พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มีขึ้นด้วยหลักการเพื่อให้การปฏิบัติราชการ ทางปกครองมีความโปร่งใส เป็นกลางและเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพโดยมุ่งเน้นที่กระบวนการออกคำสั่งทาง ปกครองของเจ้าหน้าที่ซึ่งถือเป็นมาตรการที่ฝ่ายปกครองหน่วยงานของรัฐใช้มากที่สุด และมีผลกระทบต่อสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นมา



สาระสำคัญ

1. เป็นกฎหมายมาตรฐานกลาง โดยเป็นการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการพิจารณาจัดทำคำสั่งทางปกครอง หากการพิจารณาทางปกครองเรื่องใดมีมาตรฐานในการประกันสิทธิและเสรีภาพต่ำกว่ากฎหมายนี้ จะต้องใช้กระบวนการตามกฎหมายนี้แทน

2. กำหนดขั้นตอนวิธีการการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง

3. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเพิกถอนและการขอให้พิจารณาคำสั่งทางปกครองใหม่

4. กำหนดกระบวนการการบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครอง

ขอบเขตการบังคับใช้

พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ใช้บังคับในฐานะที่เป็นกฎหมายมาตรฐานกลาง ในกรณีที่เรื่องทางปกครองเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้กำหนดกระบวนการหรือขึ้นตอนไว้เป็นการเฉพาะ และใช้กับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการเรื่องในทางปกครอง โดยเฉพาะกระบวนการที่จะนำไปสู่การมี“คำสั่งทางปกครอง” ดังนั้น ผู้ที่จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้ก็คือ“เจ้าหน้าที่”ของหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจในการทำคำสั่งทางปกครองนั่นเอง (มาตรา 4 เจ้าหน้าที่ หมายความว่า บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง)


คำสั่งทางปกครอง

มาตรา 5 “คำสั่งทางปกครอง”หมายความว่า “การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ” ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ว่าหากเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง มีผลทำให้สถานภาพทางกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปเกิดกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นรายกรณี ก็ถือว่า การกระทำนั้นๆเป็น “คำสั่งทางปกครอง”เช่นคำสั่งอายัดทะเบียนรถ เป็นต้น


รูปแบบของคำสั่งทางปกครอง

1.คำสั่งทางปกครองอาจทำเป็นหนังสือหรือทำด้วยวาจา หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่น หากทำด้วยหนังสือจะต้องลงลายมือชื่อของผู้ออกคำสั่ง พร้อมวันเดือนปีที่ออกคำสั่ง

2.คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือ จะต้องให้เหตุผลของการออกคำสั่งด้วย โดยกฎหมายได้กำหนดสาระสำคัญที่จะต้องแจ้งไปในคำสั่งทางปกครอง (มาตรา 37)

3.เงื่อนไขในคำสั่งทางปกครอง ซึ่งเงื่อนไขนี้อาจจะกำหนดไว้ในคำสั่งทางปกครองด้วยก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องมีเท่าที่จะทำให้กฎหมายในเรื่องนั้นบรรลุเป้าหมายได้เท่านั้น

4.คำสั่งทางปกครองใดเป็นคำสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์โต้แย้งได้ ให้ระบุวิธีการยื่นอุทธรณ์ เจ้าที่ที่มีอำนาจรับอุทธรณ์ ระยะเวลาที่ยื่นอุทธรณ์ ไว้ด้วย (คำแนะนำของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง)


การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองและกำหนดเวลาการยื่นอุทธรณ์

หลักการสำคัญของการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง คือ เป็นการทบทวนการตัดสินใจทางปกครอง

คู่กรณีสามารถอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ ตามมาตรา 44 โดยให้ยื่นอุทธรณ์ต่อ“เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง”โดยให้ยื่นภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันที่ตนได้รับทราบคำสั่งนั้น รูปแบบของอุทธรณ์กฎหมายกำหนดให้ทำเป็นหนังสือ โดยระบุข้อโต้แย้ง ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างประกอบด้วย

