เรื่องที่ 1
วัฒนธรรม ประเพณีของไทยและเอเชีย
1. วัฒนธรรม ประเพณีของไทย
1.1 วัฒนธรรมไทย
วัฒนธรรมในภาษาไทย เกิดมาจากการรวมคำ 2 คำ คือ วัฒนะ หมายถึง ความเจริญงอกงามรุ่งเรือง และ คำว่า ธรรม หมายถึง การกระทำหรือข้อปฏิบัติ รวมแล้วแปลว่า วัฒนธรรม คือ ข้อปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงาม พระยาอนุมานราชธน กล่าวว่า วัฒนธรรม คือ สิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือผลิต หรือสร้างขึ้น เพื่อความสวยงามในวิถีชีวิตของส่วนรวม วัฒนธรรม คือ วิถีทางแห่งชีวิตมนุษย์ในส่วนรวมที่ถ่ายทอดกันได้ เรียกกันได้ เอาอย่างกันได้ กล่าวโดยสรุปแล้ว วัฒนธรรม หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นไว้ เพื่อนำเอาไปช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ในสังคม ซึ่งจะรวมถึง ช่วยแก้ปัญหา และช่วยสนองความต้องการของสังคม
ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 ได้แบ่ง ประเภทของวัฒนธรรมไทยไว้ 4 ประเภท คือ
1. คติธรรม คือ วัฒนธรรมเกี่ยวกับหลักในการดำเนินชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความเชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องของจิตใจที่ได้มาจากศาสนา
2. เนติธรรม คือ วัฒนธรรมทางกฎหมาย รวมทั้งระเบียบประเพณีที่ยอมรับนับถือว่ามีความสำคัญพอ ๆ กับกฎหมาย
3. วัตถุธรรม หมายถึง วัฒนธรรมทางวัตถุ เช่น เครื่องนุ่งห่ม บ้านเรือน ยารักษาโรค เครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ
4. สหธรรม หมายถึง วัฒนธรรมทางสังคม คือ คุณธรรมต่าง ๆ ที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข รวมทั้งระเบียบมารยาทต่าง ๆ การแต่งกายในโอกาสต่าง ๆ
กล่าวโดยสรุปวัฒนธรรมมี 2 ประเภท คือ วัฒนธรรมทางวัตถุและวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติแบ่งเนื้อหาวัฒนธรรมเป็น 5 ประเภท คือ
1. ศิลปกรรม ได้แก่ ภาษา วรรณกรรม การละคร นาฏศิลป์ ดนตรี จิตรกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม และศิลปะการแสดง
2. มนุษยศาสตร์ ได้แก่ คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม กฎหมาย ขนบธรรมเนียม ประเพณี การปกครอง ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ปรัชญา ศาสนา
3. การช่างฝีมือ ได้แก่ การเย็บปักถักร้อย การแกะสลัก การทอ การจักสาน การทำเครื่องถมเครื่องเงิน เครื่องทอง
4. กีฬาและนันทนาการ ได้แก่ มวยไทย กระบี่ กระบอง ตระกร้อ การละเล่นพื้นเมือง
5. คหกรรม ได้แก่ ระเบียบในเรื่องการกินอยู่ มารยาทในสังคม การแต่งกาย การตกแต่งเคหสถาน การดูแลเด็ก เป็นต้น
https://www.posttoday.com/life/healthy/432315
https://www.pinterest.com/pin/290693350947356535/
https://www.pinterest.com/pin/313844667787512728/
ลักษณะของวัฒนธรรมไทย
วัฒนธรรมไทย ได้รับการพัฒนามาโดยลำดับ จากอิทธิพลสิ่งแวดล้อมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ประกอบกับความสามารถของคนไทย ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ การหล่อหลอมรวมกันจนมีลักษณะเด่น ๆ ดังต่อไปนี้ คือ
1. การมีพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ วิถีคนไทยเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งกิจกรรมต่าง ๆ ล้วนนำศาสนามาเกี่ยวข้อง วิธีคิด การดำเนินชีวิตที่คนไทยมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใจดีล้วนมาจากคำสั่งสอนทางศาสนา โดยเฉพาะคนไทยในชนบทที่ชีวิตเรียบง่าย ไม่ต้องต่อสู้แข่งขันมากยังคงมีวิถีชีวิตแบบพุทธ
2. การมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข สังคมไทยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น คนไทยทุกคนจึงถวายความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และพระมหากษัตริย์จะมีพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่ทรงคุณประโยชน์ต่อชาวไทย
