ศาลปกครองร่วมสมัย

รายวิชาหลักฎหมายปกครอง สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

ศาลปกครองร่วมสมัย

ญาณิดา เอการัมย์ ธนพร ตะกุนิตร์  ทัศนีย์ เทวารัมย์ รินมณี อินสม

สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

640112801132@bru.ac.th  640112801140@bru.ac.th  640112801139@bru.ac.th  640112801154@bru.ac.th

1๒ กุมภาพันธ์ 256๗

       การพิจารณาวินิจฉัยคดีปกครองในประเทศไทยเริ่มมีตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่ในสมัยแรก อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยคดีปกครองรวมอยู่ที่พระมหากษัตริย์และฝ่ายปกครอง ศาลปกครอง(อังกฤษ: Administrative Court) เป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 และมีการจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มีฐานะเทียบเท่าศาลยุติธรรมและมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษา “คดีปกครอง” ซึ่งเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนกรณีหนึ่ง และข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันอีกกรณีหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องในการปฏิบัติราชการ

ศาลปกครอง คืออะไร

           ศาลปกครองได้ถูกนิยามความหมายไว้หลากหลาย มีดังนี้

       อริยพร โพธิใส (2550 : 133) ศาลปกครอง คือ ศาลที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มีอำนาจหนาที่พิจารณาพิพากษาคดีปกครอง ซึ่งเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ หรือเจาหนาที่ของรัฐกับเอกชน หรือคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเจาหนาที่ของรัฐด้วยกันเอง อันเนื่องมาจากการใชอำนาจทางปกครอง การละเว้นการปฏิบัติหนาที่ การปฏิบัติหนาที่ลาช้าเกินสมควร การกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจาหนาที่ของรัฐ หรือเป็นคดีพิพาทอันเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

           ฤทัย หงส์สิริ (2554 : 4) ได้ให้ความหมายของศาลปกครองไว้ว่า เพื่อให้เข้าใจง่ายๆว่าศาลปกครองคืออะไรนั้นคงต้องเปรียบเทียบกับศาลยุติธรรมที่เป็นศาลชำนัญพิเศษ หรือศาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ศาลภาษีอากรหรือศาลแรงงานเป็นต้น ตามกฎหมายศาลภาษีอากร ได้แก่ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีภาษีอากรหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวกับภาษีอากร เช่นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร การขอคืนค่าภาษีอากรเป็นต้น ส่วนศาลแรงงาน ได้แก่ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแรงงาน เช่นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์เป็นต้น

       สำนักงานศาลปกครอง พิมพ์ครั้งที่13 (2557 : 7) ศาลปกครองเป็นศาลที่ใช้ระบบไต่สวน โดยในแต่ละคดีจะมีการพิจารณาโดยองค์คณะของตุลาการ ต่างจากศาลยุติธรรมซึ่งใช้ระบบกล่าวหา ปัจจุบันระบบศาลของประเทศไทยเป็นระบบที่เรียกว่า ศาลคู่ ประกอบด้วย ศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง คดีอาญาและคดีอื่นๆที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอื่น และศาลปกครองซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง

       ดังนั้นศาลปกครองจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการการจัดกระบวนการยุติธรรมออกเป็นกระบวนการยุติธรรมทางปกครองซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ทำให้ประเทศไทยมีระบบศาลที่เรียกว่า ระบบศาลคู่ ซึ่งต่างไปจากเดิมที่เป็นระบบศาลเดี่ยว

       กล่าวโดยสรุป ในการฟ้องคดีต่อศาล ประชาชนต้องเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่าเป็นคดีประเภทไหนและอยู่ในอำนาจของศาลไหน เพื่อที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายได้ถูกต้อง คดีที่ฟ้องต่อศาลปกครองไม่ได้ก็อาจต้องไปฟ้องยังศาลยุติธรรมต่อไป การจัดตั้งศาลปกครองมีผลที่สำคัญประการหนึ่งคือทำให้คดีแพ่งบางเรื่องที่เคยฟ้องที่ศาลยุติธรรมต้องมาฟ้องที่ศาลปกครองแทน 

หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐใดบ้างที่อาจถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

      ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง มีนักวิชาการหลายท่านได้กล่าวไว้ดังนี้

