ประวัติศูนย์แพทย์ฯ

จากปัญหาการขาดแคลนแพทย์ และการกระจายของแพทย์ไม่เหมาะสม ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงด้านคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์สาธารณสุขกับประชาชนในชนบท ดังนั้นรัฐบาลจึงมีนโยบายให้มีการผลิตแพทย์เพิ่ม ในปี 2536 โรงพยาบาลสระบุรีได้รับมอบหมายให้เป็นสถาบันในโครงการร่วมมือเพื่อการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับผิดชอบสอนนักศึกษาชั้นคลินิกชั้นปีที่ 4-6

ในปี พ.ศ. 2537 กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการลงนามในสัญญาข้อตกลงเรื่องความร่วมมือในการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทกับทบวงมหาวิทยาลัย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย มีระยะเวลา 10 ปี (ใช้เวลาดำเนินการ 16 ปี) ภายใต้หลักการสำคัญ คือ ทบวงมหาวิทยาลัยเป็นหลักในการจัดทำหลักสูตร สำหรับผลผลิตบัณฑิตแพทย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่แพทยสภากำหนดประสาทปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต และรับผิดชอบจัดการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 1-3 ส่วนกระทรวงสาธารณสุขโดยโรงพยาบาลศูนย์ต่างๆ รับผิดชอบการจัดการเรียนการสอน และฝึกปฏิบัติทักษะทางคลินิก สำหรับชั้นปีที่ 4 - 6 ภายใต้การสนับสนุน ดูแล และควบคุมกำกับโดยคณะแพทยศาสตร์ สถาบันคู่สัญญา

ในปี พ.ศ. 2538 กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกขึ้นในโรงพยาบาลศูนย์ต่างๆ จำนวน 12 แห่ง โดยหน้าที่หลักของแพทยศาสตรศึกษาคือเป็นแกนในการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจารย์แพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลชุมชน และบริหารจัดการโครงการ ตลอดจนปฏิบัติงานต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลสระบุรี ได้ดำเนินการร่วมในการผลิตแพทย์ตามโครงการฯ และเริ่มรับนักศึกษาในโครงการฯ นี้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2539 เป็นต้นมา