3. อักษรไทย ภาษาไทย สังคมไทยมีอักษรใช้มาตั้งแต่กรุงสุโขทัย และได้รับการพัฒนาอักษรไทยโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จัดเป็นเอกลักษณ์ที่น่าภาคภูมิใจ เช่น คำว่าพ่อ แม่ พี่ น้องฯลฯ เป็นต้น
4. วัฒนธรรมที่แสดงออกถึงความเป็นไทย บ้านเรือนไทยที่มีเอกลักษณ์เหมาะสมกับสภาพธรรมชาติของเมืองไทย เรือนไทยสูงโปร่ง หลังคาลาดชัน ทำให้เย็นสบาย อาหารไทยมีลักษณะเฉพาะมีแกง น้ำพริก ก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย ต้มยำกุ้ง ฯลฯ ล้วนแต่อร่อยและแพร่หลายไปในต่างชาติ ยาไทยยังมีใช้อยู่ถึงปัจจุบัน เช่น ยาเขียว ยาลม เป็นต้น ยาที่กล่าวมายังเป็นที่นิยม มีสรรพคุณในการรักษาได้ ศิลปกรรมไทย เป็นวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงความเพียรพยายามในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนไทย ตั้งแต่อดีต คือ วรรณคดีไทย แสดงออกในทางตัวหนังสือ เช่น รามเกียรติ์ พระอภัยมณี ดนตรีไทย ยังทรงคุณค่าวัฒนธรรมไทย สื่อถึงความไพเราะอ่อนหวาน ใช้ดนตรีไทยทั้งระนาด กลอง ซอด้วง ซออู้ ฯลฯ ครบทั้งดีด สี ตี เป่า เพลงไทย เป็นการร้อยกรองบทเพลง ร่วมกับดนตรีไทย สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น เพลงลาวคำหอม เขมรไทรโยค ฯลฯ จิตรกรรมไทย การวาดเขียนบนผนังโบสถ์ มีสีสวยงาม มักวาดเป็นพุทธประวัติ สำหรับจิตรกรรมไทย ต้องคอยซ่อมแซม ทะนุบำรุงรักษาประติมากรรมไทย มีการปั้นหล่อพระพุทธรูป และการตกแต่งลายปูนปั้น ในพระพุทธศาสนา สถาปัตยกรรมไทย การออกแบบโบสถ์ วิหาร พระราชวังต่าง ๆ
https://cooking.kapook.com/view132305.html
https://www.shattingermusic.com/%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%87.html
https://www.blockdit.com/posts/5df5116f69750c50acf3dafb
1.2 ประเพณีไทย
ประเพณีไทยเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา เป็นสิ่งที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประเพณีแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทยที่สืบเนื่องมา เป็นสิ่งที่คนไทยควรศึกษาทำความเข้าใจและช่วยกันอนุรักษ์ โดยปกติแล้วศาสนาและความเชื่อมีอิทธิพลต่อประเพณีไทย สำหรับประเพณีไทยจำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ พระราชประเพณี และประเพณีในท้องถิ่นต่าง ๆ
พระราชประเพณีที่สำคัญ ๆ คือ
พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ทำในโอกาสที่พระเจ้า-แผ่นดินขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็นการแสดงออกของจิตใจข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงอำนาจอยู่ในแผ่นดิน จะมีความยินยอมพร้อมใจ พระราชประเพณีนี้ ได้ล้มเลิกตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย การถือน้ำพิพัฒน์สัตยานี้ ใช้น้ำ เป็นสื่อกลางอาคมศาสตราวุธต่าง ๆ ว่าคาถาแล้วเสียบลงในน้ำ แล้วนำไปแจกกันดื่ม และในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงฟื้นฟูการถือน้ำ ในวันพระราชทานตรารามาธิบดีแก่ทหารหาญของชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าปลื้มใจ ที่พระองค์พยายามรักษาพระราชประเพณีดั้งเดิมไว้
https://www.silpathai.net/ถวายผ้าพระกฐิน
พระราชพิธีทอดพระกฐินหลวง โดยการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคขบวนพยุหยาตราอย่างแบบโบราณ ปัจจุบันทำในวาระสำคัญ ๆ เป็นการอนุรักษ์โบราณประเพณีไว้ มีการซ้อมฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ฯลฯ ความสวยงามวิจิตร ตระการตา ของพระราชพิธีนี้ไม่มีประเทศใดเสมอเหมือน ส่วนมากการทอดกฐินหลวงทำเป็นประจำทุกปี เสด็จทรงชลมารคเป็นปกติ