       วรพจน์ วิศรุดพิชญ์ (2538 :25) ได้กล่าวไว้ว่าศาลปกครองทำหน้าที่ในตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อพิพาททางปกครองระหว่างหน่วยราชการ ฝ่ายปกครอง รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน/เอกชน หรือระหว่างฝ่ายปกครอง รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของฝ่ายปกครอง รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

       ชาญชัย แสวงศักดิ์(2566 : 189) ได้อธิบายไว้ว่าปกติการฟ้องคดีต่อศาลปกครองจะไม่มีหลักเกณฑ์ที่ซับซ้อนให้เป็นการแก่ผู้ประชาชนผู้ประสงค์จะฟ้องคดีและการดำเนินคดีในศาลปกครองค่อนข้างยืดหยุ่น เพื่อให้การแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานมีความถูกต้องและครบถ้วนที่สุดแต่อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติมีปัญหาที่มักเกิดขึ้นและทำให้การฟ้องคดีและการดำเนินคดีในศาลปกครองล้าช้า เป็นที่เสียหายแก่ผู้ฟ้องอยู่หลายประการ ซึ่งผู้ฟ้องเองก็ควรระมัดระวัง

       สำนักงานศาลปกครอง พิมพ์ครั้งที่13 (2557 : 13-16) ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง ได้แก่คดีปกครองที่เกิดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอาจเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนฝ่ายหนึ่งกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกฝ่ายหนึ่งหรืออาจเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง ดังนั้นหน่วยงานทางการปกครองและเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจถูกฟ้องต่อศาลปกครองมีดังต่อไปนี้

       หน่วยงานทางปกครองที่อาจถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้มีดังต่อไปนี้

       หน่วยราชการที่เป็นราชการส่วนกลาง หน่วยราชการที่เป็นราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หน่วยงานของรัฐที่มิได้เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจหรือที่เรียกกันว่าองค์การมหาชน หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง ดังนั้นหน่วยงานทางปกครองที่อาจถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองจึงไม่รวมถึงรัฐสภาที่ใช้อำนาจทางนิติบัญญัติและศาลที่ใช้อำนาจทางตุลาการ

       เจ้าหน้าที่ของรัฐที่อาจถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้นั้นมีดังนี้

       ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคลหรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท บุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยกตัวอย่างได้ดังต่อไปนี้ ข้าราชการในกระทรวง กรม ข้าราชการในจังหวัด อำเภอ พนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานขององค์การมหาชน เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท คณะกรรมการที่มีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่ง หรือมติใดๆที่มีผลกระทบต่อบุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

       กล่าวโดยสรุป หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองคือบุคคลที่กระทำผิดตามกฎหมายหรือกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายและทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย

คดีปกครองประเภทใดที่อาจฟ้องต่อศาลปกครองได้

      ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองมีคดีหลายประเภท ซึ่งนักวิชาการกล่าวไว้ดังนี้

       ฤทัย หงส์สิริ (2554 : 10-54) ได้กล่าวไว้ดังนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองไว้ว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนหรือระหว่างหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติรวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

       1.คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำฝ่ายเดียวของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด

       2.คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร การฟ้องคดีประเภทนี้จะต่างจากข้อ 1 เนื่องจากเป็นเรื่องของการละเลยหรือไม่กระทำการ เช่นการที่รัฐมนตรีละเลยต่อหน้าที่ไม่สั่งยกเลิกคำสั่งพักราชการและออกคำสั่งให้ปลัดกระทรวงกลับเข้ารับราชการหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้รัฐมนตรีปฏิบัติแล้ว

       3.คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ คดีประเภทนี้ต่างจากคดีสองประเภทแรกเนื่องจากผู้ฟ้องคดีมักมุ่งประสงค์ฟ้องขอให้ศาลปกครองวินิจฉัยสั่งการให้หน่วยงานทางปกครองรับผิดในเรื่องค่าสินไหมทดแทน ค่าทดแทนหรือความรับผิดอื่น หรือให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำด้วย ไม่ใช่เพียงให้วินิจฉัยว่าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

       4.คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง สัญญาทางปกครองเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย โดยได้รับแนวคิดและหลักกฎหมายมาจากต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศฝรั่งเศส ในประเทศดังกล่าวสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองจัดทำนั้นมี 2 ประเภท คือ

       (1) สัญญาทางแห่งหรือสัญญาตามกฎหมายเอกชน เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างเอกชนด้วยกันหรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองและเอกชนที่อยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน

       (2) สัญญาทางปกครอง เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันหรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองและเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำบริการสาธารณะ

       อำพน เจริญชีวินทร์ (2565 :617-754) คดีที่ถูกฟ้องกฎหมายได้กำหนดองค์ประกอบไว้ ๓ ประการ ดังนี้

1.การเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยอำพน เจริญชีวินทร์ ได้แยกผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามการได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย เช่นผู้ได้รับความเดือดร้อน ผู้มีสิทธิฟ้องคดีประเภทนี้เป็นเพียงผู้ได้รับความเดือดร้อน จากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น ผู้ได้รับความเสียหายต่อสิทธิและผู้ฟ้องอาจจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

2.ความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ มีสาเหตุมาจากการกระทําหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

3.การแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดไว้

       ศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง (2556 : 19-26) คดีปกครองที่อาจฟ้องต่อศาลปกครองได้ มีอยู่ 6 ประเภท ดังต่อไปนี้

       1.คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกกฎ คำสั่งทางปกครองหรือกระทำการอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

       2.คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร เช่นการที่เอกชนซึ่งได้รับมอบหมายจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นผู้กำจัดขยะแต่ได้ดำเนินการดังกล่าวโดยไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน ซึ่งประชาชนได้ร้องเรียนต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเพิกเฉยมิได้ดำเนินการสั่งให้เอกชนระงับการกระทำดังกล่าว

       3.คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร เช่นการใช้มาตรการบังคับทางปกครองเข้ารื้อถอนอาคารเกินกว่าที่จำเป็น

       4.คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เป็นสัญญาระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเอกชนนั้นมีมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งแต่เดิมเมื่อยังไม่มีศาลปกครอง คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวต้องฟ้องต่อศาลยุติธรรม ซึ่งศาลยุติธรรมได้นำหลักในสัญญาทางแพ่งมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเอกชน จึงมิได้มีการแยกแยะว่าสัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง

       5.คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับบุคคลให้กระทำการหรือละเว้นกระทำการ

       6.คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง เช่นพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 บัญญัติว่าผู้ซึ่งไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับการสั่งรื้อย้ายอาคารและการคิดค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายอาคาร มีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้

       กล่าวโดยสรุป ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้นต้องพิจารณาว่าคดีประเภทใดบ้างที่อยู่ในขอบเขตของอำนาจศาลปกครองหรือที่จะสามารถฟ้องต่อศาลปกครองได้ ซึ่งในคดีที่จะถูกสั่งฟ้องนั้นจะเกี่ยวกับการกระทำของรัฐที่กระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

คดีประเภทใดที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

       คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองนั้นอาจสรุปได้ดังนี้

       ชูชัย งามวสุลักษณ์. (2546 : 28-29) ได้กล่าวไว้ว่า คดีบางประเภทต้องฟ้องต่อศาลปกครองตามที่กล่าวไว้ แต่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้กำหนดไว้ว่าคดีเหล่านี้เป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองได้แก่

       การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยของทหาร คดีประเภทนี้อาจเกี่ยวข้องกับคำสั่งใดๆ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่อาจเป็นคดีประเภทที่ฟ้องต่อศาลปกครอง แต่กฎหมายกำหนดว่าจะฟ้องต่อศาลปกครองไม่ได้ เหตุผลเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและเด็ดขาด

       การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ คดีประเภทนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสั่งการทางด้านบริหารบุคคลของคณะกรรมการตุลาการ เหตุผลเพื่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา

       คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลชำนัญพิเศษ ได้แก่ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลายหรือศาลชำนัญพิเศษอื่น ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นฟ้องต่อศาลชำนัญพิเศษนั้นๆ จะไปยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองไม่ได้

       นอกจากคดีทั้งสามประเภทนี้แล้ว ถ้าคดีเรื่องนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ก็ส่งผลให้ยื่นฟ้องคดีนั้นต่อศาลปกครองไม่ได้

       ฤทัย หงส์สิริ (2554 : 55-64) ได้แบ่งประเภทของคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองไว้ดังนี้   

       1.การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร เช่น การดำเนินการทางวินัยทหาร ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหารพุทธศักราช 2476 ซึ่งได้ทัณฑ์ที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดต่อวินัยทหารไว้ 5 สถาน ได้แก่ ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กัก ขัง และจำขัง เช่นการลงทัณฑ์แก่ผู้กระทำผิดต่อวินัยทหารเป็นต้น และยังรวมถึงคดีพิพาทเกี่ยวกับคำสั่งปลดออกจากราชกาที่เป็นผลมาจากการดำเนินการทางวินัยด้วย เช่นฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเรืออากาศตรีถูกสั่งปลดออกจากราชการเนื่องจากกระทำผิดวินัยทหารฐานประพฤติตนไม่สมควรโดยปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม

       2.การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการ การดำเนินการของ ก.ต. นั้นไม่ใช่เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแต่เป็นการบริหารงานบุคคล เช่นการให้ความเห็นชอบในการโยกย้าย การลงโทษทางวินัย การเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งตามทฤษฎีกฎหมายนั้นถือว่าเป็นการกระทำทางปกครองอย่างหนึ่ง และโดยหลักควรต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครอง แต่กฎหมายยกเว้นไว้เป็นพิเศษโดยให้เหตุผลว่าเพื่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา

       3.คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลชำนัญพิเศษ อันแก่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สิน ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย หรือศาลชำนาญการพิเศษอื่นเช่น

       4.คดีที่มีกฎหมายตัดอำนาจศาลปกครองไว้โดยเฉพาะ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติจำกัดอำนาจของศาลปกครองไว้หลายกรณี เช่นคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่หากเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งและมิใช่การวินิจฉัยชี้ขาดซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญแล้วย่อมเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะตรวจสอบได้

       5.คดีอื่นๆ นอกจากคดีที่กล่าวมาแล้วยังมีคดีอีกหลายประเภทที่ศาลปกครองไม่อาจจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้ เช่นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีเป็นประชาชนด้วยกัน เรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพวณิชย์ เรื่องที่ผู้ถูกพ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความเดือดร้อนหรือเสียหผู้ฟ้องคดีโดยการาระทำส่วนตัวมิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เรื่องที่ข้อพิพาทเกิดจากสัญญาทั่วไปมิใช่สัญญาทางปกครอง

       สำนักงานศาลปกครอง พิมพ์ครั้งที่13 (2557 : 27-32) คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองอาจจัดแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ คดีปกครองที่กฎหมายกำหนดไม่ให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองและคดีที่มิใช่คดีปกครอง โดยมีทั้งหมด 6 ประเภท ดังต่อไปนี้

       1.คดีที่มีคู่กรณีเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีลักษณะเป็นคดีปกครอง ยกเว้นไว้ไม่ให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภทคือการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) และคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลชำนาญพิเศษต่างๆ ที่อยู่ในระบบศาลยุติธรรม ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นก่อนที่จะมีการจัดตั้งศาลปกครอง

       2.คดีที่มีกฎหมายตัดอำนาจศาลปกครองไว้โดยเฉพาะ เช่นการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองมาใช้บังคับแก่การดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) และการออกระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง คำวินิจฉัย การอนุญาต และการกระทำอื่นใดของคณะกรรมการและคณะกรรมการบริหารอันเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามพระราชกำหนดนี้

       3.คดีที่คู่กรณีมิใช่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่นสหกรณ์ออมทรัพย์และรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นในรูปของบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัดเช่นธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) บริษัทท่าอากาศยานกรุงเทพแห่งใหม่จำกัด

       4.คดีที่คู่กรณีเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่การกระทำดังกล่าวมิได้เป็นการกระทำที่ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการปกครอง หรือเป็นการกระทำส่วนตัว

       5.คดีแพ่งหรือคดีอาญา ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งหรือทางอาญาอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม

       6.คดีที่ฟ้องขอให้ศาลปกครองลงโทษทางวินัยหรือลงโทษทางอาญาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งการลงโทษทางวินัยเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของผู้บังคับบัญชา ส่วนการลงโทษทางอาญาเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

       กล่าวโดยสรุป คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองอาจจัดแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ คดีปกครองที่กฎหมายกำหนดไม่ให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองและคดีที่มิใช่คดีปกครอง โดยหลักๆมี 6 ประเภท ได้แก่ คดีที่มีคู่กรณีเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีลักษณะเป็นคดีปกครอง คดีที่มีกฎหมายตัดอำนาจศาลปกครองไว้โดยเฉพาะ คดีที่คู่กรณีมิใช่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ คดีที่คู่กรณีเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ คดีแพ่งหรือคดีอาญา และคดีที่ฟ้องขอให้ศาลปกครองลงโทษทางวินัยหรือลงโทษทางอาญาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ

ฟ้องคดีต่อศาลปกครองต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขใดบ้าง

      เงื่อนไขการฟ้องคดีนั้นอาจแยกออกได้เป็นหลายประการดังนี้

       ฤทัย หงส์สิริ (2554 : 100-127) ได้กล่าวไว้ดังนี้

       1.เงื่อนไขเกี่ยวกับผู้มีสิทธิฟ้องคดีและความสามารถของผู้ฟ้องคดี ตามกฎหมายผู้ที่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองหรือผู้เสียหายในคดีปกครองนั้นได้แก่ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองหรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง

       2.เงื่อนไขเกี่ยวกับคำขอในคำฟ้องให้ศาลมีคำบังคับเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายของผู้ฟ้องคดี ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้นผู้ฟ้องคดีต้องระบุคำขอให้ชัดเจนว่าต้องการให้ศาลสั่งอะไรให้และคำขอนั้นต้องเป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจศาลที่จะสั่งได้ เช่นสั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งหรือสั่งห้ามการกระทำทั้งหมดหรือบางส่วนในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สั่งให้หัวหน้าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลปกครองกำหนดเป็นต้น

       3.เงื่อนไขเกี่ยวกับการต้องดำเนินการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายก่อนฟ้องคดี ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ เช่นในเรื่องของคำสั่งลงโทษทางวินัยหากผู้ถูกลงโทษไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยกับคำสั่งลงโทษก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นก่อนเมื่อเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการได้วินิจฉัยอุทธรณ์นั้นแล้วหรือมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์นั้นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือภายในเวลาอันสมควรผู้ถูกลงโทษทางวินัยจึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้

       4.เงื่อนไขเกี่ยวกับคำฟ้องและเอกสารที่ยื่นส่งศาล นอกจากคำฟ้องต้องใช้ถ้อยคำสุภาพและจะต้องมีรายการครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ในการฟ้องคดีผู้ฟ้องต้องแนบพยานหลักฐานมาพร้อมกับคำฟ้องด้วย นอกจากนั้นผู้ต้องคดียังต้องจัดทำสำเนาคำฟ้องและสำเนาพยานหลักฐานที่ผู้ฟ้องคดีรับรองสำเนาถูกต้องตามจํานวนของผู้ถูกฟ้องคดีอื่นมาพร้อมกับคำฟ้อง รวมถึงเอกสารอื่นๆที่จําเป็น เช่นหนังสือยินยอมหรืออนุญาตในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เยาว์หรือบุคคลไร้ความสามรถใบมอบฉันทะ

       5.เงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาในการฟ้องคดี การฟ้องคดีปกครองนั้นมีระยะเวลาค่อนข้างสั้นกว่าคดีแพ่งทั่วไป โดยกฎหมายกำหนดแยกระยะเวลาการฟ้องคดีไว้เป็นกรณี

       6.เงื่อนไขเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมศาล การฟ้องการฟ้องคดีต่อศาลโดยทั่วไปไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลเว้นแต่การฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองพิจารณาให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินอันเนื่องมาจากคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

       7.เงื่อนไขเกี่ยวกับข้อห้ามในการฟ้องคดีต่อศาลและเงื่อนไขอื่นๆ ในบางกรณีกฎหมายไม่อนุญาตให้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ ซึ่งหากมีการฟ้องมาศาลปกครองก็จะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณา เช่นการฟ้องซ้ำ

       สำนักงานกฤษฎีกา (2542 : 5) เรื่องต่อไปนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

       1.การดำเนินกาที่เกี่ยวกับวินัยทางการทหาร

       2.การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าบด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ

       3.คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลายหรือศาลชำนัญพิเศษอื่น

       สำนักงานศาลปกครอง พิมพ์ครั้งที่13 (2557 : 35-42) คดีที่ศาลปกครองมีอำนาจรับไว้พิจารณาพิพากษาได้นั้นนอกจากจะต้องเป็นคดีปกครองแล้ว ยังจะต้องปรากฏด้วยว่าผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการฟ้องคดีครบถ้วนแล้วดังนี้

