ด้านทรัพยากร

ด้านทรัพยากร

ทรัพยกร และสิ่งแวดล้อมในแขวงตลิ่งชัน

1.คลองบางกอกน้อย

คลองบางกอกน้อย ตั้งอยู่ในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2077 - 2089) ได้โปรดฯ ให้ขุดคลองลัดแม่น้ำขึ้นจากปากคลองบางกอกน้อยไปยังปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งกล่าวกันว่าช่วยย่นระยะทางได้ถึง 1 วัน ต่อมากระแสน้ำส่วนใหญ่ได้ไหลเข้าสู่คลองลัดทำให้คลองกว้างขึ้นเรื่อยๆกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ส่วนแม่น้ำสายเดิมแคบลงกลายเป็นคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ และคลองบางกอกใหญ่แทน

คลองบางกอกน้อยเริ่มต้นตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาทางเหนือของสถานีรถไฟธนบุรี ไหลขึ้นไปบรรจบคลองชักพระ (คลองบางขุนศรี) และคลองลัดบางกรวย ตรงข้ามวัดสุวรรณคีรี มีความกว้างมากถึง 40 เมตร และยาว 3.3 กิโลเมตร คณะรัฐมนตรีมีมติให้คลองบางกอกน้อยเป็นคลองสำคัญซึ่งจะต้องอนุรักษ์ไว้ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2510 ในปัจจุบันช่วง คลองลัดบางกรวย ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งคลองบางกอกน้อยไปด้วย รวมถึงคลองอ้อม หรือคลองอ้อมนนท์ ก็เรียกกันทั่วไปว่าคลองบางกอกน้อยเช่นกัน

ปัจจุบัน คลองบางกอกน้อยใช้ในการคมนาคม สัญจร ทัศนาจร ท่องเที่ยว ใช้ขนส่งสินค้า ใช้เล่นกีฬาทางน้ำ ใช้อาบน้ำ ใช้ล้างภาชนะ ใช้ระบายน้ำ และยังเป็นเส้นทางชักพระของวัดนางชี ซึ่งมีขึ้นในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี โดยชักแห่ไปทางน้ำ ผ่านคลองชักพระ คลองบางกอกน้อย แล้ววกลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองบางกอกใหญ่กลับไปยังวัดนางชีตามเดิม ไหลผ่านเขตบางกอกน้อย เขตตลิ่งชัน อ.บางกรวย อ.บางใหญ่ อ.เมืองนนทบุรี

อ้างอิง : https://th.wikipedia.org/wiki/คลองบางกอกน้อย

2.คลองมหาสวัสดิ์

คลองมหาสวัสดิ์ หรือ คลองชัยพฤกษ์ เป็นคลองที่เริ่มต้นจากคลองลัดบางกรวยหรือคลองบางกอกน้อย ใกล้วัดชัยพฤกษมาลา ไหลผ่านเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี กับเขตตลิ่งชันและเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ผ่านอำเภอพุทธมณฑล ไปออกแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม รวมความยาว 28 กิโลเมตร

คลองสายนี้เริ่มขุดตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2402 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อย่นระยะทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ หลังจากที่ทรงให้ขุดคลองเจดีย์บูชาจากแม่น้ำนครชัยศรีไปจนถึงองค์พระปฐมเจดีย์ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) และพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ เป็นแม่กองจ้างชาวจีนขุด แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2403 ถือเป็นคลองที่มีความกว้างที่สุดในสมัยนั้น คือ กว้าง 7 วาหรือ 14 เมตร ใช้เงินทั้งสิ้น 1,101 ชั่ง 10 ตำลึง เป็นเงินพระคลังมหาสมบัติ 100 ชั่ง เงินบริจาคเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ 1 ชั่ง 10 ตำลึง อีก 1,000 เป็นเงินของท้าวเทพอากร (เงิน) ที่ถูกริบเข้าพระคลังมหาสมบัติ

เมื่อขุดคลองเสร็จนั้น รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์จับจองที่ดินว่างเปล่าสองฝั่งคลอง ชุมชนแรก ๆ ที่เข้ามาอยู่ได้แก่ชาวบ้านที่ย้ายมาจากริมแม่น้ำนครชัยศรี บริเวณดอนหวาย ดาวคะนอง บางเตย และชาวจีนที่มาขุดคลอง เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ยังได้ให้สร้างศาลาสำหรับประชาชนพักเป็นระยะไปตามริมคลองทุก 100 เส้น เป็นศาลาเขียนตำรายารักษาโรคต่าง ๆ ติดไว้เป็นการกุศล ต่อมาเรียกกันว่า “ศาลายา” คือศาลาที่ 1–4 และ 6–7 ศาลาที่ 7 เรียกกันว่าศาลาดิน กับศาลาที่ 5 สร้างในการกุศลปลงศพคนของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เรียกกันว่า “ศาลาทำศพ” ปัจจุบันกลายเป็น “ศาลาธรรมสพน์” และเป็นชื่อแขวงกับสถานีรถไฟในเขตทวีวัฒนาของกรุงเทพมหานคร คลองมหาสวัสดิ์ยังมีประตูน้ำที่กรมชลประทานสร้างไว้ 2 ประตู คือประตูน้ำมหาสวัสดิ์ ด้านแม่น้ำท่าจีน และประตูน้ำฉิมพลี ด้านแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันคลองสายนี้ยังคงเป็นเส้นทางสัญจรของชาวบ้านและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในเชิงการเกษตร วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น

อ้างอิง: https://th.wikipedia.org/wiki/คลองมหาสวัสดิ์

3.สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน

สถานีตลิ่งชัน เป็นสถานีชุมทางรถไฟ และสถานีรถไฟฟ้าในเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ในเส้นทางรถไฟสายใต้, รถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงอ่อนและ รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม

สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน (อังกฤษ: Taling Chan Junction Railway Station) ตั้งอยู่ที่ซอยฉิมพลี 12 ถนนฉิมพลี แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร อยู่ห่างจากสถานีรถไฟธนบุรีเป็นระยะทาง 5.21 กิโลเมตร เป็นสถานีรถไฟชั้น 2 ของทางรถไฟสายใต้ อยู่ระหว่าง สถานีรถไฟธนบุรี/สถานีรถไฟบางบำหรุ และ สถานีรถไฟศาลาธรรมสพน์ ใช้สัญญาณแบบไฟสีสามท่า ประแจกลไฟฟ้า ชนิดบังคับสัมพันธ์ด้วยรีเลย์ และสัญญาณไฟสี ตัวย่อของสถานีคือ ตช.

อ้างอิง : https://workpointtoday.com/