ประเพณีต่าง ๆ ในท้องถิ่นของไทย
ประเพณีตรุษสงกรานต์ มีทุกท้องถิ่นในวันขึ้นปีใหม่ของไทย มีประเพณีสรงน้ำพระ ทำบุญ ไหว้พระ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี แต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย สำหรับประเพณีตรุษสงกรานต์ในภาคเหนือ ยังคงสวยงามน่าชม สมควรอนุรักษ์วัฒนธรรมการรดน้ำดำหัวให้ดำรงสืบต่อไป
https://th.wikipedia.org/wiki/วันลอยกระทง
ประเพณีลอยกระทง ทำในเดือน 12 ประเพณีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีวัตถุประสงค์ คือ ตกแต่งกระทงด้วยวัสดุดอกไม้ จุดธูปเทียนลอยกระทงลงแม่น้ำลำคลอง เพื่อขอโทษพระแม่คงคาที่ประชาชนได้อาศัยดื่มกิน และเพื่อไหว้พระพุทธเจ้าปางประทับอยู่ใต้เกษียรสมุทร
ประเพณีทำบุญวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันมาฆบูชา แห่เทียนวันเข้าพรรษา วันออก-พรรษา ทำบุญวันธรรมสวนะ ถวายผ้าอาบน้ำฝน ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน เทศน์มหาชาติ เป็นประเพณีสำคัญของชาวพุทธ
ประเพณีการแต่งงาน การส่งตัวคู่สมรส การตาย การบวช การเกิด ขึ้นบ้านใหม่ การทำบุญฉลองในโอกาสต่าง ๆ ตั้งศาลพระภูมิ เป็นประเพณีส่วนตัว ส่วนบุคคล ซึ่งแตกต่างไปตามภาคและท้องถิ่น
นอกจากนั้นยังมีประเพณีสำคัญ ๆ ของภาคต่าง ๆ อีก เช่น ฮีตสิบสองคลองสิบสี่ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บายศรีสู่ขวัญ ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเพณีแห่ผีตาโขนของจังหวัดเลย แห่เทียนพรรษา ของจังหวัดอุบลราชธานี ประเพณีทำบุญเดือนสิบ ของภาคใต้ เป็นต้น
2. วัฒนธรรม ประเพณีของประเทศในทวีปเอเชีย
ประเทศในเอเชีย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รายได้จึงขึ้นอยู่กับผลิตผลทางการเกษตร แต่มีบางประเทศมีความเจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม เช่น ญี่ปุ่น และบางประเทศเจริญก้าวหน้าทางการผลิตน้ำมัน เช่น ประเทศอิรัก อิหร่าน คูเวต
ในการศึกษาวัฒนธรรม ประเพณีของประเทศในเอเชีย ควรรู้เรื่องราวที่เกี่ยวกับลักษณะสำคัญของประชากรและสิ่งที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรม ประเพณี ดังนี้
2.1 ลักษณะสำคัญทางประชากร
ประชากรที่อยู่ในภูมิภาคนี้มีหลายเผ่าด้วยกัน คือ
1) ออสตราลอยด์ เป็นพวกที่อยู่ในหมู่เกาะ ตั้งถิ่นฐานในแหลมมาลายู หมู่เกาะอินโดนีเซีย นิวกินี จนถึงทวีปออสเตรเลีย มีรูปร่างเตี้ย ผิวคล้ำ ผมหยิก จมูกใหญ่
2) นิโกรลอยด์ อพยพเข้ามาในขณะที่พวกออสตราลอยด์มีความเจริญในภูมิภาคนี้แล้วพวกนี้มีลักษณะผิวดำ จมูกใหญ่ ริมฝีปากหนา ผมหยิก ในปัจจุบันยังมีอยู่ในรัฐเปรัค-กลันตัน ของมาเลเซีย ภาคใต้ของอินเดีย (ดราวิเดียน) ได้แก่ เงาะซาไก เซมังปาปวน
3) เมลานีซอยด์ สันนิษฐานว่าเป็นเผ่าผสม ระหว่างนิโกรลอยด์และออสตราลอยด์ปัจจุบัน พวกนี้ไม่มีอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มีอยู่มากตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก หมู่เกาะนิวกินี และออสเตรเลีย
4) มองโกลอยด์ อพยพมาจากตอนกลางของทวีปเอเชีย เข้ามาอยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ประชากรส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เป็นพวกเชื้อสายมองโกลอยด์ เช่น มอญ เขมร ไทย ลาว เป็นต้น จากลักษณะทำเล ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และการอพยพของชนเผ่าต่าง ๆ ทำให้เกิดการผสมผสานของเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ จนปัจจุบันแทบแยกไม่ออกว่าใครมาจากเผ่าพันธุ์แท้จริง นอกจากนี้ยังมีประชากรที่อพยพมาจากเอเชียตะวันออก คือ จีน และมาจากเอเชียใต้ คือ อินเดียเข้ามาอยู่ในภูมิภาคนี้
