วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ

8 กันยายน

วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ (International Literacy Day)

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO) กำหนดให้วันที่ 8 กันยายนของทุกปีเป็นวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ (International Literacy Day) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สังคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของการรู้หนังสือ การประชุมครั้งแรกขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เมื่อปี 2489 ได้เรียกร้องให้ชาวโลกให้ความสำคัญกับการศึกษาแก่ประชากรโลก โดยเฉพาะเรื่องเด็กไม่ได้เข้าโรงเรียนตามวัย ซึ่งต่อมาที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโลกว่าด้วย การขจัดการไม่รู้หนังสือ (World Conference of Ministers of Education on the Eradication of literacy) ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ในปี 2508 มีการเสนอให้วันที่ 8 กันยายน ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของการประชุมดังกล่าวเป็นวันระลึกปีสากลแห่งการรู้หนังสือ ภายใต้แนวคิดว่าด้วยการขจัดการไม่รู้หนังสือของประชากรโลก


องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติได้นำเสนอวาระว่าด้วย การรู้หนังสือเป็นการให้อิสรภาพแก่ผู้คนทั้งหลาย เป็นอิสรภาพจากความไม่รู้ มีอิสรภาพจากความยากจน อิสรภาพจากความเจ็บไข้ได้ป่วย การรู้หนังสือจากการศึกษาเล่าเรียนจะเป็นโอกาสให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเสรี มีชีวิตที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นจากการดำรงชีวิตและดำเนินชีวิตอย่างมีอิสรภาพ การรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการรู้หนังสือในวันที่ 8 กันยายนของทุกปี เป็นความพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลของทุกๆ ประเทศ และทุกๆ คนในสังคม เกิดความตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องระดมสรรพกำลังแก้ปัญหาความไม่รู้หนังสือของประชากรในแต่ละประเทศอย่างจริงจัง 

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติย้ำเตือนประชาคมนานาชาติถึงสถานการณ์ของการรู้หนังสือและการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ทั่วโลก อาทิ ผู้ใหญ่ราว 776 ล้านคนขาดทักษะการรู้หนังสือขั้นต่ำ โดย ผู้ใหญ่ 1 ใน 5 ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และ 2 ใน 3 ในจำนวนนี้เป็นสตรี เด็กราว 75 ล้านคนต้องออกจากโรงเรียน และอีกมากกว่านั้นเข้าร่วมการศึกษานอกระบบหรือออกโรงเรียนก่อนวัย

จากรายงานการเฝ้าดูทั่วโลกว่าด้วยการศึกษาสำหรับทุกคนปี 2551 เอเชียใต้และเอเชียตะวันตกเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ต่ำที่สุด ร้อยละ 58.6 ประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือต่ำที่สุดในโลก คือ ประเทศบูร์กินาฟาโซ ร้อยละ 12.8 รายงานดังกล่าวแสดงความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างอัตราการไม่รู้หนังสือกับประเทศที่ตกอยู่ในภาวะยากจนรุนแรง และระหว่างอัตราการไม่รู้หนังสือกับอคติที่มีต่อสตรี

“วันการศึกษาผู้ใหญ่แห่งชาติ”

สำหรับประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มจัดกิจกรรมที่กองการศึกษาผู้ใหญ่และตามโรงเรียนผู้ใหญ่ทั่วไปตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความร่วมมือเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการรู้หนังสือและการศึกษาตลอดชีวิต ต่อมาในปี 2520 กองการศึกษาผู้ใหญ่ได้จัดนิทรรศการ “วันการศึกษาผู้ใหญ่แห่งชาติ” ณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ ในปี 2521 ได้จัดนิทรรศการ “วันการศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษานอกระบบ” ณ บริเวณโรงละครแห่งชาติ ซึ่งมีหน่วยงานจากภายนอกมาร่วมสมทบการจัดงานด้วย และในปี พ.ศ. 2522 บริเวณคุรุสภา ในปีนี้มีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก  ด้วยเหตุนี้ International Literacy Day จึงได้กลายมาเป็น "วันการศึกษานอกโรงเรียน" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา โดยเหตุที่การศึกษานอกโรงเรียนเป็นการศึกษาตลอดชีวิต และกระบวนการเรียนการสอนไม่จำกัดสถานที่ เวลา อายุ เพศ  หรืออาชีพของผู้เรียน แต่เน้นกลุ่มเป้าหมายที่ไม่มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในระบบโรงเรียน 

การจัดการศึกษานอกโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการมีการดำเนินกิจกรรมในหลายรูปแบบ ได้แก่ การสอนให้คนอ่านออกเขียนได้ เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานในการดำรงชีวิต อาทิ โครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือแห่งชาติ โครงการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐาน และโครงการศึกษาต่อเนื่อง การจัดที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดเคลื่อนที่ รถโมบายเคลื่อนที่ วิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษาและเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์ การสอนวิชาชีพหลักสูตรระยะสั้น โครงการฝึกอบรมต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายด้านวิชาชีพ และให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม

ห้องสมุดประชาชนในสังกัด สกร. แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ 1. ห้องสมุดประชาชนจังหวัด  2. ห้องสมุดประชาชนอำเภอ  3. ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี

ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอแม่แตง สังกัด สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานที่มีการขับเคลื่อนการทำงานตามพันธกิจและภารกิจ ซึ่งมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย  จนทำให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย ประชาชนมีความตื่นรู้และตื่นตัวกับการรู้หนังสือและรักการอ่านมากขึ้น

ห้องสมุดประชาชนอำเภอแม่แตง เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมการอ่านและการศึกษาตามอัธยาศัย จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ตามอัธยาศัยให้กับประชาชนทุกเพศทุกวัย ส่งเสริมให้ประชาชนมีนิสัยรักการอ่าน

ท่านที่รับชมนิทรรศการออนไลน์แล้วสามารถคลิกที่ภาพของ Google from ด้านบนนี้เพื่อทำการลิงค์เข้าสู่แบบทดสอบออนไลน์ได้เลยค่ะ