ลักษณะของงาน

นิยามอาชีพ

เชื่อมและตัดชิ้นส่วนโลหะด้วยเปลวก๊าซ หรืออาร์กไฟฟ้า สารประกอบ เทอร์มิค หรือด้วยวิธีอื่น ๆ ใช้เครื่องเชื่อมแบบต้านทาน ใช้หัวเชื่อมก๊าซเพื่อทำและแนวเชื่อมตะกั่วของท่อ พื้นและเครื่องใช้ที่ทำจากตะกั่ว เชื่อมต่อโลหะด้วยการบัดกรี ตัดโลหะโดยใช้เปลวก๊าซ หรืออาร์ก ไฟฟ้า เชื่อมโลหะด้วยบัดกรีมือ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและควบคุมดูแล ผู้ปฏิบัติงานอื่น ๆ

ลักษณะของงานที่ทำ

ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ทำหน้าที่ติดตั้ง ซ่อมบำรุงผลิตงานผลิตภัณฑ์โลหะแผ่นและโลหะรูปพรรณ งานโครงสร้างโลหะ งานระบบท่ออุตสาหกรรมทำงานด้วยการใช้เครื่องมือ เครื่องจักร ในการแปรรูป ขึ้นรูปประกอบด้วยกรรมวิธีเชื่อม การตกแต่งผิวสำเร็จ การตรวจสอบ และการควบคุมการผลิต

งานระดับช่างฝีมือ ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการอ่านแบบ เขียนแบบเครื่องกล

แบบแผ่นคลี่การผลิตงานผลิตภัณฑ์โลหะแผ่น และโลหะรูปพรรณโดยการใช้เครื่องมือเครื่องจักรในการแปรรูป ขึ้นรูปโลหะ การประกอบตกแต่งผิวสำเร็จ งานติดตั้งประกอบ และเชื่อมระบบท่อ งานติดตั้ง ประกอบและเชื่อมโครงสร้าง

งานระดับช่างเทคนิค ปฏิบัติงานในลักษณะผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยวิศวกรโดยทำงานภายใต้ การแนะนำและควบคุมของวิศวกร เป็นงานที่เกี่ยวกับการออกแบบติดตั้ง งานผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ งานระบบท่อ งานโครงสร้างงานเชื่อมซ่อมบำรุงชิ้นส่วนเครื่องจักรกล เครื่องมือกล งานตรวจสอบทดสอบวัสดุในทางวิศวกรรมงานตรวจสอบทดสอบงานเชื่อม ทั้งแบบทำลายและไม่ทำลาย

ช่างเชื่อมโลหะจำแนกประเภท และลักษณะของงานที่ทำตามอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชื่อมโลหะ ดังนี้

ช่างเชื่อมด้วยก๊าซ (Welder, gas)

  1. เชื่อมชิ้นส่วนของโลหะด้วยเปลวไฟจากก๊าซออกซิอะเซทิลีน หรือก๊าซ ชนิดอื่นๆ
  2. วางชิ้นส่วนโลหะและหนีบรัดให้อยู่กับที่ต่อหัวท่อ เชื่อมเข้ากับภาชนะใส่ก๊าซแล้วปิดวาล์วจุดไฟที่หัวท่อเชื่อมแล้วปรับเปลวไฟ โดยกำหนดการปล่อยก๊าซให้สม่ำเสมอ
  3. ทำให้ชิ้นส่วนโลหะร้อนจนกระทั่งโลหะเริ่มละลาย แล้วใช้โลหะหลอมเหลวจากแท่นเชื่อมหลอมเชื่อมชิ้นส่วนต่างๆเข้าด้วยกัน
  4. ใช้วัตถุผสานเท่าที่จำเป็น
  5. ทำความสะอาดแล้วทำชิ้นส่วนที่เชื่อมแล้วให้เรียบ
  6. อาจทำเครื่องหมายบนชิ้นส่วนก่อนการเชื่อม และเชื่อมตามรูปแบบ หรือตามรายละเอียดอื่นๆ

ช่างเชื่อมด้วยไฟฟ้า(มือ) (Welder electrical, hand)

  1. เชื่อมชิ้นส่วนโลหะด้วยอุปกรณ์เชื่อมที่ใช้มือ ซึ่งอุปกรณ์เชื่อมจะได้รับความร้อนจากกระแสไฟฟ้า
  2. เลือกโลหะเชื่อมและสอดเข้ากับเครื่องยึด ต่อสายไฟจากเครื่องกำเนิด ไฟฟ้า หรือหม้อแปลงเข้ากับโลหะเชื่อมและชิ้นส่วนที่ต้องการเชื่อมกด สวิตซ์เครื่องส่งกระแสไฟฟ้า เอาโลหะเชื่อมจี้ตรงชิ้นส่วนที่ต้องการ เชื่อมแล้วยกขึ้นให้มีระยะห่างจากชิ้นส่วนเพียงเล็กน้อยเพื่อทำให้เกิดประกายไฟ
  3. นำโลหะเชื่อมลากลงมาตามแนวที่จะเชื่อมเพื่อหลอมเชื่อมชิ้นส่วนให้ ติดกันและควบคุมกระแสไฟฟ้าให้เป็นไปตามความต้องการ
  4. ทำความสะอาดชิ้นส่วนที่เชื่อมแล้ว และทำรอยเชื่อมให้เรียบ
  5. อาจทำเครื่องหมายบนชิ้นส่วนก่อนการเชื่อม และเชื่อมตามรูปแบบหรือตามรายละเอียดอื่นๆ