5) คอเคซอยด์ เป็นพวกผิวขาว หน้าตารูปร่างสูงใหญ่ อย่างชาวยุโรป แต่ตา และผมสีดำ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออก และทางภาคเหนือของอินเดีย ได้แก่ ชาวอาหรับ ชาวปากีสถาน ชาวอินเดีย และประชากรในเนปาล และภูฏาน
https://www.oxbridge.in.th/ielts-topics/ielts-essay-sample/เรียน-ielts-จากงานเขียน-writing-ในหั
2.2 สิ่งที่มีอิทธิพลสำคัญต่อวัฒนธรรมของเอเชีย
สิ่งที่มีอิทธิพลสำคัญต่อวัฒนธรรมของเอเชีย คือ ภาษาและอิทธิพลของอารยธรรมภายนอกหรืออารยธรรมจากต่างชาติ
1) วัฒนธรรมทางภาษา
ลักษณะสำคัญทางภาษาในภูมิภาคนี้ มีประชากรหลายเชื้อชาติ หลายวัฒนธรรม จึงทำให้มีภาษาพูด ภาษาเขียน แตกต่างกันไปหลายกลุ่ม คือ
1. ภาษามาลาโย – โพรีเนเชียน ได้แก่ ภาษาพูดกันในแหลมมาลายู หมู่เกาะอินโดนีเชีย และภาษาตากาล๊อก ในหมู่เกาะฟิลิปปินส์
2. ภาษาออสโตร – เอเชียติก ได้แก่ ภาษามอญ เขมร เวียดนาม
3. ภาษาทิเบโต – ไชนิส ได้แก่ ภาษาพม่า ภาษาไทย
4. ภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาฮินดี ภาษาจีน ภาษาอาหรับ ภาษาของชาวตะวันตกโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้ในการติดต่อระหว่างประเทศ ทางการศึกษา และการค้า
สำหรับภาษาเขียนหรือตัวหนังสือ มี 4 ลักษณะ คือ
1. ดัดแปลงมาจากตัวหนังสือของอินเดีย ภาคใต้ใช้กันมาก ในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา เช่น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา
2. ดัดแปลงมาจากภาษาอาหรับ ใช้กันมากในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม เช่นมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย
3. ตัวหนังสือที่อาศัยแบบของตัวหนังสือจีน มีทั้งที่ดัดแปลงมาใช้ และนำตัวหนังสือจีนมาใช้โดยตรง มีใช้กันมากในประเทศเวียดนาม ส่วนกลุ่มที่ใช้ภาษาจีน เป็นภาษาพูด เช่น สิงคโปร์ กลุ่มพ่อค้าชาวจีนในทุกประเทศ นิยมใช้ภาษาจีน เป็นทั้งภาษาเขียนและภาษาพูด
4. ตัวหนังสือโรมัน ใช้กันมากในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ส่วนในเวียดนามก็เคยนำมาใช้เหมือนกัน แต่ปัจจุบันนิยมใช้ในชนบทบางกลุ่มเท่านั้น
2) อิทธิพลของอารยธรรมภายนอกหรืออารยธรรมจากต่างชาติ ได้แก่
อารยธรรมอินเดีย
มีหลายด้าน เช่น กฎหมาย อักษรศาสตร์ ศาสนา ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี การปกครอง การเกษตร เป็นต้น
ด้านศาสนา อินเดียนำศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนา เข้ามาเผยแพร่
ด้านการปกครอง มีการปกครองแบบเทวราชา การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ ใช้หลักคัมภีร์ของพระมนูธรรมศาสตร์ เป็นหลักในการปกครองของภูมิภาคนี้
ด้านอักษรศาสตร์ ได้แก่ วรรณคดีสันสกฤต ภาษาบาลี เข้ามาใช้
ด้านศิลปกรรม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา เช่น วิหาร โบสถ์
https://www.matichon.co.th/columnists/news_861354
https://www.bareo-isyss.com/index.php/design-tips/375-chinese_ceramic.html
อารยธรรมจีน
จีนเข้ามาติดต่อค้าขายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อดีตและเข้ามามีอิทธิพลทางด้านการเมือง วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ แต่อิทธิพลดังกล่าวมีไม่มาก ทางด้านการเมืองจีนอยู่ในฐานะประเทศมหาอำนาจ อาณาจักรต่าง ๆ ที่เป็นเมืองขึ้นต้องส่งบรรณาการให้จีน 3 ปีต่อครั้งเพื่อให้จีนคุ้มครองจากการถูกรุกรานของอาณาจักรอื่น ส่วนทางด้านเศรษฐกิจจีนได้ทำการค้ากับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สินค้าที่สำคัญ ได้แก่ ผ้าไหม เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น การค้าของจีนทำให้อาณาจักรที่เป็นเส้นทางผ่านมีความเจริญมั่นคงขึ้น ทางด้านวัฒนธรรมจีนมีอิทธิพลทางด้านนี้น้อยมาก จีนจะเผยแพร่วัฒนธรรมไปยังประเทศของตนเท่านั้น อาณาจักรเวียดนามเคยตกเป็นประเทศราชของจีนเป็นเวลานานจึงรับวัฒนธรรมของจีนไว้มาก เช่น การนับถือลัทธิขงจื้อ ลัทธิเต๋าประเพณีการแต่งกาย การทำศพและการใช้ชีวิตประจำวัน
