่นาแม้การจากบ้านเรือนไปแสวงหาโชคลาภที่อื่น ก็ต้องมากราบลาขอพรผีปู่ตาเพื่อให้เกิดสิริมงคล เป็นต้น

กล่าวได้ว่า ผีปู่ตายังคงมีอำนาจแฝงลึกในห้วงสำนึกของชาวบ้าน แม่จะขาดเหตุผลในการพิสูจน์ความจริงที่เป็นรูปธรรมก็ตาม อย่างไรก็ดีสภาพสังคมปัจจุบันที่ค่อนข้างจะกลืนกลายปรับสภาพให้คล้ายคลึงกันไปทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมืองหรือชนบท แต่ในความเป็นจิงแล้วมนุษย์คงจะปฏิเสธสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติอย่างแท้จริงมิได้ ด้วยพื้นเพดั้งเดิมของเรานั้นกำเนิดและดำรงชีวิตมาพร้อมๆกับการเก็บหาของป่าเป็นสังคมเกษตรกรรม แม้จะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมหรือลกษระอื่นใดก็ตาม มนุษย์จะหลีกเร้นธรรมชาติไปมิได้เด็ดขาดยังต้องโหยหา ชื่นชมพึ่งพิง ทั้งประเทืองอารมณ์ จิตใจ และเลี้ยงชีพ “ป่าดอนปู่ตา” ที่บรรพชนได้หวงแหนยังคงอนุรักษ์ไว้ได้นานนับศตวรรษนี้น่าจะเป็นบทพิสูจน์ได้ว่า ป่าดอนปู่ตาเป็นป่าวัฒนธรรมที่มีค่ายิ่งของชุมชนอีสาน


พิธีกรรม

การเลี้ยงบ้านจะกำหนดเอา พุธแรก หรือ พฤหัสบดีแรกของเดือนหก จ้ำ (ผู้อาวุโสของหมู่บ้านและเป็นผู้นำในการทำพิธี) จะเป็นผู้กำหนดวันเลี้ยงบ้าน ก่อนวันเลี้ยง ชาวบ้านจะไปทำความสะอาดศาลปู่ตา และบริเวณรอบ ๆ ที่ดอนปู่ตา

เช้าวันเลี้ยงทุกบ้านจะนำเครื่องเลี้ยง มี ขัน ๕ เทียน ๕ คู่ ดอกไม้ ๕ คู่ ขัน ๘ มีเทียน ๘ คู่ ดอกไม้ ๘ คู่ อาหารคาว ข้าว แจ่ว และอาหารที่หาได้ตามท้องถิ่น อาหารหวาน ผลไม้ ขนม น้ำ เหล้า หมากพลู บุหรี่ ไปที่ศาล จ้ำจะนำเซ่นไหว้ปู่ตา เมื่อเสร็จพิธีจะนำอาหารกลับไปกินที่บ้านหรือจะเลี้ยงรวมที่หอปู่ตาก็ได้ (หากชาวบ้านยากจนจะรวบรวมเงินช่วยกันทำเครื่องเลี้ยงปู่ตา) ตกบ่ายจ้ำจะนำขบวนแห่ มีนางเทียมไปที่ศาลปู่ตา (นางเทียม คือ หญิงทรงเจ้า) พร้อมขัน ๕ ขัน ๘ เครื่องไหว้ เหล้า บุหรี่ หมากพลู น้ำ ๑ เหยือก (หรือกา) จ้ำเชิญปู่ตาเข้าทรงนางเทียม นางเทียมจะลุกขึ้นฟ้อน จ้ำจะขอคำทำนายความเป็นอยู่ของบ้านจากปู่ตา บ้านนางเทียมขบวนแห่ไปเทียม (เข้าทรง) ปู่ตาในตอนบ่ายจะมี แคน กลอง ฉิ่ง ฉาบ ปืนแก๊ป รูปปั้นผู้หญิงผู้ชาย

บั้งไฟเสี่ยง สำหรับจุดเสี่ยงทายว่า ฝนฟ้าจะดีหรือไม่ดี ถ้าบั้งไฟขึ้นแสดงว่าฝนดี บั้งไฟเสี่ยงไม่ขึ้นแสดงว่าฝนจะแล้ง ข้าวปลา อาหารไม่บริบูรณ์ นางเทียมจะฟ้อนไปทำนายไประยะหนึ่งก็หยุด ปู่ตาออกจากร่างนางเทียมก็เสร็จพิธีเสี่ยง รูปปั้นชายหญิง บั้งไฟเสี่ยง จะต้องเอาทิ้งไว้ที่ปลายนาหรือนอกหมู่บ้าน


สถานที่ตั้งบ้านหนองผักตบ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านบาก อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด

ละติจูด 15.9866059ลองติจูด 103.5402589

นายอดุลย์ ภูมิวิชชุภิญ ผู้บันทึกข้อมูล