มาตรา 45 เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองจะต้องพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันได้รับอุทธรณ์ซึ่งเจ้าหน้าที่นั้นเห็นด้วยกับคำอุทธรณ์อาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ตามอำนาจหน้าที่ของตนและมาตรา 46 สามารถพิจารณาทบทวนได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย หรือในแง่ความเหมาะสมก็ได้ โดยอาจพิจารณาไปในทางเพิ่มภาระหรือเพิ่มเงื่อนไขก็ได้

ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ ให้ส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์พิจารณาต่อไป โดยต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากไม่เสร็จทันตามกำหนดระยะเวลาสามารถขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ได้อีกไม่เกิน 30 วัน

การเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง

การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเป็นการทำให้คำสั่งทางปกครองที่มีผลใช้บังคับอยู่ให้สิ้นผลในทางกฎหมาย การเพิกถอนคำสั่งโดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งเอง กระทำได้ดังนี้

1) เจ้าหน้าที่ที่ทำคำสั่งเห็นสมควรเพิกถอนเอง

2) เจ้าหน้าที่ที่เพิกถอนเพราะคู่กรณีร้องขออันเป็นเรื่องพิจารณาใหม่

เจ้าหน้าที่ที่เพิกถอนเพราะคู่กรณีร้องขออันเป็นเรื่องพิจารณาใหม่ซึ่งในกรณีการขอให้พิจารณาใหม่นี้ กฎหมายกำหนดเงื่อนไขไว้ในมาตรา 54 โดยกรณีดังต่อไปนี้

1. มีพยานหลักฐานใหม่

2.คู่กรณีที่แท้จริงมิได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง

3.เจ้าที่ไม่มีอำนาจที่ทำคำสั่งในเรื่องนั้น

การบังคับทางปกครอง

เพื่อให้คู่กรณีปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายจึงได้มีการกำหนดมาตรการบังคับขึ้นในกรณีที่ผู้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครองโดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองอาจใช้มาตรการบังคับเพื่อให้มีการปฏิบัติตามคำสั่ง โดยมาตรการบังคับทางปกครอง แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทได้แก่

คำสั่งให้ชำระเงิน เช่น สั่งให้ชำระค่าปรับ ชำระค่าธรรมเนียม หากไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวฝ่ายปกครองอาจใช้มาตรการบังคับโดยการ ยึด อายัดเงิน หรือทรัพย์สิน เพื่อดำเนินการชำระหนี้ตามคำสั่งแต่ก่อนใช้มาตรการบังคับโดยยึดหรืออายัดทรัพย์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ต้องมีหนังสือเตือนให้ผู้ซึ่งอยู่ในบังคับ ชำระเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่า 7 วัน (มาตรา 57)

คำสั่งทางปกครองที่บังคับให้กระทำการหรือละเว้นการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น เช่น สั่งให้ยุติการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย สั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำทางสาธารณะ หากมีการฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวเจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับดังนี้

(1) เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการเอง เจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เจ้าหน้าที่มอบหมายอาจเข้าดำเนินการตามที่สั่งให้กระทำนั้น และหากมีค่าใช้จ่ายใดจะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายและเงินเพิ่มร้อยละ 25 ต่อปี (มาตรา 58 วรรคหนึ่ง (1))

(2) กำหนดค่าปรับทางปกครอง (มาตรา 58 วรรคหนึ่ง (2)) ตามจำนวนที่สมควรแก่เหตุ แต่ไม่เกินวันละ 20,000 บาท โดยก่อนใช่มาตรการดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะต้องมีคำเตือนเป็นหนังสือ ระบุมาตรการบังคับทางปกครองที่จะให้ใช้ชัดแจง และค่าใช้จ่ายในการที่เจ้าหน้าที่จะเข้าดำเนินการด้วย


ผู้จัดทำ

นายธรรมศักดิ์ คงดี 620112801003


นางสาวซ่อนกลิ่น พร้อมเลิศ 620112801021


นางสาวนิโลบล สุขพราม 620112801024


นางสาวเสาวณี สำราญดี 620112801039


นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หมู่ 1

สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

เอกสารอ้างอิง

กลุ่มพัฒนาภาคีเครือข่ายสนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา. 2565. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://odpc9.ddc.moph.go.th. (วันที่สืบค้นข้อมูล : 6 มกราคม 2565)


สาขารัฐประศาสนศาสตร์