อารยธรรมอาหรับ
ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ศาสนาอิสลามมาจากตะวันออกกลาง ได้แผ่เข้ามาในอินเดียทำให้ชาวอินเดียส่วนหนึ่งหันมานับถือศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะพ่อค้าจากอินเดียตอนใต้ ซึ่งติดต่อค้าขายในบริเวณหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่เป็นประจำ ได้นำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแผ่ในภูมิภาคนี้ ผู้นำทางการเมืองของรัฐในหมู่เกาะต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เวลานั้นต้องการต่อต้านอำนาจทางการเมืองของอาณาจักรมัชปาหิต อาณาจักรฮินดู บนเกาะชวา ซึ่งกำลังแผ่อำนาจอยู่จึงหันมานับถือศาสนาอิสลาม เพราะให้ประโยชน์ทางการค้ากับพวกพ่อค้ามุสลิม ตามหลักของศาสนาอิสลามที่ว่า ทุกคนที่นับถือศาสนาอิสลาม นั้น เป็นพี่น้องกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จึงทำให้ศาสนาอิสลาม เป็นที่นิยมของกษัตริย์ชนชั้นสูง และสามัญชนด้วย
อารยธรรมตะวันตก
ชาติตะวันตกเริ่มเข้ามาในภูมิภาคนี้ โดยมีจุดประสงค์ที่จะทำการค้าและเผยแผ่ศาสนาสินค้าที่ชาวยุโรปต้องการ ได้แก่ พริกไทย และเครื่องเทศต่าง ๆ ในระยะแรก ๆ นั้น ความสนใจของชาวยุโรปจะจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณหมู่เกาะ และบริเวณชายฝั่ง ตลอดจนดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทั้งหมด
เดิมอาณาจักรต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความแตกต่างกันทางด้านเชื้อชาติและภาษา หลังจากที่ได้รับอารยธรรมอินเดีย จีน และอาหรับแล้ว อารยธรรมใหม่ที่เกิดจากการผสมผสานกัน ทำให้ประชาชนมีสังคมขนบธรรมเนียมประเพณีที่คล้ายคลึงกันและยึดมั่นเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ นอกจากนี้ภายในภูมิภาคก็ยังมีการแข่งขันกันทางด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ จนขาดความสามัคคี ไม่สามารถที่จะต่อต้านการขยายตัวของชาติตะวันตกได้ ในที่สุดก็ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก
(ข้อมูลจากหนังสือสำหรับเยาวชน ชุด ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ของกรมวัฒนธรรมสัมพันธ์ กรมสารนิเทศกระทรวงการต่างประเทศ)
เพี่อให้เกิดความรู้วัฒนธรรม ประเพณีเกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชียซึ่งมีรายละเอียดวัฒนธรรม ประเพณีที่เข้มแข็ง คือ วัฒนธรรม ประเพณีของอินเดีย จีน อาหรับ และตะวันตก
2.3 วัฒนธรรม ประเพณีของประเทศอินเดีย จีน อาหรับ และตะวันตก
1) วัฒนธรรม ประเพณีของประเทศอินเดีย
อินเดีย เป็นแหล่งอารยธรรมใหญ่ของเอเชีย ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอินเดียนับถือศาสนาฮินดู และมีศาสนาอื่น เช่น ศาสนาอิสลาม ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน ศาสนาคริสต์ โดยทั่วไปประชาชนระหว่างศาสนา จะให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ชาวอินเดียถือวัฒนธรรม ซึ่งจัดเป็นวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และเคร่งครัด อาทิ สตรีนิยมสวมส่าหรีหรือสัลวาร์กามิซ การให้เกียรติสตรี และการเคารพบูชาเทพเจ้า เป็นต้น คนอินเดียมีนิสัยรักสงบ และสุภาพ แต่ค่อนข้างอยากรู้ อยากเห็น รวมทั้งจะไม่ทำร้ายสัตว์ทุกชนิด (ยกเว้นงานเทศกาลของบางศาสนา) โดยเฉพาะวัว ซึ่งถือเป็นสัตว์เทพเจ้า อาจเห็นอยู่ตามท้องถนนเป็นกิจวัตรส่วนสัตว์เล็ก ๆ อย่างกระรอกและนก จะมีให้เห็นอยู่เสมอ แม้จะเป็นเมืองใหญ่ก็ตาม การที่อินเดียมีประชาชนจำนวนมาก เมื่อเทียบกับทรัพยากรของประเทศ ทำให้การดิ้นรน เพื่อเลี้ยงชีพและครอบครัว