       1.เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง คือเป็นผู้ซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

       2.ได้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดแล้ว

       3.จัดทำคำฟ้องตามที่กฎหมายกำหนด คือทำคำฟ้องเป็นหนังสือซึ่งจะเขียนด้วยลายมือหรือจะพิมพ์ดีดก็ได้แต่จะฟ้องด้วยวาจาหรือฟ้องทางโทรศัพท์ไม่ได้ ในการเขียนคำฟ้องจะต้องใช้ถ้อยคำสุภาพ ในคำฟ้องจะต้องมีรายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้

       4.ยื่นคำฟ้องภายในระยะเวลาที่กำหนด การฟ้องคดีปกครองจะต้องดำเนินการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดซึ่งมีระยะเวลาสั้นกว่าการฟ้องคดีแพ่ง

       กล่าวโดยสรุป การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้นผู้ฟ้องคดีควรต้องตรวจดูเงื่อนไขการฟ้องคดีก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเป็นผู้เสียหาย การได้อุทธรณ์หรือแก้ไขเยียวยาตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดแล้วคำฟ้องมีรายการครบถ้วนและมีสําเนาครบตามจำนวนผู้ถูกฟ้องคดี คำขอต้องชัดเจนและเป็นคำขอที่ศาลสั่งได้และได้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

ฟ้องคดีต่อศาลปกครองต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลหรือไม่

      การฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้น ในบางคดีอาจต้องเสียค่าธรรมเนียมแต่ในบางคดีอาจไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมดังนี้

       ฤทัย หงส์สิริ (2554 : 126) การฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยทั่วไปแล้วไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่การฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองพิจารณาให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินอันเนื่องมาจากคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด หรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย กฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองจะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 2 ของทุนทรัพย์แต่ไม่เกินสองแสนบาทสำหรับทุนทรัพย์ไม่เกินห้าสิบล้านบาท และเสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 0.1 ของทุนทรัพย์ สำหรับทุนทรัพย์ส่วนที่เกินห้าสิบล้านบาท

       ฐิติพร ป่านไหม (2559 :1-3) เงื่อนไขการเสียค่าธรรมเนียมศาลนี้มีความแตกต่างจากเงื่อนไขการฟ้องคดีอื่นๆ กล่าวคือประการแรก ในชั้นตรวจคําฟ้องถ้าพบว่าผู้ฟ้องคดียังไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมศาลหรือเสียค่าธรรมเนียมศาลไม่ถูกต้อง ศาลปกครองจะยังไม่มีคําสั่งไม่รับคําฟ้องไว้พิจารณาแต่จะมีคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีเสียค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้อง และหากไม่มีการเสียค่าธรรมเนียมศาลตามคําสั่งศาลปกครองจึงจะมีคําสั่งไม่รับคําฟ้องไว้พิจารณาและจําหน่ายคดีออกจากสารบบความ ประการที่สองคู่กรณีมีสิทธิที่จะขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้โดยยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลปกครองชั้นต้นพร้อมกับคําฟ้องหรือคําอุทธรณ์กรณีที่มีการอุทธรณ์ในชั้นอุทธรณ์โดยคําขอต้องอ้าง“เหตุ”สําคัญคือการไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลหรือโดยสถานะถ้าไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควรและหากศาลไต่สวนเหตุตามที่กล่าวอ้างแล้วและเชื่อได้ว่า (๑) คดีที่ฟ้องมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะรับคําฟ้องไว้พิจารณาหรือมีเหตุผลอันสมควรที่จะอุทธรณ์ได้(ในกรณีอุทธรณ์)และ (๒) มี“เหตุ”ตามคําขอจริง ศาลปกครองจะอนุญาตให้คู่กรณีดําเนินคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลซึ่งอาจจะยกเว้นทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้

       สำนักงานศาลปกครอง พิมพ์ครั้งที่13 (2557 : 45-46) การฟ้องคดีปกครองนั้นกฎหมายวางหลักไว้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ค่าธรรมเนียมศาลเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในการฟ้องคดีซึ่งการฟ้องคดีปกครองนั้น กฎหมายวางหลักไว้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เช่นการฟ้องคดีขอให้ศาลสั่งเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การฟ้องคดีขอให้ศาลสั่งให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดกรณีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลแต่อย่างใด

