ประวัติและที่มา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริบางประการเกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช “ การสอนและอบรมให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชพรรณนั้น ควรใช้วิธีการปลูกฝังให้เด็กเห็นความงดงาม ความน่าสนใจและเกิดความปิติ ที่จะทำการศึกษาและอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป การใช้วิธีการสอนการอบรมที่ให้เกิดความรู้สึกกลัวว่าหากไม่อนุรักษ์แล้วจะเกิดผลเสีย เกิดอันตรายแก่ตนเอง จะทำให้เด็กเกิดความเครียดซึ่งจะเป็นผลเสียแก่ประเทศในระยะยาว” จากพระราชดำริฯในการสร้างจิตสำนึกด้านอนุรักษ์พันธุกรรมพืชจึงได้จัดตั้ง”งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อในการสร้างจิตสำนึกด้านอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยให้เยาวชนได้ใกล้ชิดกับพืชพรรณไม้ เห็นคุณค่า ประโยชน์ ความสวยงามในการอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป

โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี พิษณุโลกได้เข้าร่วมงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ตามโครงการอนุรักษ์

พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2537 จนถึงปัจจุบัน มีการดำเนินงานตามขั้นตอนของ อพ.สธ.กำหนด4 ด้านหลัก คือ

ด้านที่ 1การบริหารและการจัดการ

ด้านที่ 2การดำเนินงาน ตามขั้นตอนการดำเนินงาน 5 องค์ประกอบ การศึกษาพืชศึกษาตะขบฝรั่ง และสัตบรรณ รวมทั้งสาระการเรียนรู้ 3 สาระ ได้แก่ธรรมชาติแห่งชีวิต สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว ประโยชน์แท้แก่มหาชน

ด้านที่ 3 ผลการดำเนินงาน

และ ด้านที่ 4 ความถูกต้องทางวิชาการ เกี่ยวกับตัวอย่างพรรณไม้แห้งและการศึกษาพรรณไม้ ทะเบียนพรรณไม้และภาพถ่ายพรรณไม้ ป้ายชื่อพรรณไม้สมบูรณ์โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนได้ใกล้ชิดอีกทั้งได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับพืชพรรณไม้ ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง โดยใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เกิดความเชี่ยวชาญและรู้จริงในพืชที่ศึกษา ส่งผลให้นักเรียนเกิดจิตสำนึกที่ดีต่อพืชพรรณไม้และคิดอนุรักษ์สืบไป

การดำเนินงานใช้ปรัชญาการสร้างนักอนุรักษ์มาเป็นปรัชญาของงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน วิธีการดำเนินการ มีวัตถุประสงค์ สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 8 นโยบายปฏิรูปการศึกษา หมวด 4 (แนวทางจัดการศึกษาพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542) รวมทั้งสอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ(องค์รวม)ทำให้ผู้เรียนเห็นความสัมพันธ์ของศาสตร์สาขาต่างๆ สามารถเชื่อมโยง และถ่ายโอนความรู้นำไปใช้ในชีวิตจริงได้ (หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544) มีการพัฒนางานมาโดยตลอดมีการประชุมปรึกษา วางแผนการดำเนินงาน วางแผนบูรณาการและจัดทำแผนการเรียนรู้ บูรณาการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนในแต่ละรายวิชาของทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับ การดำเนินงานตามขั้นตอนการดำเนินงาน 5 องค์ประกอบ และ 3 สาระการเรียนรู้พืชศึกษา

ดังนั้นโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรีจึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามองค์ประกอบของ

งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) อย่างมีประสิทธิภาพจนได้รับเกียรติบัตร

ขั้นที่ 1เกียรติบัตร แห่งความมุ่งมั่น อนุรักษ์ สรรพสิ่งสรรพชีวิต ด้วยไวพจน์แห่งจิตสำนึกของเยาวชน และเกียรติบัตร

ขั้นที่ 2“เกียรติบัตรแห่งการเข้าสู่สถานภาพ สถานศึกษาอบรมสั่งสอนเบ็ดเสร็จ บนฐานงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน”