ประวัติและความเป็นมา

ในการดำเนินงานจัดตั้งโรงเรียนฝึกอบรม และสถาบันวิจัยโรคเรื้อน ให้สำเร็จตามจุดมุ่งหมายนั้น กระทรวงสาธารณสุขประสบปัญหา ตามคำกราบบังคมทูลของ พระบำราศนราดูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขณะนั้นว่า ขาดธาตุปัจจัยสำคัญ ในการขยายงาน ทำให้การขยายงานควบคุม และบำบัดโรคเรื้อนในประเทศไทย วางโครงการไว้เป็นเวลานาน 12 ปี

อนึ่ง ในปลายปี พ.ศ.2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัย ในโครงการทดลองควบคุม และบำบัดโรคเรื้อน ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่จังหวัดขอนแก่น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง อธิบดีกรมอนามัย เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลถวายรายงาน โครงการควบคุมโรคเรื้อนของประเทศไทย เมื่อทรงทราบถึงปัญหางบประมาณ ของกระทรงสาธารณสุข ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนอานันทมหิดล จำนวน 175,064.75 บาท เป็นทุนเริ่มแรกในการจัดตั้งสถานที่อบรม เจ้าพนักงาน และการค้คว้าโรคเรื้อน ที่สถานพยาบาลพระประแดง ทั้งนี้ ทรงมีพระราชประสงค์ให้การควบคุมโรคเรื้อน ในประเทศไทยสำเร็จได้เร็วกว่ากำหนดเดิม คือ ภายในเวลา 8 ปี

การก่อสร้างสถาบันอบรมเจ้าหน้าที่ และค้นคว้าโรคเรื้อน ที่สถานพยาบาลพระประแดง ตามโครงการประกอบด้วย อาคาร 4 หลัง สำหรับทำการสอน 3 หลัง เป็นที่ค้นคว้า 1 หลัง ที่ใช้บำบัดรักษาด้วยรังสี และกายภาพบำบัด 2 หลัง และเป็นที่พักอาศัยของเจ้าหน้าที่ ผู้เข้ารับการอบรมอีก 1 หลัง รวมค่าก่อสร้างอาคารทั้งสิ้น 1,236,600 บาท ได้รับพระราชทาน จากทุนอานันทมหิดลเป็นประเดิม และได้รวบรวมจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ที่ทรงกระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพิ่มเติม จากรายได้จากการจัดฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ชุดเสด็จประพาสจังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง และจากพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ประชาชน สมาคม โรงเรียน บริษัทร้านค้า และชาวต่างประเทศ ที่ทราบ และมีความชื่นชมในพระราชดำริ พร้อมใจกันบริจาคเงิน หรือจัดงานหารายได้ เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศล กันอย่างพร้อมเพรียง

เมื่อแรกเริ่มก่อสร้างนั้น ยังไม่มีเงินเต็มตามจำนวน แต่ก็ดำเนินการก่อสร้างอาคารขึ้น ทีละหลังๆ ตามกำลังเงินที่มีอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาในพระราชพิธี วางศิลาฤกษ์อาคารหลังแรก สำหรับทำการสอน และอบรมวิชาโรคเรื้อน เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2501 อาคารหลังแรกก่อสร้างเสร็จ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2501 อาคารอีกสามหลังทยอยกันสร้างเสร็จ ในเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม พ.ศ.2502 ตามลำดับ

เมื่อการก่อสร้างได้ดำเนิน จนเป็นที่เรียบร้อย กระทรวงสาธารณสุข จึงนำความกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ และขอพระราชทานนามสถาบันแห่งนี้ว่า สถาบันภูมิพล เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ในการที่ทรงริเริ่มชักชวนประชาชน ให้โดยเสด็จพระราชกุศล สมทบทุนสร้างสถาบันขึ้น ทั้งเป็นศิริมงคลแก่สถาบัน ตลอดจนเป็นกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติงานควบคุมโรคเรื้อนอยู่ เมื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาแล้ว ทรงมีพระราชดำริว่า สถาบันนี้ ทรงเชิญชวนประชาชน โดยเสด็จพระราชกุศล ในการก่อสร้างจนเป็นผลสำเร็จขึ้น จึงควรจะมีนามของสถาบัน ที่แสดงว่า ทรงชักชวนให้ประชาชนให้ได้มีส่วนร่วม ในการสร้างสถาบันนี้ขึ้นไว้ด้วย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสถาบันว่า สถาบันราชประชาสมาสัย อันมีความหมายว่า พระราชา ประชาชน ย่อมอาศัยซึ่งกันและกัน

หลังจากการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย ยังมีเงินเหลืออยู่อีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นทุน ราชประชาสมาสัย เพื่อใช้จ่าย และส่งเสริมบำรุงกิจการของสถาบันต่อไปอีก 271,452.05 บาท เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2503 ต่อมา กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่า ทุนนี้เป็นทุนที่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลอยู่เนืองๆ พระบำราศนราดูร ปลัดกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น จึงได้นำความกราบบังคมทูล ขอพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนจากทุนให้เป็นมูลนิธิ ซึ่งทรงเห็นชอบด้วย ในปีถัดมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชาสมาสัย เข้าเป็นมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์

มูลนิธิราชประชาสมาสัย มีที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่สถาบันราชประชาสมาสัย ส่วนสำนักงานเลขานุการ ตั้งอยู่ ณ กองโรคเรื้อน ตึกกรุณานิมมิต ถนนประชาธิปไตย มูลนิธิราชประชาสมาสัย มีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ ในการดำเนินงาน ได้แก่

  1. เพื่อส่งเสริมกิจการของสถาบันราชประชาสมาสัย
  2. เพื่อให้ความช่วยเหลือกิจการค้นคว้า ป้องกัน รักษา และสงเคราะห์ผู้ป่วยโรคเรื้อน
  3. เพื่อช่วยเหลือ และสนับสนุนการอบรม และการศึกษาของแพทย์ พยาบาล พนักงานวิทยาศาสตร์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่อื่น ที่เกี่ยวข้อง กับการปฏิบัติงานโรคเรื้อน
  4. ทำการติดต่อ และให้ความร่วมมือกับรัฐ ตลอดจนมูลนิธิและองค์การอื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินงานควบคุมโรคเรื้อน

ใบสมัครเข้าเป็นเครือข่ายชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย (จิตอาสาเพื่อพระราชา) คลิกที่นี่