       แต่ถ้าเป็นการฟ้องคดีขอให้ศาลสั่งให้มีการใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินอันเนื่องมาจากคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ผู้ฟ้องคดีจะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราตามบัญชีท้ายประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งกำหนดไว้สำหรับคดีฟ้องขอปลดเปลื้องทุกข์อันคำนวณเป็นราคาได้ซึ่งในปัจจุบันคิดในอัตราร้อยละ 2 ของทุนทรัพย์แต่ไม่เกินสองแสนบาท สำหรับคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50 ล้านบาท ทุนทรัพย์ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไปคิดในอัตราร้อยละ 0.1 ในการคิดคำนวณทุนทรัพย์ถ้าทุนทรัพย์ไม่ถึงหนึ่งร้อยบาทให้นับเป็นหนึ่งร้อยบาท เศษของหนึ่งร้อยบาท ถ้าถึงห้าสิบบาทให้นับเป็นหนึ่งร้อยบาท ถ้าต่ำกว่าห้าสิบบาทให้ปัดทิ้ง โดยให้ชำระเป็นเงินสดหรือเป็นแคชเชียร์เช็ค ตั๋วแลกเงินธนาคารหรือดราฟต์ธนาคาร โดยสั่งจ่ายในนาม“เงินค่าธรรมเนียมและเงินค่าปรับของสำนักงานศาลปกครอง”(ระบุชื่อสำนักงานศาลปกครองที่ไปยื่นฟ้อง เช่น สำนักงานศาลปกครองกลาง สำนักงานศาลปกครองเชียงใหม่)

       กล่าวโดยสรุป ในการฟ้องคดีบางคดีอาจจะต้องมีการเสียค่าธรรมเนียม แต่ถ้าผู้ฟ้องคดีไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลหรือถ้าไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควรศาลปกครองอาจอนุญาตให้ดำเนินคดีโดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือเฉพาะบางส่วนก็ได้

วิธีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

ยื่นฟ้องด้วยตนเอง หรือส่งคำฟ้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียน (จะต้องบรรยายความเดือดร้อน หรือความเสียหานที่ได้รับ) ในคำฟ้องจะต้องประหอบด้วย

       ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ฟ้องคดี

       ชื่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้ารัฐที่ทำให้ผู้ฟ้องเดือดร้อน

       การกระทำหรือสาเหตุที่ทำให้ต้องฟ้องคดี (เขียนโดยละเอียด)

       คำขอ ผู้ฟ้องต้องการให้ศาลทำอะไร (ต้องเป็นสิ่งที่ศาลทำให้ได้)

       ลงลายมือชื่อ หากเป็นกรณีที่ฟ้องให้ผู้อื่น ต้องมีใบมอบฉันทะ

เอกสารอ้างอิง

ชาญชัย แสวงศักดิ์. (2566). คำอธิบายกฎหมายปกครอง (พิมพ์ครั้งที่5). กรุงเทพมหานคร. วิญญูชน

ชูชัย งามวสุลักษณ์. (2546). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลปกครอง. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์

ฐิติพร ป่านไหม. (2559). สถานะทางการเงินอันได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล. ออนไลน์. สืบค้นวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 แหล่งที่มา

https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/admincourt_journal/everyorganiza

tio  n/2-2.pdf

วรพจน์ วิศรุดพิชญ์, หลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครอง. (กรุงเทพมหานคร : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2538)

ศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง(2556).ศาลปกครอง.ออนไลน์.สืบค้นวันที่21พฤศจิกายน2566 แหล่งที่มา  

https://www.admincourt.go.th/admincourt/site/02litigation_902.html

สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลปกครอง(2557).ข้อควรรู้ก่อนไปศาลปกครอง(พิมพ์ครั้งที่13).กรุงเทพมหานคร.บริษัทดูดีแอดเวอร์ไทซิ่ง 

จำกัด

อริยพร โพธิใส(2550).สารพันปัญหากฎหมาย.ออนไลน์.สืบค้นวันที่21พฤศจิกายน2566 แหล่งที่มา    

https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S%E0%B9%88ub_Jun/11 all/all2.pdf

ฤทัย หงส์สิริ (2554). ศาลปกครองและการดำเนินคดีในศาลปกครอง (พิมพ์ครั้งที่3).กรุงเทพมหานคร.สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติ

บัญฑิตสภา