เกษตรธรรมชาติ MOA

ความเป็นมา

กศน.อำเภอเมืองลำปาง ร่วมกับ กศน.จังหวัดลำปาง ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านวิชาการด้านเกษตรธรรมชาติ กับมูลนิธิ เอ็มโอเอไทย โดยศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยร่วมกันจัดอบรมขยายผลการดำเนินงานด้านเกษตรธรรมชาติในพื้นที่ที่รับผิดชอบของกลุ่มศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยฯ จนกระทั่งได้องค์ความรู้มาพัฒนาองค์กรให้มีความรู้ด้านเกษตรธรรมชาติ MOA

การดำเนินการเริ่มขึ้น เมื่อผู้บริหาร ดร.เกตุแก้ว อริยะเลิศเมตตา ผอ.กศน.อ.เมืองลำปาง ได้ผ่านการเข้าฝึกอบรมเพื่อขยายผลการดำเนินงานเกษตรธรรมชาติ ณ ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนเชียงราย ตั้งแต่ปี พศ. 2557 และด้วยวิสัยทัศน์ ท่านผอ. ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ ที่จะเกิดขึ้นกับบุคลากรในสังกัด รวมไปถึงความสอดคล้องกับพื้นที่ ที่คาดว่าจะสามารถนำแนวคิดแนวปฏิบัติแบบเกษตรธรรมชาติ MOA เข้ามาผนวกกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของ องค์สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ในปี พศ. 2559 ท่านผอ. ได้จัดส่งบุคลากรให้เข้ารับการอบรมในศูนย์ฝึก ณ จังหวัดเชียงราย จำนวน 3 คน เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาเผยแพร่ขยายผลให้กับครูทั้ง 19 ตำบลเต็มพื้นที่ กศน.อ.เมืองลำปาง

วัตถุประสงค์

ด้วยเกษตรธรรมชาติ MOA ไม่ได้เป็นเพียงแนวปฏิบัติ แต่ยังครอบคลุมไปถึงวิธีการคิด วิธีการใช้ชีวิตให้มีความสุข ที่ต้องประกอบไปด้วย การมีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดี ทำให้วิถีนี้เข้ากันได้กับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยสามารถผสานกันได้เป็นอย่างกลมกลืน


วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ จึงเน้นให้เกิดการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเกษตรกร ให้เน้นไปที่การใช้ ดิน พืชและแมลงต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ และเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่หมุนเวียนไปอย่างสมดุล ก่อให้เกิดสุขภาพจิตที่ดี ไม่เบียดเบียนธรรมชาติจนเกินไป และยังส่งผลไปถึงสุขภาพกายอย่างชัดเจน เนื่องจากการได้รับสารอาหารที่ก่อให้เกิดการบำรุงร่างกายอย่างบริสุทธิ์ไร้สารพิษ


หลังจากนั้น จึงแบ่งปันความรู้ที่ได้ไปยังกลุ่มเกษตรกรอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งกลุ่มนักศึกษาในพื้นที่ ให้ได้เรียนรู้ถึงประโยชน์ของเกษตรธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความสุขในครอบครัว และสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสอดคล้องและสมดุลตามความเหมาะสมต่อไป

การดำเนินการ

หลังจากการอบรมบุคลากรแกนนำในช่วงต้นปี พ.ศ. 2559 ด้วยความตั้งใจ จึงเกิดโครงการการจัดทำแปลงสาธิตในพื้นที่ กศน.อ.เมืองลำปาง เพื่อการถ่ายทอดให้เห็นถึงกระบวนการ และหลักการในการดำเนินชีวิตตามวิถีเกษตรธรรมชาติ อย่างชัดเจน ก่อนจะนำไปจัดทำโครงการเพื่อกระจายผลความรู้สู่พื้นที่ทั้ง 19 ตำบลอย่างทั่วถึง

เครือข่ายร่วมเรียนรู้

  1. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
  2. องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง
  3. มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง
  4. องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งฝาย
  5. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลทุ่งฝาย
  6. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลทุ่งฝาย
  7. นักวิชาการเกษตรประจำตำบลทุ่งฝาย
  8. วัดท่าโทก
  9. เกษตรตำบลบุญนาคพัฒนา นางวาสนา ไชยนนท์
  10. ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง นายบุญเปลี่ยน ทศถาธรรม ตำบลบุญนาคพัฒนา
  11. นายวิรัตน์ ติไชย เกษตรตำบล ต.บ่อแฮ้ว
  12. นายกฤษณะ สิทธิหาญ ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ต.บุญนาคพัฒนา
  13. สอ.บุญเสริม ดีผิว ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ต.พระบาท
  14. ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง นางสาวคณิต กันทะตั๋น ตำบลทุ่งฝาย
  15. ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง นายธนาเดช ชัยยะสมุทร ตำบลต้นธงชัย
  16. นักวิชาการเกษตรประจำตำบลทุ่งฝาย
  17. กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม อสม กลุ่มเยาวชน

สรุปผล

ผลการปฎิบัติงานทั้งหมดได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การดำเนินการด้านเกษตรธรรมชาติ MOA นั้นสามารถนำไปใช้ได้จริงในพื้นที่ กศน.อ.เมืองลำปาง โดยมีครูที่สามารถถ่ายทอดกระบวนการและแนวคิดได้อย่างชัดเจน และมีเกษตรกรได้นำกระบวนการไปใช้ในพื้นที่จนเกิดผลสัมฤทธิ์ที่สามารถทำให้เกิดแหล่งเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่

เอกสารวิชาการ

MOA.pdf

สื่ออื่น ๆ