หน่วยการเรียนรู้ที่ 12

ธรรมชาติของเสียง

เสียงเป็นส่วนประกอบร่วมในชีวิตประจำวันของเรา แต่เราไม่ค่อยจะเข้าใจหน้าที่ของมันมากนัก เสียงดนตรี ทำให้เรารู้สึกสนุกสนาน เสียงนกร้อง ทำให้เราเพลิดเพลิน เสียงใช้เป็นเครื่องสื่อสารคำพูดระหว่างครอบครัว และเพื่อนฝูง เสียงปลุกและเตือนเรา เช่น เสียงกริ่งโทรศัพท์ เสียงเคาะประตู หรือเสียงรถดับเพลิง เสียงเป็นเครื่องประเมินคุณภาพ เช่น เสียงเคาะของเครื่องรถยนต์ เสียงดังเอี๊ยดอ๊าดของล้อ หรือเสียงหัวใจดังฟู่ๆ เป็นต้น

ในสังคมสมัยใหม่มีอยู่บ่อยครั้ง ที่เสียงทำความเดือดร้อนรำคาญให้เรา เสียงหลายอย่างที่เป็นเสียงที่เราไม่ต้องการ ทำให้เกิดความไม่พอใจ ซึ่งเราเรียกว่า เสียงรบกวน การที่เสียงรบกวน จะทำความเดือดร้อนรำคาญให้เรามากหรือน้อยนั้น มิได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเสียงเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับทัศนคติของเรา ที่มีต่อเสียงอีกด้วย คนขี่รถจักรยานยนต์ที่ชอบดัดแปลงท่อไอเสีย อาจชอบเสียงดังสนั่นจากรถของเรา แต่ผู้คนที่รถวิ่งผ่านจะไม่ชอบ และรู้สึกแสบแก้วหู เสียงที่ทำความเดือดร้อนรำคาญไม่จำเป็นต้องเป็น เสียงดังเสมอไป เสียงน้ำหยดจากก๊อก เสียงพื้นลั่น เสียงจากรอยขีดข่วนบนแผ่นเสียง อาจรบกวนให้รำคาญได้เหมือนเสียงดังๆ ทั้งหลาย

ยิ่งไปกว่านั้น เสียงยังสามารถทำให้เกิดความเสียหาย และการทำลายได้อีกด้วย เช่น เสียงของคลื่นกระแทก หรือโซนิกบูมจากเครื่องบิน ทำให้บานกระจกหน้าต่างสั่น แต่ที่สำคัญที่สุดนั้น ได้แก่ การที่เสียงทำความเสียหายต่อเครื่องมือ ซึ่งมีความละเอียดอ่อนที่ใช้รับฟังอันได้แก่หูของ คนเรานั่นเอง

เสียงคืออะไร

ลองนึกภาพ เมื่อเรายืนอยู่หน้าลำโพง เครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ หรือเครื่องบันทึกเสียง ขณะที่ไดอะแฟรมของลำโพงสั่น สัมผัสกับอากาศ เราจะรู้สึกอย่างไร เรารู้สึกว่า ได้ยินเสียง เสียงเกิดขึ้นมาได้ เพราะมีอะไรบางอย่างถูกส่งเข้าไปในหู เป็นสิ่งที่ส่งผ่านมาตามอากาศ และแหล่งกำเนิดของสิ่งนี้ก็คือ การสั่นของแผ่นไดอะแฟรมของเครื่องรับวิทยุ และเครื่องอื่นๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น

เมื่อส้อมเสียงถูกเคาะให้สั่นในอากาศ เนื่องจากขาส้อมเสียง มีทั้งมวลและความยืดหยุ่น จะออกแรงอัดอากาศ ทำให้ชั้นอากาศที่อยู่ชิดเกิดความเร่งตามกฎข้อที่สองของนิวตัน แต่เนื่องจากอากาศมีความยืดหยุ่นแบบสปริงคล้ายส้อมเสียง ขณะที่ขาของส้อมเสียงดีดตัวกลับ โมเลกุลอากาศที่สัมผัสอยู่กับขาส้อมเสียงมีแรงคืนตัวดีดตัวกลับ ผ่านตำแหน่งสมดุลปกติ (ขณะที่ยังไม่สั่น) จากการสั่นติดต่อกันของขาส้อมเสียง ทำให้ผิวเหนือชั้นอากาศที่อยู่ชิดขาส้อมเสียงถูก รบกวนต่อเนื่องคือสั่นตามไปด้วย การรบกวนนี้ ถูกส่งออกผ่านชั้นบางๆ ของอากาศ แรงอัด ทำให้อนุภาคอากาศเกิดการกระจัดที่ขณะใดขณะ หนึ่ง ณ จุดต่างๆ ตามทางที่การรบกวนผ่านไป จะเกิดมีบริเวณที่อนุภาครวมตัวกันหนาแน่นกว่า ปกติ ซึ่งเรียกว่า ส่วนอัด ในขณะเดียวกันจะ เกิดบริเวณที่อนุภาคอากาศย้ายที่ออกไปเรียกว่า ส่วนขยาย