เป็นสิ่งจำเป็น ก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่มีมาช้านาน และซึมซับอยู่ในวิถีชีวิตของชาวอินเดีย ซึ่งก็คือ การต่อรองและการแข่งขัน เราจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่พ่อค้าจนถึงคนขับรถสามล้อ มักขอราคาเพิ่มด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ นานา ส่วนผู้ซื้อ ก็มักขอลดราคาอยู่เสมอ สำหรับด้านการแข่งขัน เห็นเด่นชัดมากขึ้น จากการที่ปัจจุบันนักศึกษาคร่ำเคร่งกับการเรียน เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ ซึ่งแต่ละปีมีผู้สอบนับแสนนับล้านคน แต่รับได้เพียงปีละไม่กี่คนเท่านั้น การศึกษาจึงเป็นหนึ่งในการแข่งขันที่เข้มแข็ง เพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวอินเดียในทุกวันนี้
วัฒนธรรมของอินเดียที่สำคัญ ๆ พอจะยกมาเป็นตัวอย่าง คือ
1. การถอดรองเท้า ก่อนเข้าศาสนสถานทุกแห่ง
2. ห้ามนำเครื่องหนัง โดยเฉพาะหนังวัว เข้าไปในศาสนสถานทุกแห่ง
3. ห้ามถ่ายรูปภายในศาสนสถาน หากต้องการให้ขออนุญาตก่อน
4. การไปเยือนศาสนสถาน สามารถชมสิ่งต่าง ๆ ได้ตามสบาย และอาจอยู่ร่วมประกอบพิธีกรรมได้ แต่ควรแต่งกายให้สุภาพ หากไปวัดซิกข์ ควรมีหมวกหรือผ้าคลุมศีรษะ สวมเสื้อแขนยาวและกระโปรงยาว และควรบริจาคเงินในกล่องรับบริจาคด้วย
5. หากมีการเลี้ยงอาหารแบบใช้มือเปิบ ควรใช้มือขวาเท่านั้น
6. อย่านั่งหันฝ่าเท้าชี้ไปทางใครอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นการดูหมิ่น และไม่ควรใช้นิ้วชี้สิ่งใดโดยเฉพาะบุคคลให้ใช้การผายมือแทน
7. การขยับคอส่ายศีรษะไปมาเล็กน้อย หมายถึง " YES"
8. ควรให้เกียรติสตรีและไม่ถูกเนื้อต้องตัวสตรี การขึ้นรถประจำทางสาธารณะโดยทั่วไปผู้ชายจะขึ้นและลงด้านหลังเท่านั้น ส่วนด้านหน้าเป็นของสตรี
9. ไม่ควรขึ้นรถประจำทางที่มีคนแออัด เพราะอาจมีมิจฉาชีพปะปนอยู่ ส่วนผู้หญิงอาจถูกลวนลามได้
10. การใช้บริการบางอย่างควรสังเกตให้ดี เพราะอาจมีการแยกหญิง – ชาย ซึ่งอาจทำให้เกิดการล่วงละเมิดโดยไม่ตั้งใจได้
11. สตรีไม่ควรสวมกางเกงขาสั้น เสื้อแขนกุด สายเดี่ยว หรือเอวลอย เพราะนอกจากจะถูกมองมากกว่าปกติ (ปกติชาวต่างชาติจะเป็นเป้าสายตาจากความช่างสงสัยของชาวอินเดียอยู่แล้ว) ยังอาจเป็นเป้าหมายของอาชญากรรมได้
2) วัฒนธรรม ประเพณีของจีน
ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกประชากรร้อยละ 93 เป็นชาวฮั่นที่เหลือเป็นชนกลุ่มน้อย
ในสมัยโบราณจีน นับเป็นดินแดนที่มีศาสนาและปรัชญารุ่งเรือง เฟื่องฟู อยู่มากมาย โดยลัทธิความเชื่อเดิมนั้น มีอยู่สองอย่าง คือ ลัทธิเต๋าและลัทธิขงจื้อ ซึ่งเน้นหลักจริยธรรมมากกว่าที่จะเป็นหลักศาสนาที่แท้จริง ส่วนพุทธศาสนานั้น จีนเพิ่งรับมาจากอินเดีย ในช่วงคริสต์ศตวรรษแรกนี้เท่านั้น ครั้นมาถึงยุคคอมมิวนิสต์ ศาสนากลับถูกว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อลัทธิทางการเมืองโดยตรง ต่อมาทางการก็ได้ยอมผ่อนปรนให้กับการนับถือศาสนา และความเชื่อต่าง ๆ ของประชาชนมากขึ้น ทำให้ลัทธิขงจื้อลัทธิเต๋า ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม (ในเขตตะวันตกของจีน) และศาสนาคริสต์ จึงได้กลับมาเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้ง
http://johjaionline.com/on-looker/ทำไม-คนจีนถึงรักลูกชาย/
วัฒนธรรม ประเพณีจีนที่สำคัญ
ความเชื่อ
คนจีน นิยมมีลูกชายมากกว่าลูกหญิง เพราะลูกชายเป็นผู้สืบนามสกุล คือ แซ่ การเรียกชื่อสกุลของจีน ตรงข้ามกับภาษาไทย คือ เรียกต้นเป็นชื่อสกุล ชื่อตัวใช้เรียกกันในหมู่ญาติ และเพื่อนสนิท นามสกุล เป็นลักษณะพิเศษ เชื้อตระกูล การสืบทอดพงศ์เผ่า ต่อมาเป็นพัน ๆ ปี ดังนั้น วัฒนธรรมจีนจึงมีจิตสำนึกการบูชาบรรพบุรุษ เป็นแก่นแท้ของวัฒนธรรมนี้
ตราบจนปัจจุบัน ชาวจีนโพ้นทะเล ที่อาศัยอยู่ต่างประเทศยังคงรักษาประเพณีที่จะกลับมาสืบหาบ้านเกิด และบรรพบุรุษที่แผ่นดินใหญ่จีนหลายปีมานี้ ในฐานะที่เป็นผลิตผลจากประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะพิเศษของสังคมโบราณจีน วัฒนธรรมเกี่ยวกับนามสกุล และเชื้อตระกูลของจีน ได้กลายเป็นคลังสมบัติขนาดใหญ่ สำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์อันยาวนานของชนชาติจีน จากแง่มุมใหม่ เช่น การศึกษาแหล่งกำเนิด การแบ่งแยก และการผสมผสานของนามสกุล นั้น สามารถเพิ่มความเข้าใจการเปลี่ยนแปลง รูปแบบสังคม ที่แตกต่างกัน ในสมัยโบราณให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น อีกทั้งการศึกษาสิ่งของที่เป็นรูปธรรมต่าง ๆ เช่น หนังสือลำดับญาติของวงศ์ตระกูล ระบบการสืบช่วงวงศ์ตระกูล ฯลฯ สามารถสะท้อนถึงบทบาททางประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ทางสายเลือดที่มีต่อพัฒนาการของสังคมโบราณ และชีวิตสังคม อย่างไรก็ตาม ลักษณะพิเศษหลายประการของสังคมโบราณจีน เช่น ระบบรวมศูนย์อำนาจ โครงสร้างของสังคมแบบครอบครัว ค่านิยมทางด้านศีลธรรมและจริยธรรม และหลักความประพฤติที่ถือความซื่อสัตย์ต่อกษัตริย์ และการกตัญญูต่อพ่อแม่ เป็นบรรทัดฐาน เป็นต้น ล้วนแสดงออกมาในวัฒนธรรมชื่อและนามสกุลอย่างเต็มที่ และก็เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่ง ที่วัฒนธรรมนามสกุล ได้รับความสนใจอย่างมากจากวงวิชาการ
วัฒนธรรมการให้ความสำคัญตระกูลส่งผลมาถึงปัจจุบัน การประกอบอาชีพ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เกิดจากการสนับสนุนส่งเสริม เป็นเครือข่ายของตระกูลต่าง ๆ
สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ ชาวจีน มีเครือข่ายคนรู้จัก กล่าวกันว่า ชาวจีนที่ไร้เครือข่ายคนรู้จักเป็นผู้ที่เป็นจีนเพียงครึ่งเดียว จึงจำเป็นต้องทำความรู้จักกับผู้คน และชาวต่างชาติ ดังนั้น จีนจึงให้ความสำคัญของวัฒนธรรมนี้ด้วยการเชื้อเชิญ
อาหาร
เป็นวัฒนธรรมที่เข้มแข็งเผยแพร่ไปทั่วโลก และเป็นที่ยอมรับว่า อาหารจีน มีรสชาติอร่อย อาหารจีน จะต้องถึงพร้อมสีสัน รสชาติ และหน้าตา มีอาหารอยู่เพียงไม่กี่อย่างเท่านั้นที่ปรุงอย่างเดียวโดด ๆ สิ่งสำคัญ คือ ส่วนประกอบต่าง ๆ จะต้องกลมกลืนเข้ากันได้กับเครื่องปรุงรสจำพวกซีอิ๊ว กระเทียม ขิง น้ำส้ม น้ำมันงา แป้ง ถั่วเหลือง และหอมแดง
ประเพณีการแต่งงาน
สิ่งแรกที่บอกถึงพิธีการแต่งงานของชาวจีน ก็คือ สีแดงสำหรับชาวจีน สีแดง หมายถึง ความผาสุก และความมั่งคั่ง ปัจจุบันเจ้าสาวจีน จะเลือกชุดแต่งงานสีขาวตามสไตล์ตะวันตก แต่สำหรับสมัยก่อนแล้ว สีแดง จะปรากฏให้เห็นทุกที่ในงานแต่งงาน ตั้งแต่เสื้อผ้า ของตกแต่งแม้กระทั่งของขวัญ
พิธีแต่งงานของชาวจีนโบราณ มักจะถูกจัดโดยผู้เป็นพ่อแม่ จะเป็นฝ่ายเลือกเจ้าสาวให้ กับบุตรของตน นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนต่าง ๆ ที่ต้องปฏิบัติตามเป็นลำดับ ตั้งแต่การเจรจาต่อรอง การสู่ขอ การว่าจ้างซินแสมาตรวจดูดวงของคู่บ่าวสาวว่า สมพงษ์กันหรือไม่ จนไปถึงการตกแต่งเรือนหอ ต้องเป็นสีแดง เพื่อความเป็นสิริมงคล จะมีการจัดหาชายหนุ่มและหญิงสาว มาทำการเตรียมเตียงให้กับเจ้าสาว
นอกจากนี้ยังมีขบวนแห่รับเจ้าสาว จากบ้านของเจ้าสาวมาที่บ้านของเจ้าบ่าว ตามด้วยพิธีแต่งงาน การสักการะบูชาฟ้าดิน การถวายสัตย์ปฏิญาณ และการมอบของขวัญให้แก่กัน หลังจากนั้น ก็จะเป็นงานเลี้ยงฉลอง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้พิธีแต่งงาน ซึ่งเต็มไปด้วยแขกเหรื่อญาติสนิท มิตรสหาย และคนรู้จัก อาหารชั้นดี และสุรา จนกระทั้งเจ้าบ่าว เจ้าสาว พร้อมที่จะย้ายเข้าสู่เรือนหอ หลังจากนั้น เจ้าสาว ก็จะกลับไปเยี่ยมบ้านเดิมของเธอ เป็นเวลาสามวัน ก่อนที่จะย้ายกลับมาอยู่กับเจ้าบ่าว เป็นการถาวร พร้อมกับมีพิธีฉลองยิ่งใหญ่อีกครั้ง
