3.คดีปกครองประเภทใดที่อาจฟ้องต่อศาลปกครองได้
คดีปกครอง คือ คดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่าง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางการปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจทางปกครองออกกฎหรือคำสั่ง หรือกระทำการอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องมาจากการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
ธีรพรรณ ใจมั่น (2554: ออนไลน์) คดีปกครอง เป็นคดีในเรื่องดังต่อไปนี้
1.คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางการปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น กรณีผู้ฟ้องคดีเห็นว่าพนักงานท้องถิ่นปฏิเสธไม่ออกใบอนุญาตก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกรณีผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้บังคับบัญชามีคำสั่งลงโทษทางวินัยโดยไม่เป็นธรรม เป็นต้น
2. คดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เช่น กรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นละเลยต่อหน้าที่ไม่ตรวจตรา และออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนที่ก่อสร้าง หรือต่อเติมไม่ได้รับอนุญาต กรณีเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกโฉนดที่ดินล่าช้าเกินสมควร เป็นต้น
3.คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด หรือความรับผิดชอบอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจล่าช้าเกินสมควร เช่น การที่เจ้าพนักงานที่ดินออกคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับเสียหาย และผู้ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายดังกล่าว หรือการฟ้องเรียกค่าทดแทนการเวนคืน หรือการรอนสิทธิจากการวางท่อประปา หรือเสาไฟฟ้าแรงสูงเป็นต้น
4.คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างเอกชน ก่อสร้างถนน อาคารเรียน หรือข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าสัมปทานตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน หรือสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองทำกับข้าราชการที่ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อเป็นต้น
5.คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าของรัฐต้องฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลกระทำการหรือละเว้นการกระทำ เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางน้ำฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อมีคำสั่งให้เอกชนรื้อถอนสะพาน หรือบ้านที่ปลูกรุกล้ำแม่น้ำ กรณีเจ้าพนักงานท้องถิ่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อมีคำสั่งให้จับกุม และกักขังบุคคล ซึ่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ฯ เป็นต้น
6.คดีที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง เช่น กรณีที่ฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาด หรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เป็นต้น
งานนิติการ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ (2564 : ออนไลน์) ได้กล่าวว่า การฟ้องคดีปกครองได้บัญญัติหลักเกณฑ์วิธีการไว้ใน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และอีกส่วนหนึ่งกำหนดไว้ในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 การเสนอคำฟ้อง การยื่นฟ้องต่อศาล จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
1. เรื่องที่นำมาฟ้องต้องเป็นคดีปกครอง และต้องเป็นกรณีตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ได้แก่
1.1 การกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ออกคำสั่งผิดวิธี ไม่ดำเนินการตามระเบียบ เป็นต้น
1.2 กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
1.3 เจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น
1.4 คดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
1.5 คดีที่กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ทางปกครอง มาฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
1.6 คดีที่เกี่ยวกับเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
2. ต้องยื่นฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจ ต้องยื่นฟ้องศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นหรือศาลที่ผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาอยู่เขตศาลนั้น
3. คำฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมีรายการตามที่กำหนดไว้และยื่นโดยถูกวิธี การฟ้องคดีปกครองไม่มีแบบของคำฟ้องกำหนดไว้เฉพาะ แต่ต้องทำเป็นหนังสือ ฟ้องด้วยวาจาไม่ได้ ใช้ถ้อยคำสุภาพ มีรายการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45 กล่าวคือต้องระบุ ชื่อ ที่อยู่ของผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดี ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี คำขอและลายมือชื่อผู้ฟ้องคดี โดยต้องแนบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปพร้อมคำฟ้อง โดยผู้ฟ้องคดีต้องจัดทำสำเนาคำฟ้องและสำเนาพยานหลักฐานตามจำนวนผู้ถูกฟ้องคดีด้วยสำหรับวิธีการยื่นคำฟ้องนั้นจะยื่นด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นยื่นแทนหรือจะส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้อนึ่ง ในกรณีที่มีผู้ประสงค์จะฟ้องคดีหลายคนในเหตุเดียวกัน บุคคลดังกล่าวจะยื่นคำฟ้องร่วมกันเป็นฉบับเดียว โดยมอบให้ผู้ฟ้องคดีคนหนึ่งเป็นตัวแทนของผู้ฟ้องคดีทุกคนก็ได้ ในกรณีนี้ถือว่าการกระทำของตัวแทนผู้ฟ้องคดีในกระบวนพิจารณาผูกพันผู้ฟ้องคดีทุกคนด้วย
4. ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถตามกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากผู้ฟ้องคดีมีข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถก็จะต้องดำเนินการแก้ไขตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ อย่างไรก็ดีสำหรับในการฟ้องคดีปกครองนั้นมีข้อยกเว้นอนุญาตให้ผู้เยาว์ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ ฟ้องคดีด้วยตนเองได้ถ้าศาลอนุญาต
5. ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 ของ รัฐธรรมนูญ และมาตรา 42 พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กล่าวคือ จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
6. ต้องยื่นฟ้องภายในระยะเวลาที่กำหนด กรณีที่ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนกฎ หรือคำสั่งทางปกครอง
ต้องฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานหรือ เจ้าหน้าที่ดังกล่าวหรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่เห็นว่าไม่มีเหตุผล หรือมีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น คดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดให้ยื่นฟ้องภายใน 1 ปี และถ้าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต้องฟ้องภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี คดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือ สถานะของบุคคลยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ และในบางกรณีถ้าคู่กรณีมีคำขอหรือศาลปกครองเห็นเองว่าคดีที่ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีแล้วนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่น ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้
7. ก่อนฟ้องคดีปกครองต้องดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อน หรือความเสียหายตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการนั้นเสียก่อน ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่บัญญัติให้ต้องอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองที่ไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรีและไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ภายใน 15 วัน เป็นต้น หากยังไม่มีการอุทธรณ์ตามกฎหมายดังกล่าว ก็ไม่อาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้ หากมีการอุทธรณ์แล้วและได้มีการ สั่งการตามการอุทธรณ์นั้นแล้ว หรือไม่มีการสั่งการภายในระยะเวลาอันสมควรหรือในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดจึงจะสามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้
8. การชำระค่าธรรมเนียมศาล
กรณีการฟ้องคดีขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินอันสืบเนื่องจากคดีพิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเว้นแต่ที่ศาลมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลกรณีการฟ้องคดีขอให้ศาลเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือการฟ้องคดีเกี่ยวกับการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล
เพลินตา ตันรังสรรค์ (2560:79) การใช้สิทธิฟ้องร้องของประชาชนดังกล่าว “ศาลปกครอง”จึงเป็นองค์กรที่เข้ามามีบทบาทและอำนาจหน้าที่ที่สำคัญในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดให้ศาลปกครองแบ่งออกเป็น ๒ ชั้น คือ
(๑) ศาลปกครองสูงสุด โดยศาลปกครองสูงสุดนั้นมีเพียงศาลเดียว จึงไม่มีข้อจำกัดด้านเขตอำนาจ ดังนั้น คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุด ไม่ว่ามูลคดีจะเกิดที่ใด หรือผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด ก็สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้
(๒) ศาลปกครองชั้นต้น แบ่งออกเป็นก. ศาลปกครองกลาง มีเขตอำนาจตลอดท้องที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ข. ศาลปกครองในภูมิภาค ปัจจุบันมีจำนวน ๑๑ แห่ง คือ ศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลปกครองสงขลา ศาลปกครองนครราชสีมา ศาลปกครองขอนแก่น ศาลปกครองพิษณุโลก ศาลปกครองระยองศาลปกครองนครศรีธรรมราช ศาลปกครองอุดรธานี ศาลปกครองอุบลราชธานี ศาลปกครองเพชรบุรีและศาลปกครองนครสวรรค์ โดยมีเขตอำนาจครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
เมื่อมีคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองแล้ว ศาลปกครองต้องพิจารณาในเบื้องต้นก่อนว่าคดีที่ฟ้องนั้น "เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองหรือไม่" เพราะศาลปกครองมีอำนาจพิจารณา พิพากษาคดีเฉพาะที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น กล่าวคือ เป็นคดีพิพาทระหน้างเอกชนกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ด้วยกันเองที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นประเภทคดีในเรื่องดังต่อไปนี้