การสั่นสะเทือนของส้อมเสียง

เพื่อให้เห็นภาพชัด ลองนำขดลวดสปริงวางนอนตามแนวยาวบนพื้น แล้วจับปลายขดลวดดันไปข้างหน้า และกระตุกกลับ สลับกันไปมาเร็วๆ จะเห็นบริเวณส่วนอัด และบริเวณส่วนขยายเดินออกไปตามความยาวของขดลวด

ในบริเวณส่วนอัด และส่วนขยาย มีพลังงานแฝงอยู่ 2 ชนิดด้วยกันคือ พลังงานจลน์ จากการเคลื่อนไหวของโมเลกุลอากาศ และพลังงานศักย์ เพราะโมเลกุลอากาศถูกผลักห่างจากตำแหน่งสมดุล ประกอบกับอากาศก็มีความยืดหยุ่นด้วย ดังนั้นเมื่อบริเวณส่วนอัดส่วนขยายถูกส่งถ่ายทอดออกไปในอากาศ ก็ถือว่า มีพลังงานส่งผ่านตัวกลางออกไปในรูปของคลื่น กล่าวคือ ตัวกลางไม่ได้เดินตามคลื่นไปด้วย เพียงแต่รับพลังงานในรูปการเคลื่อนไหวแบบการสั่น และชักนำให้จุดข้างเคียงสั่นตามต่อไปเรื่อยๆ

ระบบการได้ยิน

หูชั้นนอก

ประกอบด้วยใบหู รูหู และเยื่อแก้วหู เยื่อแก้วหูมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อประสานแผ่นบางๆ รูปรี ตั้งอยู่ระหว่างหูชั้นนอกกับหูชั้นกลาง เมื่อมีคลื่นเสียงส่งมาตามตัวกลาง เช่น อากาศถึงใบหู ใบหูจะรวบรวมคลื่นเสียง (หรือคลื่นความดังนั่นเอง) เข้าทางรูหู ซึ่งอยู่ติดกับอากาศภายนอก เข้าไปถึงเยื่อแก้วหู คลื่นเสียงนี้ทำให้เยื่อแก้วหูสั่น

หูชั้นกลาง

เป็นส่วนที่อยู่ต่อจากหูชั้นนอก มีลักษณะเป็นโพรง ตั้งอยู่ในกระดูกขมับ มีกระดูกเล็กๆ 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกรูปค้อน ทั่งและโกลน ต่อกันอยู่ด้วยข้อต่อ ปลายด้านหนึ่งของกระดูกค้อนยึดติดอยู่กับเยื่อแก้วหู ส่วนทางด้านกระดูกโกลนมีฐานยึดติดกับช่องรูปรี ทั้งนี้โดยอาศัยเอ็นของกล้ามเนื้อเป็นตัวยึด หน้าต่าง รูปรีเป็นทางผ่านของการสั่นสะเทือนจากเยื่อแก้วหู ซึ่งถูกส่งถ่ายทอดมาตามกระดูกทั้งสามชิ้นไปยังช่องรูปรีเข้าสู่หูชั้นใน การทำงานของกระดูก 3 ชิ้น มีลักษณะคล้ายระบบของคาน ซึ่งมีการได้เปรียบเชิงกลประมาณ 3 : 1 ผลก็คือ ระยะทางการขยับตัวของเยื่อแก้วหูน้อย เมื่อส่งผ่านเป็นการสั่นไปสู่ฐานของกระดูกโกลน แต่เกิดแรงกระตุ้นมากขึ้น บริเวณด้านล่างของหูชั้นกลาง มีท่อซึ่งติดต่อกับอากาศภายนอกทางด้านหลังของจมูกเรียกว่า ท่อยูสเต เชี่ยน ทำหน้าที่ปรับความดันอากาศภายในหูชั้นกลาง ให้เท่ากับความดันบรรยากาศอยู่เสมอ

หูชั้นใน

อยู่ภายในส่วนลึกของกระดูกขมับ ประกอบด้วยอวัยวะที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน และอวัยวะที่ใช้ในการทรงตัว มีชื่อว่า โคเคลีย (cochlea) เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินเสียง ลักษณะเป็นท่อยาวประมาณ 30 มม. ขดเป็นวงซ้อนขึ้นรูปก้นหอยประมาณ 2 1/2 รอบ โคเคลียถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ตามความยาว โดยแผ่นเยื่อ เบซิลาร์ เมมเบรน (Basilar membrane) ช่องบนเรียก สกาลา เวสติบุไล (Scala vestibuli) และช่องล่างเรียกว่า สกาลา ทิมปาไน (Scala tympani) ช่องทั้งสองติดต่อกันที่บริเวณยอดของโคเคลีย เป็นรูเปิดเล็กๆ เรียกว่า เฮลิโคทริมา (Helicotrema) ภายในช่องทั้งสองมีของเหลวบรรจุอยู่

บนเบซิลาร์ เมมเบรน มีอวัยวะรับเสียงคือ ออร์แกนออฟคอร์ติ (Organ of corti) ประกอบด้วยเซลล์ขน (Tectorian membrane) และเซลล์อื่นๆ เมื่อคลื่นความสั่นสะเทือนถูกส่งมาถึงช่องรูปรี คลื่นจะถูกส่งผ่านของเหลวในหูส่วนใน ไปตามช่องบน ผ่านรูเปิดลงสู่ช่องล่าง สุดท้ายจะไปถึงช่องรูปวงกลม ระหว่างที่มีคลื่นรบกวนเดินผ่านตามเส้นทางดังกล่าว เบซิลาร์ เมมเบรนจะ ถูกกระตุ้นให้สั่น เซลล์ขนซึ่งมีความไวสูงจำนวนมากจะเปลี่ยนความสั่นสะเทือนให้เป็นศักย์ไฟฟ้า กลายเป็นกระแสประสาทสู่สมองทางเส้นประสาทเสียงเพื่อ แปลเป็นความรู้สึกของเสียง อัตราการผลิตกระแสประสาทของเซลล์ขนขึ้นอยู่กับความเข้มและความถื่ของเสียง


เซลล์ขนรับคลื่นเสียง (ขยายประมาณ 600 เท่า)

เสียงคือ การแปรผันความดัน (ในอากาศ น้ำ หรือตัวกลางชนิดอื่น) ซึ่งหูคนเราสามารถตรวจหาได้ เครื่องมือที่เรารู้จักเป็นอย่างดี ในการวัดการแปรผันความดันในอากาศคือ บาโรมิเตอร์ แต่ความดันที่แปรผันไป เพราะการเปลี่ยนแบบอย่างของลมฟ้าอากาศ เกิดขึ้นช้าเกินกว่าที่หูจะตรวจหาได้ เราจึงไม่ได้ยินเป็นเสียง ในคำนิยามของเสียง ถ้าการแปรผันในความดันบรรยากาศเกิดขึ้นเร็วกว่า 20 ครั้งต่อวินาที หูจะได้ยินเป็นเสียง (อย่างไรก็ตาม บาโรมิเตอร์ไม่สามารถตอบสนองได้เร็วพอ จึงใช้วัดเสียงไม่ได้) จำนวนครั้งของการแปรผันใน ๑ วินาที เรียกว่า ความถี่ของเสียง วัดเป็นวัฏจักรต่อวินาที หรือเฮิรตซ์ (Hertz, Hz) ซึ่งเป็นหน่วยสากล พิสัยการได้ยินของมนุษย์อยู่ระหว่าง 20 เฮิรตซ์ ถึง 20,000 เฮิรตซ์ (หรือ 20 กิโลเฮิรตซ์) ส่วนเสียงของเปียโนอยู่ระหว่าง 27.5 เฮิรตซ์ ถึง 4,186 เฮิรตซ์

ถ้าเราทราบอัตราเร็ว และความถี่ของคลื่นเสียง เราก็สามารถหาความยาวคลื่นของเสียงได้ ความยาวคลื่นคือ ระยะทางในอากาศจากยอดคลื่นลูกหนึ่ง ไปยังยอดของคลื่นอีกลูกหนึ่ง ความยาวคลื่น = อัตราเร็ว/ความถี่

เราอาจให้คำนิยามเสียงว่า เป็นการเคลื่อนที่แบบคลื่นในอากาศ หรือตัวกลางยืดหยุ่นชนิดอื่น (สิ่งเร้า) หรืออาจกล่าวว่า เสียงเป็นการรบเร้าต่อกลไกการได้ยิน ที่ให้ผลเป็นการกำหนดรับรู้เสียง (เป็นการรู้สึกเพทนาการ หรืออินทรียสัมผัส)

เดซิเบล

เสียงค่อยที่สุดที่หูของสุขภาพดีตรวจหาได้คือ 20 ไมโครปาสกาล ซึ่งน้อยกว่าความดันบรรยากาศถึง 5 พันล้านเท่า (1 ปาสกาล คือ 1 นิวตัน ต่อ ตร.เมตร นิวตัน เป็นหน่วยของแรง) การเปลี่ยนความดัน 20 ไมโครปาลกาล มีค่าน้อยมาก เพียงแต่จะทำให้เยื่อในหูคน ขยับเบนไปเป็นระยะทางน้อยกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของอะตอมเท่านั้น ที่น่าประหลาดก็คือ หู สามารถทนความดันเสียงได้ถึงมากกว่าล้านเท่าของ 20 ไมโครปาสกาล ดังนั้นหากเราจะวัดเสียงเป็นปาสกาล ตัวเลขจะออกมาเป็นจำนวนมากมายมหาศาล เพื่อตัดปัญหานี้ จึงมีมาตราที่ใช้อีกอย่างหนึ่งคือ มาตราเดซิเบล (dB)

ลักษณะที่เป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของมาตราเดซิเบล ก็คือ ให้ค่าที่ใกล้เคียงต่อการกำหนดรู้ความดังสัมพัทธ์ของคน ดีกว่ามาตราปาสกาล เพราะว่า หูมีปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนระดับ ซึ่งสมนัยกับมาตราเดซิเบล โดยที่ 1 เดซิเบล จะเป็นการเปลี่ยนเท่าๆ กันทุกแห่งตลอดมาตรา การเปลี่ยนความดังของเสียงน้อยที่สุดที่หูของเราสามารถรับรู้ได้ คือ การเพิ่มความดังขึ้นไป 1 เดซิเบล การเพิ่มขึ้น 6 เดซิเบล คือ การเพิ่มระดับความดันเสียงเป็น 2 เท่า แต่การเพิ่ม 10 เดซิเบล จะทำให้เสียงดังเป็น 2 เท่า

เราได้ยินอะไร

ปัจจัยที่พิจารณากำหนดความดังเชิงจิตวิสัยของเสียง มีความซับซ้อนอยู่พอสมควร ซึ่งการวิจัยยังคงกระทำกันอยู่ต่อไปในขณะนี้ อย่างหนึ่ง ได้แก่ หูคนเรามีความไว ที่ทุกความถี่ไม่เท่ากัน จะไวที่สุดในพิสัย 2 กิโลเฮิรตซ์ ถึง 5 กิโลเฮิรตซ์ ไวน้อยที่สุดที่ความถี่สูงมากๆ และต่ำมากๆ ปรากฏการณ์เช่นว่านี้ จะเด่นชัดที่ระดับความดันเสียงต่ำ มากกว่าที่ระดับความดันสูง ดูจากรูป กราฟแสดงความดันเสียงในระดับความถี่ต่างๆ จะเห็นมีเส้นโค้งเป็นชุด ชี้บอกระดับความดันเสียงที่ความถี่ต่างๆ ที่ให้ความดังปรากฏเท่ากับ น้ำเสียงที่ 1000 เฮิรตซ์ ตัวอย่างเช่น น้ำเสียง 50 เฮิรตซ์ จะต้องมีระดับสูงกว่าน้ำเสียง 1000 เฮิรตซ์ ถึง 15 เดซิเบล เพื่อจะให้ความรู้สึก เป็นความดังที่ 70 เดซิเบล