3) วัฒนธรรม ประเพณีของชาติอาหรับ
ศาสนาอิสลาม มีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของ “ชนชาติอาหรับ” และการแพร่ขยายวัฒนธรรม ประเพณีจากศาสนาอิสลาม จนทำให้ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาที่มีจำนวนผู้นับถือมากที่สุดในเอเชียวัฒนธรรม ประเพณีที่สำคัญ ๆ ได้แก่
การแต่งกาย ผู้หญิงมุสลิมแต่งกายมิดชิด มีผ้าคลุมร่างกาย และแต่ละชาติ อาจแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด
การถือศีลอด ชาวมุสลิม จะถือศีลอดในช่วงเดือนรอมะฎอน และชาวมุสลิมทั่วโลก รวมกันปฏิบัติศาสนกิจ และเฉลิมฉลองวาระสิ้นสุดการถือศีลอด ในเดือนรอมะฏอน อันประเสริฐหลังจากมีผู้พบเห็นจันทร์เสี้ยว หรือฮิลาส เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา ทำให้วันนี้เป็นวันแรกของเดือนเชาวาล-ฮิจเราะห์ หรือ วันอิดิ้ลฟิตรี โดยในวันนี้พี่น้องมุสลิม จะปฏิบัติตนตามแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม โดยจะจ่ายซะกาตฟิตเราะห์ ซึ่งเป็นการนำอาหารหลักไปจ่ายให้กับคนยากจนและทุกคนอาบน้ำชำระร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้า และแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวยงาม ทานอินทผลัม ก่อนเดินทางไปยังที่ละหมาด หรือ มุศ็อลลา ร่วมละหมาดอิดิ้ลฟิตรี และเดินทางกลับในอีกทางโดยเมื่อมีการพบปะกัน จะมีการกล่าวทักทายกันด้วยว่า “ตะก็อบบะลั้ลลอฮุ มินนา วะมินกุ”
4) วัฒนธรรมตะวันตกกับประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย
วัฒนธรรมตะวันตก แม่แบบมาจากอารยธรรมกรีกและโรมัน (เกรโค - โรมัน) อารยธรรมนี้ มีแหล่งกำเนิดในบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และได้รับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์
การเผยแพร่วัฒนธรรมตะวันตก สืบเนื่องมาจากความต้องการค้าขาย และการเผยแผ่ศาสนา ซึ่งวัฒนธรรมตะวันตกที่สำคัญ ๆ ได้แก่
การแต่งกาย แบบสากลนิยมใช้ทั่วไปทุกประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะคนชั้นสูงในเอเชีย นักปกครอง นักธุรกิจนิยมแต่งกายแบบตะวันตก มีชุดสากล กางเกง เสื้อเชิ้ต เสื้อยืด มีบางประเทศที่มีวัฒนธรรมของตัวเองเข้มแข็ง ยังใส่ชุดประจำชาติอยู่ คือ อินเดีย พม่า อินโดนีเซีย และประเทศอาหรับ
การศึกษา วัฒนธรรมตะวันตก เห็นความสำคัญของการศึกษาทุกแขนง และมีความเจริญก้าวหน้าที่สำคัญ คือ การศึกษาที่ปูพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งผลให้วิทยาศาสตร์โลกก้าวหน้า
อาหาร อาหารของวัฒนธรรมตะวันตกแพร่หลายไปทั่วโลก ให้ความสำคัญอาหารที่มีคุณค่า ที่มีส่วนปรุงจาก แป้งสาลี นม เนย เนื้อสัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องดื่ม อันได้แก่ ไวน์ เป็นต้น
https://www.traveloka.com/th-th/flight/to/Singapore.SIN
วัฒนธรรม ประเพณี ได้รับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์ เช่น ประเพณีเทศกาลเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส เทศกาลอีสเตอร์และพิธีแต่งงาน ประเทศที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกค่อนข้างมาก คือ ประเทศสิงคโปร์ เป็นเกาะเล็ก ๆ ปกครองแบบประชาธิปไตย ประชาชน มีหลายเชื้อชาติได้แก่ จีน มาเลย์ ประชาชนส่วนมากนับถือศาสนาคริสต์
ประเทศสิงคโปร์ มีระบบการศึกษาที่ดี ประชาชนได้รับการศึกษาสูง และประกอบอาชีพการค้าธุรกิจ ประชาชนมีรายได้ต่อหัวสูง ชาวสิงคโปร์ เรียกประเทศของเขาว่า "Intelligence Island"
ปัจจุบันวัฒนธรรมตะวันตกแพร่หลายไปในประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ทั้งด้านอาหารดนตรี การแต่งกาย การปกครองระบอบประชาธิปไตย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ การอุตสาหกรรม โทรคมนาคมต่าง ๆ เป็นต้น