๑. คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกกฎ คำสั่ง หรือกระทำการอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น กฎกระทรวงกำหนดเวลาเปิดหรือปิดสถานบริการระเบียบมหาวิทยาลัยที่กำหนดให้นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษหรือกรณีที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นปฏิเสธการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้บังคับบัญชามีคำสั่งลงโทษทางวินัยโดยไม่เป็นธรรม เป็นต้น คดีประเภทนี้เป็นคดีที่ฟ้องเพื่อขอให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่ง หรือสั่งห้ามการกระทำ โดยเหตุแห่งการฟ้องขอให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งหรือสังห้ามการกระทำอาจมีสาเหตุมาจากผู้ออกกฎหรือคำสั่งออกโดยไม่มีอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือการออกกฎหรือคำสั่งกระทำโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ หรือกระทำโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสรั้งภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบเป็นต้น
๒. คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร เช่น กรณีเจ้าพนักงานท้องถิ่นละเลยต่อหน้าที่ไม่ตรวจตราและออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างหรือต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีที่เอกชนได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแต่พนักงานสอบสวนบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับแจ้งความ หรือรับแจ้งความ ร้องทุกข์ไว้แล้ว แต่ละเลยไม่ดำเนินการสอบสวนจนเวลาล่วงเลยไปหลายปี เป็นต้น คดีประเภทนี้เป็นคดีที่ฟ้องเพื่อขอให้ศาลสั่งให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด
๓. คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่ง หรือจากการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เช่น การที่เจ้าพนักงานที่ดินออกคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายและผู้ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายดังกล่าว การที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินคดีกับบุคคลที่ลักทรัพย์ของผู้แจ้งความร้องทุกข์ทำให้ผู้นั้นได้รับความเสียหายและการที่กรมทางหลวงไม่ตัดต้นไม้ข้างทางทำให้ต้นไม้หักโค่นลงมาทับรถยนต์หรือบุคคลที่สัญจรไปมาเป็นต้น คดีประเภทนี้เป็นคดีที่ฟ้องเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงิน หรือส่งมอบทรัพย์สิน หรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการกรณีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดของหน่วยงานทางปกครอง ทั้งนี้ คดีเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้นั้นจะเห็นได้ว่ามีพัฒนาการมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกรณีการเยียวยาความทุกข์ทรมานทางจิตใจอันเนื่องมาจากการเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยหากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการใดๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียงหรือความอับอายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ศาลปกครองอาจกำหนดให้มีการชดใช้ค่าเสียหายทางจิตใจอันเนื่องมาจากความเสื่อมเสียหรืออับอายนั้นได้
๔. คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง" เช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างเอกชนก่อสร้างถนนสะพาน อาคารเรียน หรือข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน หรือสัญญา ที่หน่วยงานทางปกครองทำกับข้าราชการที่ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อ เป็นต้น คดีประเภทนี้เป็นคดีที่ฟ้องเพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้ใช้เงิน หรือให้ส่งมอบทรัพย์สิน หรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการเพื่อเยียวยาความเสียหายจากการผิดสัญญาหรือเพื่อปฏิบัติตามสัญญา
๕. คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำการ เช่น กรณีที่เจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางน้ำ ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อมีคำสั่งให้เอกชนรื้อถอนสะพานหรือบ้านที่ปลูกรุกล้ำแม่น้ำ หรือกรณีเจ้าพนักงานท้องถิ่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อมีคำสั่งให้จับกุมและกักขังบุคคลซึ่งมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายควบคุมอาคาร เป็นต้น
๖. คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง เช่น กรณีที่ฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปแล้ว เมื่อคดีที่ฟ้องต่อศาลปกครองเป็นคดีประเภทที่ศาลปกครองสามารถรับไว้พิจารณาได้ดังกล่าวศาลปกครองก็จะรับคดีไว้พิจารณา โดยการฟ้องคดีปกครองนั้น กฎหมายกำหนดให้เป็นไปโดยเรียบง่ายไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน และเสียค่าใช้จ่ายน้อย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ฟ้องคดีจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการฟ้องคดี