คอนทัวร์ที่มีความดังเท่ากัน สำหรับเสียงบริสุทธิ์ที่ความถี่ต่างๆ

เราสามารถสร้างวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความไวแปรผันตามความถี่ เหมือนเช่นหูมนุษย์ได้ วงจรดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า วงจรถ่วงน้ำหนัก เอ บี และซี เป็นมาตรฐานสากล วงจรเอใช้สำหรับเส้นโค้ง (ความดังเท่ากัน) ที่ระดับความดันเสียงต่ำ วงจรบีสำหรับระดับเสียงปานกลาง และวงจรซีสำหรับระดับสูง ในปัจจุบันใช้วงจรเอกันอย่างกว้างขวาง เพราะแบบ บี และซี ไม่มีสหสัมพันธ์ที่ดีต่อการทดสอบทางการรับรู้เสียง นอกจากนี้ยังมีการปรับมาตรฐานเพิ่มเติมขึ้น สำหรับการวัดเสียงเครื่องบิน เป็นวงจรถ่วงน้ำหนักแบบดี (D) อีกด้วย

เหตุผลหนึ่งที่วงจรถ่วงน้ำหนัก บี และ ซี ไม่ได้ให้ผลตามคาด เพราะว่า เส้นที่มีระดับเสมอกัน (หรือคอนทัวร์) นั้น ได้มาจากพื้นฐานการทดลอง โดยใช้เสียงบริสุทธิ์ (เสียงความถี่เดียว) เสียงทั่วๆ ไปส่วนมากมิใช่เสียงบริสุทธิ์ แต่เป็นสัญญาณเสียงเชิงซ้อน

เส้นโค้งถ่วงน้ำหนักตามมาตรฐานสากลสำหรับเครื่องวัด (มาตร) ระดับเสียง

การวัดระดับเสียง dB(A)

เมื่อเราวัดระดับความเข้มเสียง หรือระดับความดันเสียง เราใช้เครื่องมือที่ทำงานเหมือนหู ซึ่งมีความไวต่างกันต่อความถี่ต่างกัน ดังได้กล่าวแล้ว หากใช้วงจรถ่วงน้ำหนักเอ ซึ่งนิยมใช้กันมาก ค่าที่ได้จะมีหน่วยเป็น เดซิเบล เอ : dB (A)

ระดับความดันเสียงสมมูล (Equivalent Sound Pressure Level. Leq)

เสียงจากแหล่งกำเนิดเสียงมักจะกระเพื่อมขึ้นลงเป็นอันมากในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งเราจะวัดออกมาเป็นค่าเฉลี่ย (เชิงพลังงาน) เรียก ระดับความดันเสียงสมมูล (Leq)

เครื่องวัดระดับเสียง

เครื่องวัดระดับเสียงเป็นเครื่องมือ ซึ่งตอบสนองต่อเสียงคล้ายหูคนเรา และบอกค่าเป็นตัวเลขแสดงระดับเสียง ในเครื่องวัดระดับเสียง สัญญาณเสียงถูกเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้า โดยไมโครโฟนคุณภาพสูง แต่เนื่องจากว่าสัญญาณมี ค่าต่ำมาก จึงต้องทำการขยายก่อนที่จะแสดง ออกบนหน้าปัดเครื่องวัด เมื่อได้รับการขยายครั้ง แรกแล้ว สัญญาณจะถูกป้อนผ่านวงจรถ่วงน้ำหนัก (เอ บี ซี หรือ ดี) หรือวงจรกรอง ความถี่นั่นเอง หลังจากนั้นก็จะทำการขยาย สัญญาณอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มีระดับสูงพอที่จะ เบนเข็มเครื่องวัดได้ ค่าที่อ่านได้บนหน้าปัด เครื่องวัดคือระดับเสียงในหน่วยเดซิเบล

วงจรวิเคราะห์ความถี่ (รวมทั้งวงจรถ่วงน้ำหนัก)

ความดัง

มีรายงานการศึกษาเรื่องความดังมา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933 หลังจากนั้นก็มีการศึกษาอย่างละเอียด ได้ผลเป็นเส้นที่มีระดับเสมอกัน หรือคอนทัวร์ของความดังเท่ากัน เป็นชุดจากผลงานของโรบินสัน และแดดสัน ซึ่งต่อมามาตรฐานสากล (ISO 226) รับเอาไปใช้