ช่างเชื่อมด้วยก๊าซและไฟฟ้า ทั่วไป (Welder, gas and electric general)

  1. เชื่อมชิ้นส่วนของโลหะด้วยเปลวไฟของก๊าซออกซิอะเซทิลีน หรือเปลวไฟของก๊าซชนิดอื่นหรือ
  2. เชื่อมด้วยประกายไฟฟ้า
  3. ปฏิบัติงานเชื่อมโลหะเช่นเดียวกันกับช่างเชื่อมโลหะด้วยก๊าซ และช่างเชื่อมด้วยไฟฟ้า
  4. อาจตัดโลหะด้วยก๊าซออกซิอะเซทิลีนหรือด้วยเปลวไฟจากก๊าซชนิดอื่น

สภาพการจ้างงาน

ช่างเชื่อมโลหะ สามารถเข้าทำงานได้ทั้งในภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ เช่น กรมโยธาธิการ กรมชลประทาน การท่าเรือแห่งประเทศไทย การประปา หรือหน่วยงานในองค์กรเอกชนอื่นๆ ในสถานประกอบกิจการเช่น โรงงานอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ หรือประกอบอาชีพอิสระ เช่น รับเหมาสร้างโครงสร้างโลหะงานผลิตภัณฑ์โลหะงานระบบท่อได้รับค่าตอบแทนการทำงานเป็นเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาช่างเชื่อมโลหะที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำประมาณ 5,000-5,500บาท ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความสามารถและความชำนาญงาน นอกจากค่าตอบแทนในรูปเงินเดือนแล้วอาจได้รับผลประโยชน์พิเศษอย่างอื่น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินสะสม เงินช่วยเหลือสวัสดิการในรูปต่างๆ เงินโบนัส ค่าล่วงเวลา เครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ในการทำงาน เป็นต้น

สภาพการทำงาน

ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ทำงานทั้งใน และนอกสถานที่ทำงานในการประกอบและติดต่ออุปกรณ์ที่ต้องจ่อเชื่อมหรือประสานท่อ ทำการตรวจซ่อม และบริการการดูแลและซ่อมบำรุงเครื่องจักรในงานอุตสาหกรรมสภาพการทำงานหนักปานกลาง ต้องใช้ความอดทนต่อสภาพความร้อน เสียง กลิ่นของสารเคมี ทำความสะอาดอุปกรณ์และบางโอกาสทำงานตามลำพัง ต้องใช้ความระมัดระวังและรอบคอบสูงพอสมควรเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากการทำงานโดยเฉพาะ ”ตา” จึงจำเป็นต้องสวมแว่นตาในระหว่างการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันประกายไฟ หรือเศษโลหะเข้าตา บางครั้งต้องทำงานเกินเวลาอาจต้องทำงานวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุด เพื่อให้งานเสร็จทันเวลาที่กำหนด

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ

สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผ่านการอบรมกลุ่มงานอาชีพ ช่างเชื่อม และโลหะแผ่นจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และสวัสดิการสังคม มีความรู้ความสามารถอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานฝีมือ ช่างชั้น 3 หรือสำเร็จการ ศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพปวช.) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาช่างเชื่อม หรือสาขาวิชาช่างเชื่อมและโลหะแผ่น

  1. มีร่างกายแข็งแรง อดทน ไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคในงานอาชีพ
  2. มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และมีความรับผิดชอบ
  3. มีความละเอียด ประณีต
  4. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
  5. มีความเชื่อมั่น สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี

ผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ควรเตรียมความพร้อมดังนี้ คือ :

สำหรับระดับช่างฝีมือเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะจากสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษา หรือสาขาช่างท่อและประสาน สาขาวิชาช่างโลหะ หรือสาขาวิชาช่างเชื่อม และโลหะแผ่นจากสถานศึกษาสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราช-มงคลหรือสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี เข้ารับการอบรมหลักสูตรในกลุ่มอาชีพช่างเชื่อมและโลหะจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ซึ่งจัดให้มีหลักสูตร ดังนี้

