หน้าหลัก

ภาพที่ 1 ที่ว่าการอำเภอปะคำ

คำว่า “ปะคำ” เป็นชื่อของหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งเป็นบ้านป่ามีเรื่องเล่าสืบทอดกันมาว่า เดิมชาวไทยตระกูลหนึ่งอพยพมาจากเมืองโคราช (จังหวัดนครราชสีมา) มาตั้งถิ่นฐานอยู่ ผู้นำของตระกูลคือหลวงอุดมพนาเวช ได้มาตั้งบ้านเมือง พร้อมเจ้าเมืองนางรองสมัยโบราณ ตระกูลนี้มีอาชีพในการจับช้างป่า เพราะบริเวณนี้มีช้างป่า ชุกชุม ต่อมามีผู้คนเพิ่มมากขึ้นจนเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ หมู่บ้านหนึ่งชาวบ้านพูดภาษาไทยโคราชตามต้นตระกูล ต่อมาชาวบ้านพบอุโบสถเก่าแก่มีพระพุทธรูป 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปหิน อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำ มีหน้าตักกว้าง 1 ศอก 1 คืบ ชาวบ้านจึงสร้างวัดขึ้นบริเวณนั้น เรียกว่า “วัดปะพระทองคำ”และคำว่าปะพระทองคำ จึงกลายเป็นชื่อหมู่บ้านไปด้วย ต่อมาข่าวเรื่องชาวบ้านปะพระทองคำพบพระพุทธรูปทองคำ ได้เลื่องลือไปถึงกรุงเทพมหานครในต้นสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์จึงมีรับสั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้านครสวรรค์ เสด็จมาอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำไปประดิษฐานไว้ที่กรุงเทพฯ เมื่อกระทำพิธีอัญเชิญเสร็จแล้วก็นำบรรทุกเกวียนไป มีเรื่องเล่าลือกันว่าตลอดระยะทางพระพุทธรูปได้แสดงอภินิหารให้ปรากฏคือ ทำให้เกวียนหักหลายครั้งหลายครา บ้านปะพระทองคำนี้ผู้คนเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ และอาจเนื่องมาจากคนไทยชอบพูดสั้น ๆ กะทัดรัด คำว่า “ปะพระทองคำ”จึงเหลือเป็น “ปะคำ”ตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนวัดปะพระทองคำนั้นต่อมาก็เรียกว่า “วัดโพธิ์ย้อย”เนื่องมาจากภายในบริเวณวัดมีโพธิ์ย้อยอยู่จำนวน 3 ต้น ต่อมาบ้านปะคำ ยกฐานะเป็นตำบล ขึ้นต่ออำเภอนางรอง เมื่อบ้านเมืองขยายตัวมากขึ้นจึงได้แยกการปกครองออกจากอำเภอนางรอง ตั้งกิ่งอำเภอละหานทราย ตำบลปะคำ ก็แยกมาขึ้นกับกิ่งอำเภอละหานทราย เมื่อกิ่งอำเภอ ละหานทรายได้ยกฐานะเป็นอำเภอ ทางราชการพิจารณาเห็นว่าตำบลปะคำเป็นตำบลที่เก่าและสภาพพื้นที่เหมาะสมแก่การยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ จึงได้ประกาศยกฐานะตำบลปะคำเป็นกิ่งอำเภอปะคำ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2521 เนื่องจากกิ่งอำเภอปะคำ มีท้องที่กว้างขวาง มีชุมชนและชุมชนการค้าหนาแน่นมีสภาพเจริญขึ้นกว่าเดิมมาก ทางราชการจึงได้ประกาศยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอปะคำ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2528 ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่ การปกครอง และความสะดวกของประชาชน และส่งเสริมท้องที่ให้เจริญยิ่งขึ้น