คอนทัวร์ความดังเท่ากันแต่ละเส้น ดูได้จากค่าของมันที่ 1000 เฮิรตซ์ ซึ่งนำมานิยามเป็นระดับความดังมีหน่วยเป็นฟอน (Phon) คอนทัวร์ความดังเท่ากันที่ผ่านระดับความดันเสียง 40 เดซิเบล ที่ 1000 เฮิรตซ์ เรียกว่า คอนทัวร์ 40 ฟอน ความดังเป็นคำเชิงจิตวิสัย ส่วน ระดับความดันเสียงเป็นคำทางกายภาพเช่นเดียว กับระดับความดังก็เป็นพจน์ทางกายภาพด้วย เหมือนกัน และมีประโยชน์ในการประมาณค่าความดังของเสียง (ซึ่งมีหน่วยเป็น sone) จาก การวัดระดับเสียง รูปร่างของคอนทัวร์ความดัง เท่ากัน จะบรรจุไว้ ซึ่งสารนิเทศเชิงจิตวิสัย เพราะคอนทัวร์ดังกล่าวได้มาจากการเปรียบเทียบเชิงจิตวิสัยของความดังของเสียง ต่อความดังของมันที่ 1000 เฮิรตซ์

คอนทัวร์ความดังเท่ากัน เผยให้เห็นว่า ความดังที่หูรับรู้นั้น แปรผันเป็นอย่างมากเทียบกับความถี่ และระดับความดันเสียง เช่น ระดับ ความดันเสียง 30 เดซิเบล คิดเป็นระดับความดัง 30 ฟอนที่ 1000 เฮิรตซ์ แต่ะระดับความดัน เสียงจะต้องเพิ่มขึ้นอีก 58 เดซิเบล จึงจะให้ เสียงดังเท่ากัน ที่ 20 เฮิรตซ์ ความโค้งของ คอนทัวร์เปลี่ยนเป็นราบลงที่ระดับเสียงสูง หูไว ต่อเสียงทุ้ม (ความถี่ต่ำ) น้อยกว่าแถบเสียงกลางๆ

โดยทั่วไปผู้คนจะประเมินเสียงบริสุทธิ์ ความถี่ต่ำว่า ไม่ดังเท่ากับเสียงความถี่กลางๆ ที่ระดับความดันเสียงเท่ากัน ตัวอย่างเช่น คนหนุ่มสาวโดยเฉลี่ย จะประเมินเสียงบริสุทธิ์ 40 เฮิรตซ์ ที่ ๗๐ เดซิเบล ว่าดังเท่ากับเสียงบริสุทธิ์ 1000 เฮิรตซ์ ที่ 40 เดซิเบล ด้วยเหตุผลเช่นนี้เอง เราจึงกล่าวว่า เสียงทั้งสองนี้มีระดับ ความดังเท่ากันขนาด 40 ฟอน นอกจากนี้ มี การค้นพบว่าเมื่อเสียงเพิ่มระดับความดังขึ้น 10 ฟอน จะมีความรู้สึกว่าเสียงดังเป็นสองเท่า

ฟอน (phon)

เป็นหน่วยของระดับความดัง ระดับความดังเป็นฟอนของเสียงคือ ค่าตัวเลข เท่ากับระดับความดันเสียงเป็นเดซิเบลของเสียงอ้างอิง 1000 เฮิรตซ์ ซึ่งผู้ฟังตัดสินว่า ดังเท่ากับเสียงที่เราจะประเมินค่า

โซน (Sones)

เป็นหน่วยวัดความดังของ เสียง 1000 เฮิรตซ์ ที่มีระดับความดันเสียง 40 เดซิเบล โดยเทียบกับระดับอ้างอิง (2x10-5 นิวตันต่อตารางเมตร) เสียงที่ผู้ฟังว่า ดังเป็น n เท่าของเสียงนี้ จะถือว่า มีความดัง n โซน

เสียง

การเคลื่อนที่ อัตราเร็ว พฤติกรรม

เสียง

ความเข้ม ระดับ คุณภาพของเสียง

เสียง

ปรากฏการณ์เสียง