ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติภาควิชา

ประวัติภาควิชา

ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคมตั้งอยู่ที่ ชั้น 19 อาคารมหาอานันทมหิดลปรมราชาธิราช อปร
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508
ผู้ก่อตั้งภาควิชาฯ คือ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศึกษา ภมรสถิตย์ ร่วมกับศาสตราจารย์ นายแพทย์อานนท์ ปทัตสุนทรสาร โดยในระยะเริ่มก่อตั้งได้ใช้ชื่อหน่วยวิชาเวชศาสตร์ป้องกัน โดยเป็นหน่วยงานที่แยกตัวออกมาจากแผนกวิชาอายุรศาสตร์ ตามข้อเสนอแนะจากการประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ปีพ.ศ. 2507 ตั้งแต่บัดนั้นแผนกวิชาเวชศาสตร์ป้องกัน ได้มีการพัฒนาต่อเนื่องจนเมื่อคณะแพทยศาสตร์ได้โอนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปีพ.ศ. 2514 หน่วยวิชาเวชศาสตร์ป้องกันจึงได้ยกฐานะเป็นภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคมในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ยุคแรก

นับแต่ปี พ.ศ. 2508 ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกัน ได้แยกออกจากภาควิชาอายุรศาสตร์ โดยได้รับงบประมาณแผ่นดิน สร้างเป็นตึก 3 ชั้น ประกอบด้วยห้องเรียน ห้องทำงานและห้องปฏิบัติการ ห้องตรวจนิสิตป่วย ตัวอาคารตั้งอยู่ระหว่างอาคารหอสมุด คณะแพทยศาสตร์ และตึกวชิรญาณวงศ์ ตรงข้ามตึกพร้อมพันธุ์ ด้านหลังเป็นบริเวณจอดรถและเป็นที่ตั้งของอาคารภาควิชาพยาธิวิทยา และนิติเวชวิทยา ปัจจุบันที่ตัวอาคารภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกัน ได้รับการต่อเติมขึ้นเป็น 4 ชั้น โดยใช้พื้นที่ดาดฟ้าเดิม ทั้งนี้เนื่องจากอาคารเดิมมีรากฐานสำหรับเป็นอาคาร 4 ชั้นอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาในการก่อสร้างต่อเติม พื้นที่ชั้น 4 ที่ได้จากการต่อเติมใช้เป็นห้องสอนแสดง ห้องประชุมกลุ่มย่อย ห้องทำงานนิสิตปริญญาโท ห้องออกกำลังกาย และห้องเก็บวัสดุเหลือใช้ของภาควิชาฯ


ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ยุคปัจจุบัน

นับ แต่ปี พ.ศ. 2544 ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ ชั้น 19 อาคาร อปร ซึ่งได้แบ่งห้องทำการใหญ่ ๆ คือ ห้องธุรการ ห้องวิชาการ ห้องประชุม ห้องเรียนใหญ่ ห้องเรียนเล็ก
ห้องสมุดภาควิชาฯ ห้องเตรียมการสอน ห้องพักนิสิต ห้องอาจารย์ และห้องรับรองอาจารย์พิเศษ


ด้านการเรียนการสอน

ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม เป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 โดยมี ปรัชญา และ วิสัยทัศน์ ตามคณะแพทยศาสตร์ เพื่อให้บรรลุ วัตถุประสงค์ของภาควิชาฯ ทั้งนี้มีบทบาทหลักสามประการ ได้แก่ การให้การศึกษาและบริการทางวิชาการ บริการคลินิก และ งานวิจัย ในด้านเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม