พิธีเลี้ยงมานข้าว

พิธีเลี้ยงมาน พิธีทำขวัญข้าวหรือพิธีทำขวัญแม่โพสพ เป็นการแสดงความกตัญญูต่อข้าว ซึ่งเป็นพืชที่เลี้ยงชีวิตคนไทย คนไทยมีความเชื่อว่าทั้งคนและสัตว์จะมีสิ่งหนึ่งเรียกว่า “ขวัญ” สิงอยู่ถ้าขวัญไม่อยู่ประจำสิ่งมีชีวิตต้องตาย ข้าวเป็นสิ่งมีชีวิตจึงมีขวัญ จึงต้องบำรุงขวัญข้าวไว้ให้อยู่ประจำอย่าให้หนีไปเพราะจะทำให้ข้าวไม่งอกงามหรือตายได้ อีกทั้งมีความเชื่อว่าข้าวเป็นของศักดิ์สิทธิ์ มีแม่โพสพสถิตอยู่ และเชื่อว่าหากแม่โพสพได้รับเครื่องสังเวยแล้วผลผลิตจะอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นจึงจัดพิธีกรรมเพื่อเอาใจแม่โพสพตั้งแต่เริ่มปลูกจนได้ข้าวใส่ในยุ้งฉาง การทำขวัญข้าวแต่โบราณนิยมทำ 4 ครั้ง คือ ตอนลงมือไถและหว่านข้าวลงนาครั้งแรก ตอนข้าวเริ่มตั้งท้อง ตอนเก็บเกี่ยวหรือขนข้าวขึ้นลาน และตอนขนข้าวเข้ายุ้งฉางแล้ว ในปัจจุบันนิยมทำขวัญข้าว 2 ช่วง คือ ช่วงที่ข้าวตั้งท้อง และเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว

ช่วงแรกเมื่อข้าวตั้งท้อง ชาวนาจะนำตาเหลวไปปักไว้ที่หัวนา และขอบูชาพระแม่โพสพโดยจะจัดเตรียมเครื่องเซ่นประกอบด้วยของรสเปรี้ยว(เนื่องจากเชื่อว่า แม่โพสพก็เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกัน เมื่อตั้งท้อง จึงต้องการทานอาหารเหมือนกับคนท้อง) อ้อย น้ำมะพร้าว นอกเหนือจากหมาก พลู ธงกระดาษสี ผ้าแดง ผ้าขาว ใส่ลงในชะลอมเล็กๆ แล้วผูกเครื่องเซ่นเข้ากับต้นข้าวด้วยด้ายสีแดงและขาว จากนั้นพรมน้ำหอม แป้งร่ำที่ต้นข้าว แล้วจุดธูปปักลงบนที่นา พร้อมกับการกล่าวคำขอขมา ขอพรต่างๆ เช่น ให้ผลผลิตสูง เป็นต้น เมื่อถึงช่วงข้าวพร้อมเก็บเกี่ยวก็จะทำขวัญข้าวด้วยการนำ หมาก พลูจีบ 1 คำ บุหรี่มวน 1 มวน เพื่อไปเชิญพระแม่โพสพ โดยผู้หญิงจะเกี่ยวข้าว 1 กำ นำไปบูชาเป็นข้าวแม่โพสพในยุ้งฉาง พร้อมด้วยผ้าแดง ผ้าขาว ขนาด 1 คืบ อย่างละ 1 ผืนใส่ไว้ในกระบุง และเมื่อนำข้าวขึ้นยุ้งแล้วชาวนาจะไม่เปิดยุ้งเอาข้าวออกมาบ่อยครั้ง ในบางแห่ง เช่นจังหวัดราชบุรี เมื่อจะเปิดยุ้งจะต้องจุดธูปเทียนบูชาบอกกล่าวแม่โพสพก่อน