ช่างเชื่อมไฟฟ้า ฝึกในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือศูนย์พัฒนาฝีมือ แรงงานจังหวัด ระยะเวลา 4 เดือน และฝึกในสถานประกอบการ ระยะเวลา 2 เดือน สำเร็จการอบรมจะมีระดับฝีมืออยู่ในเกณฑ์มาตรฐานฝีมือช่างชั้น 3

ช่างเชื่อมแก๊ส ฝึกในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด ระยะเวลา 4 เดือน และฝึกในสถานประกอบกิจการ ระยะเวลา 2 เดือน สำเร็จการ อบรมจะมีระดับฝีมืออยู่ในเกณฑ์มาตรฐานฝีมือช่างชั้น 3

ช่างผลิตภัณฑ์โลหะแผ่น ฝึกในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด ระยะเวลา 6 เดือน และฝึกในสถานประกอบการระยะเวลา 2 เดือนสำเร็จการอบรมจะมีระดับฝีมืออยู่ในเกณฑ์มาตรฐานฝีมือช่างชั้น 3

ช่างเชื่อม TIG ฝึกในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด ระยะเวลา 3 เดือน และฝึกในสถานประกอบกิจการ ระยะเวลา 1 เดือน สำเร็จการ อบรมมีความสามารถในการใช้เครื่องมือในการเชื่อมวัสดุชนิดต่างๆ เช่น เหล็ก อลูมิเนียม และสแตนเลสได้

ช่างเชื่อม MIG/MAG ฝึกในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือศูนย์พัฒนา ฝีมือแรงงานจังหวัดระยะเวลา 3 เดือน และฝึกในสถานประกอบการระยะเวลา 1 เดือน สำเร็จการอบรมมีความสามารถในการใช้เครื่องมือในการเชื่อมวัสดุชนิดต่าง ๆ เช่น เหล็ก อลูมิเนียม และสแตนเลสได้

สำหรับระดับช่างเทคนิค เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม สาขาวิชาช่างเทคนิคโลหะ สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะแผ่น จากสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษาหรือสาขาวิชาช่างท่อและประสาน สาขาวิชาช่างโลหะจากสถานศึกษาสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล

โอกาสในการมีงานทำ

แนวโน้มของผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมก่อสร้างรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งในปัจจุบันการก่อสร้างมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งต้องใช้ระยะเวลาฟื้นฟู ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์นั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามส่งเสริมการผลิต หรือประกอบรถยนต์ในประเทศมากขึ้น จากแนวโน้มยอดการขายรถยนต์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่มีอัตรายอดการขายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ดังนั้นในฐานะลูกจ้างของอุตสาหกรรมเหล่านี้ โอกาสการมีงานทำ จึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ จะต้องมีความรู้ความสามารถเรื่องเครื่องกลหรือเครื่องยนต์ด้วย หรือทำงานในอุตสาหกรรมเครื่องเย็น สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระนั้นต้องพัฒนาฝีมือ และความชำนาญจนเป็นที่เชื่อถือของลูกค้าและอาจหันมาประกอบอาชีพรับทำเหล็กดัด สำหรับรั้วประตู หน้าต่าง ตลอดจนงานเฟอร์นิเจอร์ หรืองานศิลปกรรมและควรประดิษฐ์คิดค้นสินค้าต่างๆ ที่เป็นประโยชน์

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ

ผู้ประกอบอาชีพนี้ถ้ามีความสามารถในการทำงานและมีประสบการณ์จะได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งในสายงานที่ทำงานอยู่จนถึงระดับหัวหน้างาน สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาต่อเพื่อเลื่อนวิทยฐานะและความก้าวหน้าในอาชีพสามารถศึกษาต่อได้โดย เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แล้วเข้าศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตร 2 ปี ประเภทวิชาช่าง อุตสาหกรรมสาขาวิชาช่างเทคนิคโลหะ สาขาวิชาช่างท่อและประสาน หรือสาขาวิชาช่างโลหะ ในสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษาหรือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือสาขาวิชาช่างท่อและประสาน ในวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ หรือศึกษาต่อระดับปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล นอกจากนั้นเมื่อสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)แล้ว ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีหลักสูตรต่อเนื่องอีก 2 ปี หลักสูตรประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) สาขาวิชาเทคนิคการผลิตเชื่อมและประสาน คณะครุศาสตร์ อุตสาหกรรม ในสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษา อีกทั้งสามารถศึกษาต่อระดับปริญญาตรีหลักสูตรต่อเนื่องอีก 3 -3½ ปี ในสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการการผลิต สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการการจัดการ ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือสถานศึกษาสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หลักสูตรต่อเนื่องอีก 2 ½ – 3 ปี ในสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการการเชื่อมประกอบ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมในสถานศึกษาสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือศึกษาต่อระดับปริญญาตรีหลักสูตร ต่อเนื่องอีก 2 – 3 ปี ในสาขาวิชาเทคโนโลยีการเชื่อมในวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง

ช่างโลหะ ช่างเครื่องกล